22 ก.ค. 2024 เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“Marshall” เครื่องเสียงการันตีคุณภาพจาก “ตัวพ่อแห่งพลังเสียง”

เปิดประวัติ “Marshall” แบรนด์แอมป์ เครื่องเสียง ลำโพง และหูฟัง ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพเสียง ให้กำเนิดโดย “จิม มาร์แชล” เจ้าของฉายา “บิดาแห่งเสียงดัง”
สำหรับคนที่เล่นดนตรีแล้ว การมีตู้แอมป์ (เครื่องขยายเสียง) ที่สามารถสื่อได้ทุกโน้ตและเมโลดี้ ถือเป็นหัวใจที่จะขาดไปไม่ได้ ขณะที่คนฟังดนตรีเอง ก็ต้องการลำโพงหรือหูฟังที่ทำให้เข้าถึงทุกอารมณ์ของบทเพลง และแบรนด์ที่หลายคนเชื่อถือในคุณภาพเสียงต้องมีชื่อ “Marshall” (มาร์แชล) อยู่ในใจอย่างแน่นอน
Marshall เป็นแบรนด์จากแดนผู้ดีอังกฤษ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตตู้แอมป์ที่นักดนตรีทุกคนต้องเคยใช้อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต หรือบางคนใช้แต่ Marshall ตลอดชีวิตก็มี
จิม มาร์แชล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Marshall
จุดกำเนิดของแบรนด์นี้มาจากชายที่ชื่อ “จิม มาร์แชล” มือกลองและครูสอนดนตรีที่ภายหลังได้รับการยกย่องอย่างยิ่งใหญ่ว่าเป็น “บิดาแห่งเสียงดัง” (The Father of Loud)
ก่อนจะเป็นบิดาแห่งเสียงดัง
จิมเกิดที่เมืองแอกตัน ลอนดอนตะวันตก ในปี 1923 แต่เมื่อตอนเป็นเด็กเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคกระดูก และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายปี
เมื่อโตขึ้น เขามีอาชีพหลักเป็นวิศวกรไฟฟ้า โดยเคยทำงานในโรงงานเศษโลหะ โรงงานบิสกิต ร้านขายรองเท้า และโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ส่วนการร้องเพลงเป็นอาชีพเสริม
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหารเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ขณะที่นักดนตรีจำนวนมากถูกเกณฑ์ทหารไปรบ ทำให้เขาต้องรับหน้าที่เป็นมือกลองควบด้วย
และด้วยความเป็นวิศวกรไฟฟ้า เขาจึงออกแบบและสร้างระบบขยายเสียงแบบพกพาของตัวเองขึ้นมา เพื่อขยายเสียงร้องของเขาที่เบาและมักถูกเสียงกลองดังกลบ
หลังสงครามสิ้นสุดลง จิมเอาดีทางด้านกลองมากขึ้น เขาตัดสินใจไปเรียนตีกลองอย่างจริงจังจนกลายเป็นครูสอนดนตรีในเวลาถัดมา เขาเคยเล่าว่า “ผมเคยสอนนักเรียนประมาณ 65 คนต่อสัปดาห์ และยังเล่นดนตรีไปด้วย ผมมีรายได้ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ประมาณ 5,000 ปอนด์ต่อปี (ซึ่งเท่ากับเงินหลักแสนปอนด์ในปัจจุบัน) และนั่นคือเงินที่ผมนำมาทำธุรกิจ”
กระทั่งประมาณปี 1960 จิมและลูกชายชื่อ เทอร์รี ซึ่งเป็นนักแซกโซโฟน ได้เปิดร้านขายเครื่องดนตรี “Jim Marshall and Son” ขึ้นที่กรุงลอนดอน โดยเน้นขายกลองและกีตาร์ และต่อมานำเข้าตู้แอมป์จากต่างประเทศโดยเฉพาะเฟนเดอร์ (Fender) จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น
ร้านของเขามีลูกค้าเป็นนักดนตรีชื่อดังหลายคน เช่น ริตชี แบล็กมอร์, บิ๊ก จิม ซัลลิแวน และพีต ทาวน์เชนด์ รวมถึงร้านของเขากลายเป็นสถานที่สุดฮิปสำหรับนักดนตรีรุ่นเยาว์ที่หลงใหลในแนวเพลงร็อกที่กำลังมาแรงในยุคนั้น
เครื่องเสียงของ Marshall ได้รับความนิยมโดยนักดนตรีทั่วโลก
จากแอมป์ตัวแรก สู่แอมป์ที่นักดนตรีทั่วโลกใช้
