22 ก.ค. เวลา 04:27 • ความคิดเห็น

คนเราไม่เหมือนกัน

วันก่อนฟังรายการหนึ่งเนื้อหาน่าสนใจดีครับเลยเอามาเล่าให้ฟัง ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นที่มีความไม่เหมือนใคร
5
รายการเริ่มต้นกับการตั้งคำถามว่า ถ้าใครเคยสังเกตเว็บ Yahoo! ของสหรัฐอเมริกานั้นดูแสนเรียบง่าย แต่ทำไมเว็บของญี่ปุ่นนั้นดูมีเนื้อหามากมาย จนดูรกตา หรือเมนูของฝรั่งที่มักจะมีแต่ตัวหนังสือ ไม่ค่อยมีรูป ในขณะที่เมนูญี่ปุ่น มักจะมีรูปของอาหาร และมีรายละเอียดของเมนูยาวยืด
สาเหตุเป็นเพราะลักษณะของคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ไม่ชอบเสี่ยง จะตัดสินใจอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ด้วยความรอบคอบ ไม่ตัดสินใจอะไรง่ายๆ จึงต้องการข้อมูลที่เยอะที่สุด พร้อมใช้ในการตัดสินใจ
ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวพันกับความคิดแบบลัทธิรวมหมู่ (collectivist social mindset) ที่ตัดสินใจอะไรจากการดูส่วนรวมเป็นหลัก เกรงใจผู้อื่น จึงต้องการตัดสินใจแบบระมัดระวัง ไม่ผิดพลาด เวลาสั่งอาหารก็จะดูเอง ไม่มานั่งถามพนักงานเสิร์ฟมาก หรือเวลาขึ้นรถไฟใต้ดิน ก็จะปิดเสียงโทรศัพท์ ไม่คุยโทรศัพท์ระหว่างเดินทาง เพราะเกรงใจผู้อื่น
1
แต่เรื่องที่ดูเป็นเหมือนความขัดแย้งในตัวเอง ก็คือ คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่ยึดติดกับสภาพแวดล้อมมาก (high context culture) คือเป็นวัฒนธรรมที่มักจะมีการละไว้ในฐานที่เข้าใจ ไม่พูดตรง ไม่พูดทั้งหมดออกไป มีการใช้อวัจนภาษาในการสื่อสารมากกว่าการใช้คำพูดหรือตัวอักษรที่แปลกันตรงๆ
2
ตัวอย่างของเรื่องนี้ที่ดีก็คือ ถ้าในกรณีที่มีลูกของเพื่อนบ้านเล่นเปียโนเสียงดังจนดึกดื่น ถ้าเป็นชาวตะวันตกที่มีวัฒนธรรมแบบไม่ค่อยยึดติดกับสิ่งแวดล้อม ชอบพูดตรงๆ ก็อาจจะเดินไปเคาะประตูบ้าน และบอกเพื่อนบ้านว่าให้ลูกเลิกเล่นดนตรี และเงียบๆ หน่อย ในขณะที่คนที่ญี่ปุ้นญี่ปุ่นก็รอจนวันรุ่งขึ้นที่เพื่อนบ้านเดินออกมา และสวัสดีเพื่อนบ้านก่อนจะเอ่ยปากชมว่าลูกเพื่อนบ้านเล่นดนตรีเก่งจัง ซึ่งเพื่อนบ้านก็จะเข้าใจเอง และขอโทษขอโพยที่ลูกตัวเองเล่นดนตรีเสียงดังไปหน่อย
10
ส่วนเวลาเข้าประชุม ก็จะดูงงๆ ประชุมกันก็จะไม่ค่อยมีการถกเถียงกัน ต่างคนต่างพูดเรื่องที่ตัวเองอยากพูด จบประชุมก็ไม่มีการสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น จะตัดสินใจอะไรยังไง ไปขายของให้กับคนญี่ปุ่น ก็จะแอบงงๆ ว่าสรุปขายได้หรือขายไม่ได้ก็ไม่รู้ โดยเฉพาะเวลาที่ขายไม่ได้ ก็จะแทบไม่เคยได้ยินคำว่า “ไม่” ออกจากปาก ต้องเดากันเอาเอง
8
เวลาเขียนจดหมายหรืออีเมล์หากัน ก็มักจะอ้อมออกทะเลไปเล่าว่า สภาพอากาศวันนี้เป็นยังไง ฝนตก แดดออกมั้ย แทนที่จะเข้าเรื่องทันที
1
และอีกเรื่องก็คือมีการวิจัย และพบว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนได้ดีกว่าชาวตะวันตกโดยเฉลี่ย ทำให้เว็บที่อาจจะดูรกๆ ไม่ได้เป็นปัญหากับคนญี่ปุ่นในการเข้าใจ แต่ถ้าชาวตะวันตกส่วนใหญ่มาดูก็จะรู้สึกว่ามันช่างเป็นอะไรที่ดู information overload มากๆ
3
เรื่องสุดท้ายที่จะเล่าให้ฟัง คือ ผมได้เคยมีโอกาสคุยกับหัวหน้าทีม data ของ Agoda และเขาเล่าให้ฟังว่า เว็บของญี่ปุ่นต้องพิเศษไม่เหมือนชาวบ้าน เวลาออกแบบ ต้องพยายามไม่ให้ผู้ใช้จำเป็นต้อง sign in จนกระทั่งหน้าท้ายๆ เพราะคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ชอบความเป็นส่วนตัวมากๆ ไม่อยากจะ sign in จนกระทั่งจำเป็นจริงๆ ถ้าเห็นปุ่มให้ login ก็จะมีแนวโน้มในการหยุดค้นหาข้อมูลการจองโรงแรมมากกว่า
4
นี่ไปๆ มาๆ เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่บริษัทต่างชาติมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดออนไลน์ในญี่ปุ่นนั่นเอง
3
โฆษณา