22 ก.ค. เวลา 08:45 • หนังสือ

Review หนังสือ : Creatures of a day and Other Tales of Psychotherapy

Creatures of a day and Other Tales of Psychotherapy หรือในชื่อภาษาไทยว่า พลัง ชีวิต และความฝัน เรื่องเล่าจากห้องบำบัด โดย Irvin D. Yalom แปลโดยคุณปริญดา วิรานุวัตร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอสไอเดีย
ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้จบมานานมาก แต่ในรอบแรกที่ฉันอ่าน ฉันยอมรับว่าฉันอ่านกะให้แค่จบจริง ๆ แต่ช่วงที่ผ่านมาฉันรู้สึกว่ามีเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน มากจนทำให้บางทีฉันรู้สึกหวั่น ๆ ฉันจึงหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านโดยหวังว่าอาจมีอะไรที่อาจพอประยุกต์กับสถานการณ์ที่ทุกอย่างดูเปลี่ยนแปลงไวเหลือเกินกับชีวิตช่วงนี้
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยจิตแพทย์ชื่อ Dr. Irvin D. Yalom (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าคุณหมอยาลอม) ผู้ซึ่งงานเขียนของเขาเป็นในลักษณะของจิตวิทยาเชิงอัตถิภาวะนิยม (Existential Psychology) ให้ความสำคัญกับสภาวะของมนุษย์ 4 สภาวะประกอบด้วยภาวะโดดเดี่ยว (isolation) ภาวะไร้แก่นสาร (meaninglessness) ความตาย (mortality) และเสรีภาพ (freedom) ฟังดูยากนะครับ ดังนั้น จะขอเก็บเอาคำศัพท์ยาก ๆ พวกนี้มาลองเล่าอีกทีถ้าได้อ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ ของเขา เพราะแค่คำว่าอัตถิภาวะนิยมเฉย ๆ ไม่ต้องมีจิตวิทยามาประกอบฉันก็งงแต๊ก
หนังสือเล่มนี้ เป็นเหมือนการรวมเรื่องเล่าของประสบการณ์ของเคสที่คุณหมอยาลอมเจอกับคนไข้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งฉันเพียงอยากจะบอกเล่าเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ผ่านสายของคนที่รู้น้อยเหลือเกินเกี่ยวกับจิตวิทยา แต่ก็อยากรู้มากเหลือเกินว่ามันจะช่วยฉันได้ไหม ซึ่งจริง ๆ ฉันก็คิดว่าเรื่องนี้ก็เป็นความย้อนแย้งในใจของตัวฉันเองพอประมาณเหมือนกัน
ในหนังสือเล่มนี้ เคสทั้ง 10 เคส ได้ถูกนำมาหยิบขึ้นมา ประมวล และเรียบเรียงให้เป็นเรื่องเล่า บางเคสของคุณหมอยาลอม ชวนให้ผู้อ่านต้องตีความระหว่างบรรทัดที่คุณหมอเขียน โดยราวกับว่าเราได้อยู่ในห้องนั้นกับคุณหมอ โดยผมจะขอเล่าเฉพาะบางบทที่ผมรู้สึกว่าค่อนข้างจับใจ (ฉัน) หน่อย บทอื่น ๆ ก็ลองไปอ่านกันเอานะคับ
ในบทแรก The Crooked Cure (การรักษาที่บิดไปมา/นอกลู่นอกทาง?) ซึ่งคุณหมอยาลอมได้เจอกับคนไข้ที่ชื่อว่า “พอล” ที่อายุประมาณ 80 ปี ที่เข้ามาปรึกษากับคุณหมอยาลอมเพราะอาการเขียนไม่ออก และหวังว่าคุณหมอที่เขียนหนังสือหลายเล่มอาจพอช่วยแก้ไขอาการนี้ได้
แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าคุณหมอได้อ่านจดหมายโต้ตอบระหว่าง “พอล” และคนที่เคยเป็นอาจารย์ของเขา “โคลด มิวเลอร์” และเป็นประจักษ์พยานระหว่างการโต้ตอบของคนที่เคยเป็นอาจารย์และลูกศิษย์ที่ในท้ายที่สุดกลายเป็นเพื่อนกัน จนกระทั่งจดหมายตอบโต้ได้หยุดลง และคุณหมอกลับกลายเป็นผู้ตั้งคำถาม ซึ่งสำหรับฉันคุณหมอในสถานการณ์นี้ไม่ได้เป็นผู้ให้คำปรึกษาแต่เป็นสิ่งที่คุณหมอใช้เรียกตัวเองนั่นแหละว่า “ประจักษ์พยาน” ของความสัมพันธ์ที่สำคัญของชีวิตคนหนึ่งคน
หรือบท “เอลลี่ ผู้บุกเบิกการตาย” ซึ่งเอลลี่ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ถามคุณหมอยาลอมว่า “ยินดีพบดิฉันไปจนดิฉันตายได้ไหม” โดยคุณหมอรับข้อเสนอโดยแลกเปลี่ยนกับการเขียนบันทึกสรุปการบำบัด เพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าธรรมเนียม เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ ซึ่งในบันทึกที่เอลลี่เขียนมีประเด็นที่ฉันคิดว่าน่าสนใจหลายเรื่อง และเห็นการเปลี่ยนภายในจิตใจของเธอและเป็นบทเรียนที่ดีของเราสำหรับการเตรียมพร้อมกับความตาย
จดหมายฉบับแรก ๆ ที่เธอหัวเสียกับการต้องอธิบายการเจ็บป่วยของเธอให้คนอื่น ๆ ฟัง
ฉันเกลียดการที่ต้องอธิบายสถานการณ์ของฉันให้คนอื่นที่ไม่รู้เรื่องการตายฟัง
เอลลี่ หน้า 235
จนสุดท้ายความหัวเสียเปลี่ยนไปสู่การยอมรับและมองร่างกายของตัวเองและเธอก็มองเห็นตัวเองในแบบที่เป็นตัวเองที่จริงใจเห็นเด็กน้อยคนนั้นในตัวเธอมองเห็นร่างกายตัวเองที่พยายามเพียงเพื่อทำหน้าที่ของมัน คือ การมีชีวิต จนสู่บทสรุปของเธอ ซึ่งฉันขอใช้เป็นส่วนจบของ Review หนังสือเล่มนี้ว่า
ชีวิตนั้นไม่จีรัง มันเป็นเช่นนี้เสมอ สำหรับทุก ๆ คน เราอุ้มความตายของเราไว้ภายในร่างกายตลอดเวลา แต่เพื่อจำสัมผัสมัน เพื่อจะสัมผัสความตายที่เฉพาะด้วยชื่อที่เฉพาะเจาะจง นั่นเป็นสิ่งที่แตกต่างมากมาย
เอลลี่ หน้า 245 -246
ซึ่งนั่นทำให้ฉันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกันว่า แล้วความตายที่เฉพาะเจาะจงของฉันเล่าเป็นเช่นใดกัน
ปล. ฉันก็หวังว่าหลาย ๆ คนที่ผ่าน Review หนังสือนี้จะลองซื้อหนังสือเล่มนี้เพื่ออ่านตอนอื่น ๆ กันต่อนะครับ เนื้อหามันมีรายละเอียดเกินกว่าที่ฉันจะสามารถ Review ทุกตอนลงได้หมดจริง ๆ
โฆษณา