ราวปี 1962 การนำเข้าแอมป์ของเฟนเดอร์ล่าช้า และมีราคาแพง ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ในการพัฒนาวงการเพลงร็อกในอังกฤษ เกิดการแข่งขันจากบริษัทภายในประเทศหลายเจ้าที่พากันผลิตแอมป์ออกมาหวังครองตลาด
ประกอบกับช่วงนั้นจิมเริ่มได้ยินนักกีตาร์หลายคนที่มาร้านบ่นว่า เสียงกีตาร์ผ่านตู้แอมป์ไม่ตรงกับเสียงที่พวกเขาต้องการ จิมจึงตัดสินใจพัฒนาแอมป์ของตัวเองอย่างจริงจังตัวแรก ร่วมกับเทอร์รี และทีมงานบางส่วน แม้พวกเขาจะไม่มีใครเล่นกีตาร์เป็นเลยสักคนก็ตาม
พวกเขาร่วมกันปรับแต่งวงจรและส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อสร้างสิ่งที่โลกไม่เคยได้ยินมาก่อน จนเกิดเป็นแอมป์ Marshall ตัวแรกที่มีชื่อว่า “Number One” ซึ่งได้รับคำสั่งซื้อ 23 ออเดอร์ในวันแรกที่จำหน่ายในฤดูใบไม้ร่วงปี 1962
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อแอมป์ดังกล่าวเป็น “JTM45” และเป็นที่ชื่นชอบของนักดนตรีมากจนเกิดการแพร่กระจายปากต่อปาก และทำให้ร้านประสบความสำเร็จอย่างมาก ความต้องการแซงหน้ากำลังการผลิต ทำให้ Marshall เปิดโรงงานแห่งแรกในปี 1964 และตั้งเป็นบริษัท Marshall Amplification
พีต ทาวน์เชนด์ เป็นคนแรกที่นิยามคำว่า “Marshall Sound” ขึ้นมา เพื่อใช้อธิบายถึงคุณภาพเสียงที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ของ Marshall รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มการนำแอมป์มาวางตั้งซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เหมือนกำแพง เรียกว่า “Marshall Stack” จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของพลัง ความสง่างาม และความเกินขอบเขตของเพลงร็อก
Marshall เริ่มเป็นที่รู้จักระดับโลก หลังจากที่ จีมี เฮนดริกซ์ นักดนตรีชื่อดังชาวอเมริกันมาเล่นดนตรีที่งานแสดงหนึ่งในปี 1966 โดยเขานำแอมป์ของตัวเองมาด้วย แต่ผู้จัดงานซึ่งใช้แอมป์ของ Marshall อยู่ไม่ยอให้เขาใช้แอมป์ของตัวเอง
จีมี เฮนดริกซ์ จึงจำใจเล่นกีตาร์ด้วยแอมป์ของ Marshall แต่ก็ต้องยอมสยบให้กับคุณภาพเสียงที่ได้รับ ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้เขาถึงขั้นต้องขอเข้าพบกับผู้สร้างแอมป์นี้เลยทีเดียว
การที่แบรนด์ Marshall เป็นที่รู้จักมาขึ้นทำให้บริษัทต้องอัปเกรดโรงงานผลิตอีกครั้ง โดยย้ายไปที่เบลตชลีย์ ซึ่งยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในปัจจุบันด้วย
ความสำเร็จของ Marshall ทำให้ในปี 1984 และ 1992 พวกเขาได้รับรางวัล “Queen's Award for Export” จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เพื่อยกย่องความสำเร็จในการส่งออกที่โดดเด่นของ Marshall Amplification
การตั้งเครื่องเสียงซ้อนกันอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งถูกเรียกว่า Marshall Stack
ปรับตัวตามยุคสมัย ก้าวสู่ตลาดหูฟัง
เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น Marshall เดินหน้าขยายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ในปี 1981 Marshall สามารถลดราคาแอมป์เพื่อให้นักดนตรีไม่ว่าจะมาจากที่ไหนสามารถ เข้าถึงได้ ทำให้วงดนตรีสมัครเล่นสามารถสร้างเสียงที่เทียบได้กับคอนเสิร์ตของนักดนตรีชื่อดัง
เมื่อยอดขายพุ่งสูงขึ้นและแบรนด์ใหญ่ขึ้น ในไม่ช้า บริษัทขยับขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีการเปิดตัวแอมป์หลายรุ่นมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “JCM800” ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อย่อของจิมและป้ายทะเบียนรถยนต์ของเขา
JCM800 เป็นแอมป์ Marshall ตัวแรกที่มีวอลลุ่มหลักในตัว และยังนำเสนอสุนทรียศาสตร์ใหม่ที่มีสไตล์ผ่านแผงสีทองและตะแกรง โดยนอกจากวงร็อกแล้ว วงดนตรีแนวพังก์และเฮฟวีเมทัลต่างหันกันมาใช้แอมป์รุ่นนี้ เพราะชื่นชมเสียงที่ดุดันและให้เสียงสูงได้แบบถึงใจ
Marshall ยังผลิตแอมป์ออกมาอีกหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ผู้คนไม่ได้ฟังแต่ดนตรีสดอีกแล้ว เพราะมีทั้ง MP3 และแพลตฟอร์มฟังเพลงใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับตัวตาม
ในปี 2010 Marshall ได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ นำเทคโนโลยีคุณภาพเสียงที่นักดนตรีทั่วโลกยอมรับมาย่อส่วนให้เหมาะกับการฟังเวลาอยู่บ้านหรือระหว่างเดินทาง ด้วยการเปิดตัวหูฟังตัวแรกของบริษัท “Marshall Major”
Marshall Major ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานในแต่ละวันและเรนเดอร์เสียงเพลงในแบบที่ควรจะเป็น และได้รับความนิยมตั้งแต่เปิดตัว และขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์หูฟังได้แบบทวีคูณในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ด้วยความสำเร็จของ Marshall Major ทำให้บริษัทมีความมั่นใจในการเดินหน้าในตลาดไลฟ์สไตล์ต่อ โดย 2 ปีต่อมา บริษัทเปิดตัว “Hanwell” ลำโพงแบบโฮมสปีกเกอร์ตัวแรก ตามด้วยลำโพงพกพารุ่น “Kilburn” และ “Stockwell” ในอีก 3 ปีต่อมา
จากนั้นในปี 2018 หูฟังตัดเสียงรบกวนตัวแรกของ Marshall ออกสู่ตลาด และในปี 2020 ได้เปิดตัวลำโพงแบบพกพา “Emberton” ซึ่งใช้ระบบเสียง True Stereophonic หลายทิศทาง
ในปี 2021 Marshall ได้เปิดตัว “Meet Mode II” หูฟังบลูทูธอินเอียร์ไร้สายตัวแรกตามด้วย “Motif ANC” หูฟังตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟที่สามารถเล่นแบบไร้สายได้นาน 20 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นหูฟังและลำโพงของ Marshall ถูกผลิตโดย Zound Industries บริษัทสัญชาติสวีเดน
ลำโพง Marshall
จุดเปลี่ยนสำคัญ
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา บริษัท Marshall เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 5 เม.ย. 2012 เมื่อจิมจากไปอย่างสงบด้วยวัย 88 ปี
ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเดือน มี.ค. 2023 ที่ผ่านมานี้เอง เมื่อ Zound ที่ผลิตหูฟังและลำโพงให้ Marshall มานานนับสิบปีตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ รวมทั้งสองบริษัทเป็นหนึ่งเดียว และเปลี่ยนชื่อเป็น “Marshall Group” (มาร์แชลกรุ๊ป) ท่ามกลางสถานการณ์ของบริษัทที่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่น้อยลง จนถูกมองว่ากำลังกินบุญเก่าอยู่
เจเรมี เดอ เมลลาร์ด ซีอีโอของ Zound กล่าวว่า ทั้งสองบริษัทจะอยู่ภายใต้บริษัทแม่แห่งใหม่ นั่นคือ Marshall Group โดยครอบครัวมาร์แชลจะถือหุ้น 24% ในบริษัทใหม่
“เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยทำผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากวิศวกรด้านเสียงที่ Marshall … มันเป็นสิ่งที่เราทำอย่างต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ และตอนนี้เราจะเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว” เดอ มิลลาร์ดกล่าว ณ เวลานั้น
เทอร์รี มาร์แชล ลูกชายของจิม ยังได้ออกแถลงการณ์ว่า “ตั้งแต่พ่อและผมสร้างแอมป์ Marshall รุ่นแรกขึ้นมาในปี 1962 เรามองหาวิธีส่งมอบเสียงแบบ Marshall ให้กับผู้รักเสียงเพลงจากทุกภูมิหลังและรสนิยมทางดนตรีทั่วโลกมาโดยตลอด ผมมั่นใจว่า Marshall Group จะยกระดับภารกิจนี้และกระตุ้นความรักต่อแบรนด์ Marshall ยิ่งขึ้นไปอีก”
หลังการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน แบรนด์ Marshall ยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้ตลอดทั้งปี 2023 โดยยอดขายสุทธิรวมทั้งปีโตขึ้น 29% อยู่ที่ 4,007 โครนาสวีเดน (ราว 1.36 หมื่นล้านบาท) และกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 757 โครนาสวีเดน (ราว 2.5 พันล้านบาท) โตขึ้นถึง 77%
ทั้งนี้ 1 ใน 4 ของยอดขายของ Marshall Group มาจากหูฟัง ในขณะที่ 70% มาจากลำโพง และอีก 5% มาจากแอมป์
เดอ มิลลาร์ด กล่าวว่า “ถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์สำหรับทุกคนที่ Marshall เราส่งมอบการเติบโตที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันในขณะที่ประสบความสำเร็จในการรวมกิจการกับ Marshall Group เรากำลังปลดล็อกศักยภาพของแบรนด์ Marshall ขณะเดียวกันก็รักษามรดกดั้งเดิมและการลงทุนในอนาคต”
เขาเสริมว่า “เราได้ลงทุนมหาศาลในโรงงานผลิตแอมป์ระดับพรีเมียมและในสตูดิโอบันทึกเสียงของเราใน มิลตัน เคนส์ ประเทศอังกฤษ ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เป็นสถานที่ระดับโลกเพื่อตอบสนองความต้องการของนักกีตาร์และนักดนตรี”
ซีอีโอ Marshall Group บอกอีกว่า “เราจะเข้าสู่หมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพื่อมอบประสบการณ์ Marshall ที่ไม่เหมือนใครให้กับลูกค้าของเรา และเร็ว ๆ นี้เราจะเปิดตัวประสบการณ์ดิจิทัลใหม่ทั้งหมด”
ในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา Marshall ยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในทุกประเภทที่สำคัญ ประกอบด้วย แอมป์ Studio JTM เพื่อเป็นเกียรติแก่วันเกิดครบรอบ 100 ปีของ จิม มาร์แชล, Motif II A.N.C หูฟังไร้สายตัดเสียงรบกวนที่ได้รับการตอบรับอย่างดีรุ่นล่าสุด และ Middleton ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของผลิตภัณฑ์ลำโพงแบบพกพา
นี่คือหนึ่งในแบรนด์ระดับตำนานที่พลิกโฉมวงการดนตรีร็อกทั่วโลก รวมถึงเปลี่ยนประสบการณ์ฟังเพลงและคอนเทนต์ต่าง ๆ ของผู้ใช้ทั่วไป ด้วยคุณภาพเสียงที่แตะถึงทุกโน้ต ทุกเมโลดี้ ทุกอารมณ์
นับเป็นมรดกตกทอดมาจาก จิม มาร์แชล ผู้สมแล้วกับการถูกขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งเสียงดัง” ผู้สร้างเสียงที่ยังคงดังก้องอยู่ในหูของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วทั้งโลก
ประวัติ Marshall
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา