22 ก.ค. เวลา 01:02 • ข่าวรอบโลก

ความสำคัญของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้

โดย
นิติการุณย์
มิ่งรุจิราลัย
เนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม จัดโครงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้ประชาชนคนในเขตบึงกุ่ม 200 คน ฟังที่วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณาบริหารธุรกิจ ในวันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024 เวลา 08.00-15.00 น.
1
โดยเชิญผู้บรรยาย 2 ท่านคือ อาจารย์นครธรรม ประเสริฐศิลป์ และ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ใครอยู่ในเขตบึงกุ่มเชิญลงทะเบียนได้ครับ
จีนเป็นประเทศที่มุ่งมั่น เมื่อประกาศ BRI หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเมื่อ ค.ศ.2013 แล้วก็ทำจริง จนกระทั่งขณะนี้มีความสะดวกในการขนส่งสินค้าไทย-จีนในหลากหลายรูปแบบ
ที่น่าสนใจก็คือขนส่งสินค้าไทยไปที่ลาว แล้วใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่วิ่งจากเวียงจันทน์ไปที่บ่อเต็น และไปสิ้นสุดที่นครคุนหมิง จ.หนองคายของไทยห่างจากเวียงจันทน์เพียง 24 กิโลเมตร
2
จากนั้นสามารถกระจายสินค้าไปยังเมืองต่างๆของจีน เช่น เฉิงตู อู่ฮั่น ซีอาน และสามารถส่งสินค้าไปถึงยุโรปโดยทางรถไฟได้อีกด้วย
จีนพัฒนา New International Land and Sea Trade Corridor (ILSTC) หรือโครงการระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ โครงการนี้ถูกบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 เชื่อมต่อกับโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) รวมถึงเส้นทางเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีที่สามารถเชื่อมต่อกับไทยและอาเซียนทางเรือโดยผ่านท่าเรือชินโจว
1
โครงการ ILSTC เน้นให้บริการขนส่งสินค้าในรูปแบบทางเรือ + ทางราง ผู้อ่านท่านครับ อ่าวเป่ยปู้เป็นอ่าวในเขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วง รอบอ่าวเป่ยปู้จะมีท่าเรือสำคัญ 3 แห่งคือท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝ่างเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่
เมื่อสินค้าถึงกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้แล้วก็จะใช้ขนส่งทางรางกระจายสินค้าไปยังเมืองสำคัญทั่วแผ่นดินจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในจีนตะวันตกอย่างฉงชิ่งและเฉิงตู แถมยังสามารถเชื่อมโยงโครงข่าย China-Europe Railway ส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วย
ท่าเรือที่น่าสนใจที่สุดคือท่าเรือชินโจว ท่าเรือนี้เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมระบบการขนส่งทางเรือและรถไฟ สามารถย้ายตู้จากเรือขึ้นรถไฟเพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่ตอนในของจีน
1
หรือในทางกลับกัน สามารถขนส่งตู้สินค้าจากพื้นที่ตอนในของจีนโดยทางรถไฟมาขึ้นเรือที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง
ท่าเรือชินโจวนี้ใกล้ประเทศไทยมากครับ ขนส่งสินค้ามาท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือกรุงเทพฯ ใช้ระยะเวลาแค่ 5-6 วันเท่านั้น
สมัยก่อนตอนที่จีนยังไม่มีโครงการ ILSTC การขนส่งผลไม้ไปยังประเทศจีนเสี่ยงมาก ต้องขนไปที่ท่าเรือของจีน แล้วค่อยจัดส่งผลไม้ไปยังนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งซึ่งเป็นพื้นที่ตอนในของจีน จะใช้เวลาประมาณ 10 วัน ทำให้ผลไม้เน่าเสีย
บางคนก็เลี่ยงไปใช้ขนส่งผลไม้ทางบก แม้ว่าระยะเวลาจะสั้นกว่าก็จริง แต่ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น แต่การขนส่งสินค้าจากไทยไปท่าเรือชินโจวใช้เวลาเพียง 5-6 วัน และจากสถานีรถไฟของท่าเรือชินโจวไปยังนครฉงชิ่งใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น
การขนส่งที่รวดเร็วและได้รับการพัฒนาทำให้เมืองบางเมืองเจริญขึ้นหรือแย่ลง สมัยก่อนตอนโน้น ขนส่งสินค้าจากจีนไปยุโรปต้องผ่านเอเชียกลางตามเส้นทางสายไหมใช้เวลาหลายเดือน
ต่อมามีการตัดคลองสุเอซในประเทศอียิปต์เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง ความยาว 193.3 กิโลเมตร ทำให้มีการขนส่งสินค้าจากจีนไปทวีปยุโรปทางเรือ
ผลกระทบที่ตามมาก็คือ เมืองต่างๆในเอเชียกลางที่อยู่ริมเส้นทางสายไหมกลายเป็นเมืองร้าง ไม่มีผู้คนใช้นานกว่า 100 ปี
สินค้าเกษตรเวียดนามที่ส่งไปขายในจีนได้เปรียบสินค้าไทยในเรื่องการขนส่งเพราะเวียดนามมีพื้นที่ติดกับประเทศจีน เราจะเห็นผลกระทบจากทุเรียนซึ่งตอนนี้ทุเรียนเวียดนามเริ่มชนะทุเรียนไทย
1
ที่กำลังเป็นปัญหาตอนนี้คือมะพร้าวน้ำหอมที่จีนนำเข้าปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เดิมไทยส่งออกมะพร้าวน้ำหอมมากกว่าร้อยละ 60 ที่ขายในจีน แต่ตอนนี้เวียดนามเริ่มประสบความสำเร็จในการส่งมะพร้าวน้ำหอมด้วยราคาที่ถูกกว่าเพราะการขนส่งที่ใกล้กว่า
1
เรื่องเส้นทางคมนาคมขนส่งนี่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันอย่างจริงจังครับ ไม่ใช่ผลิตได้แต่ขายไม่ได้เพราะต้นทุนสูงกว่า โดยเฉพาะค่าขนส่ง.
โฆษณา