Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สองข้างทาง
•
ติดตาม
22 ก.ค. เวลา 02:09 • หนังสือ
จังหวัด
ประเทศไทยแบ่งการบริหารราชการออกเป็น ๓ ส่วน คือ (๑) ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง (๒) ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค และ (๓) ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยในส่วนภูมิภาคจะแบ่งเขตพื้นที่การปกครองและบริหารราชการออกเป็น“จังหวัด” และ “อำเภอ”
“จังหวัด” ในกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกำหนดให้เป็น “ราชการส่วนภูมิภาค” โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งจังหวัดไว้ว่า “ให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอตั้งขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ” ปัจจุบันมี ๗๖ จังหวัด
สำหรับกรุงเทพมหานคร ในอดีตก็เคยเป็นพื้นที่จังหวัด ๒ จังหวัด คือ จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ต่อมาในปี ๒๕๑๔ ได้มีการรวม จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นหนึ่งจังหวัด เรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยยังคงมีสถานะเป็นจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พร้อมกันด้วย
ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ จึงได้ การเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของกรุงเทพมหานครเป็น “ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง”เพียงสถานะเดียว กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีสถานะเป็นจังหวัด ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป และในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๒๘ ก็ได้บัญญัติ “ให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
ในบรรดาจังหวัดทั้งหลายนั้น ในปัจจุบันถือได้ว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดทั้งในด้านเนื้อที่ จำนวนประชากร และจำนวนอำเภอ ๓๒ อำเภอ ในขณะที่จังหวัดภูเก็ต สมุทรสาคร สมุทรสงคราม มีเพียง ๓ อำเภอเท่านั้น
พื้นที่เขตการปกครองที่เรียกว่า “จังหวัด” นั้น ในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เคยใช้คำว่า “เมือง” บ้าง “จังหวัด” บ้างแตกต่างกัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อแก้ไขให้เป็นระเบียบเดียวกัน จึงได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้ใช้คำว่า จังหวัด แทนคำว่า เมือง ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๙ เป็นต้นมา
จังหวัดได้มีการลด เพิ่มหลายครั้ง อาทิ เช่นใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้มีการยุบเลิกจังหวัดสุโขทัย หล่มสัก ธัญญบุรี กาฬสินธุ์ หลังสวน ตะกั่วป่า สายบุรี พระประแดง มีนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้มีการจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร และนครนายก ใหม่อีกครั้งหลังจากยุบเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ และปี พ.ศ. ๒๔๙๐ จัดตั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น
หากนับตั้งแต่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ หลังจากได้การรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัด นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และตั้งแต่นั้นมาได้มีจัดตั้งจังหวัดเพิ่มใหม่อีก ๖ จังหวัด ได้แก่
พ.ศ. ๒๕๑๕ จัดตั้ง จังหวัดยโสธร แยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๐ จัดตั้ง จังหวัดพะเยา แยกออกจากจังหวัดเชียงราย
พ.ศ. ๒๕๒๕ จัดตั้ง จังหวัดมุกดาหาร แยกออกจากจังหวัดนครพนม
พ.ศ. ๒๕๓๖ จัดตั้ง จังหวัดหนองบัวลำภู แยกออกจากจังหวัดอุดรราชธานี จังหวัดสระแก้ว แยกออกจากจังหวัดปราจีนบุรี และ จังหวัดอำนาจเจริญ แยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานี
และล่าสุด ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มีการจัดตั้ง จังหวัดบึงกาฬ แยกออกจากจังหวัดหนองคาย
ในการบริหารราชการในพื้นที่จังหวัด กฎหมายกำหนดให้มี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ และจะมี “รองผู้ว่าราชการจังหวัด” จังหวัดละ ๒ - ๔ คน แล้วแต่ขนาดและปริมาณงานของจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในราชการรองจากผู้ว่าราชการจังหวัด
จริงๆ แล้วในกฎหมายยังกำหนดให้มีตำแหน่ง “ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด” ได้อีกตำแหน่ง แต่ก็ไม่เคยได้มีการกำหนดตำแหน่งนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด
หลายคนอาจไม่ชัดเจนว่า ผู้ว่าฯ มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกำหนดสถานะและอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ ไว้ว่า ผู้ว่าฯ จะเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจาก นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และมีอำนาจหน้าที่ โดยสรุปดังนี้
๑.หน้าที่ในการบริหารราชการ ประกอบด้วย
-บริหารราชการตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และตามแผนพัฒนาจังหวัด
-บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมายหรือตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
-บริหารราชการตามคำแนะนำและคำชี้แจงของผู้ตรวจราชการกระทรวงในเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรีหรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี
๒.หน้าที่ในการกำกับดูแล ประกอบด้วย
- กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของข้าราชการที่มิใช่ราชการส่วนภูมิภาคที่ประจำอยู่ในจังหวัดนั้น ให้ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือ ยับยั้งการกระทำใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรีไว้ชั่วคราว แล้วรายงานกระทรวง ทบวง กรม ที่ เกี่ยวข้อง
- กำกับดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย
- กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
๓.หน้าที่ในการประสานงานและร่วมมือ
- ประสานงานและร่วมมือกับข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและข้าราชการครู ผู้ตรวจราชการ และ หัวหน้าส่วนราชการในระดับเขตหรือภาค ในการพัฒนาจังหวัดหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
๔.หน้าที่ในการเสนองบประมาณ
- เสนองบประมาณต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือเสนอขอจัดตั้งงบประมาณของจังหวัดต่อสำนักงบประมาณ
๕.หน้าที่ในการบริหารงานบุคคล
- บรรจุ แต่งตั้ง ให้บำเหน็จ และลงโทษข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดตามกฎหมาย และตามที่ ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง หรืออธิบดีมอบหมาย
สำหรับส่วนราชการพลเรือนที่จะอยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของผู้ว่าฯ โดยตรงตามกฎหมาย คือ ส่วนราชการประจำจังหวัดที่เป็น “ราชการส่วนภูมิภาค” ปัจจุบันมี ๓๔ ส่วนราชการ (ไม่ได้นับรวมสำนักงานสัสดีจังหวัด) บางกระทรวงก็มีส่วนราชการเดียวเป็นตัวแทนกระทรวง เช่น กระทรวงสาธารณสุข มีเพียง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กระทรวงพาณิชย์ มีเพียง สำนักงานพาณิชย์จังหวัด
แต่บางกระทรวงจะมีหลายหน่วยงานมาจากแต่ละกรม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด และ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนจากกรมต่างๆ ในกระทรวงเกษตรฯ
หรือ กระทรวงมหาดไทย จะมี สำนักงานจังหวัด ที่ทำการปกครองจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนจากกรมต่างๆ ในกระทรวงมหาดไทย
Bt
ติดตามอ่านเพิ่มเติม
https://www.blockdit.com/bntham
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ความรู้รอบตัว
เรื่องเล่า
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย