22 ก.ค. เวลา 12:30 • ครอบครัว & เด็ก

พินัยกรรมแบ่ง "ทรัพย์สิน" แต่ไม่ได้แบ่ง "หนี้สิน" ไว้

ทายาทจัดการอย่างไร เมื่อไม่รู้ว่า "มรดกหนี้" นี้ใครครอง
เมื่อพูดถึงมรดกแล้วเชื่อว่าหลายคนคงนึกฝันว่าเป็นมรดกก้อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน รถยนต์ หุ้นสามัญ จะได้มีเงินใช้จ่าย ใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย แต่รู้หรือไม่ว่ามรดกนั้นไม่ได้มีแค่สินทรัพย์ (บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ฯลฯ) เท่านั้น มรดกอาจรวมถึง หนี้สินก็เป็นได้ แล้วมรดกหนี้นี้ ทายาทจะต้องรับผิดชอบต่อหรือจบที่เจ้ามรดก
ในระหว่างที่ยังมีชีวิต ย่อมมีโอกาสก่อหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต คำถามที่พบบ่อย คือถ้าตายแล้วยังมีหนี้สินอยู่จะต้องทำอย่างไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 บัญญัติไว้ว่า…
“ #กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ เว้นแต่ตามกฎมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
หากผู้ตายมีหนี้สินจะถือเป็นทรัพย์มรดกด้วย แม้ว่าทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดจะตกทอดไปยังทายาทตามผลของกฎหมาย แต่ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับ ตามปพพ.ม.1601 บัญญัติว่า…
“ #ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ”
➡️ [ ตัวอย่างที่ 1 ]
เมื่อมีชีวิตได้กู้เงินจากธนาคารซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท ผ่อนจ่ายมาระยะหนึ่ง ต่อมาเสียชีวิตก่อนหมดสัญญาเงินกู้ ยอดหนี้บ้านคงเหลือ 3.5 ล้านบาท ณ วันที่จากไปในกรณีนี้ถือว่ายังมีหนี้สินผูกพัน หนี้นั้นตกทอดแก่ทายาท ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกได้ฟ้องร้องเรียกให้ทายาทชำระหนี้สินที่เหลืออยู่ แบ่งได้เป็น 3 กรณี
🏠กรณีที่ 1 บ้านมีมูลค่า #เท่ากับ ยอดหนี้บ้าน ก่อนแบ่งมรดก
🔸หนี้บ้าน 3,500,000 บาท
🔸มูลค่าบ้าน(กองมรดก) 3,500,000 บาท
✅กรณีนี้ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้บ้าน
🏠กรณีที่ 2 บ้านมีมูลค่า #มากกว่า ยอดหนี้บ้าน ก่อนแบ่งมรดก
🔸หนี้บ้าน 3,500,000 บาท
🔸มูลค่าบ้าน(กองมรดก) 4,500,000 บาท
✅กรณีนี้ทายาทต้องชำระหนี้ธนาคารก่อน 3,500,000 และที่เหลือ 1,000,000 บาทนำมาแบ่งกันตามส่วน
🏠กรณีที่ 3 บ้านมีมูลค่า #น้อยกว่า ยอดหนี้บ้าน ก่อนแบ่งมรดก
🔸หนี้บ้าน 3,500,000 บาท
🔸มูลค่าบ้าน(กองมรดก) 2,500,000 บาท
✅ทายาทใช้หนี้เพียง 2,500,000 ที่เหลืออีก 1,000,000 บาททายาทไม่ต้องรับผิด
➡️[ ตัวอย่างที่ 2 ]
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 193/2510 ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินกู้ตามฟ้องให้โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นภริยาผู้รับมรดก ป. โดยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาต้องรับผิดด้วย แต่ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยนั้นยังไม่ได้แบ่งมรดกกันระหว่างทายาท โดยโฉนดยังมีชื่อของ ป.เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และผู้ร้องเพิ่งโอนรับมรดก
ในขณะที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ถึงแม้ที่ดินพิพาทโอนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ป. เจ้ามรดกก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นทรัพย์ในกองมรดกของ ป. ซึ่งยังไม่ได้แบ่งนั่นเองตามมาตรา 1736,1738 วรรคแรก โจทก์จึงชอบที่จะยึดที่นาพิพาทบังคับคดีได้โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องทายาทผู้รับมรดกคนอื่นตามมาตรา 1737
➡️[ ตัวอย่างที่ 3 ]
คำพิพากษาศาลฎีกา 792/2506(ประชุมใหญ่) ในกรณีที่ได้แบ่งมรดกกันแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องให้ทายาทคนใดชำระหนี้ของเจ้ามรดก เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นรับไป ทั้งนี้เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ภายในอายุความของมรดก นั่นคือไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทราบว่าเจ้ามรดกเสียชีวิต หากเกินกว่านั้นทายาทสามารถยกเรื่องอายุความมาต่อสู้ได้
🔸ลำดับหนี้ที่จะชำระก่อนและหลัง มาตรา 1739 บัญญัติว่า “ให้ชำระหนี้ที่กองมรดกค้างชำระตามลำดับต่อไปนี้
1) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก
2) ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามรดก
3) ค่าภาษีอากรซึ่งกองมรดกค้างชำระอยู่
4) ค่าจ้างซึ่งเจ้ามรดกค้างชำระแก่เสมียน คนใช้และคนงาน
5) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามรดก
6) หนี้สินสามัญของเจ้ามรดก
7) บำเหน็จของผู้จัดการมรดก
🔸เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับชำระหนี้จากทายาทใดก่อนหลัง ตามปพพ.ม.1740 บัญญัติว่า “เว้นแต่เจ้ามรดกหรือกฎหมายจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ตามลำดับต่อไปนี้
1) ทรัพย์สินนอกจากอสังหาริมทรัพย์
2) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งจัดสรรไว้ชัดแจ้งในพินัยกรรมว่าสำหรับชำระหนี้ ถ้าหากว่ามีทรัพย์สินเช่นนั้น
3) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งทายาทโดยธรรมชอบที่จะได้รับในฐานะเช่นนั้น
4) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้นั่นจะต้องชำระหนี้ของเจ้ามรดก
5) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะทั่วไป ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1651
6) ทรัพย์สินเฉพาะอย่างซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะเฉพาะดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1651
ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้จัดสรรไว้ตามที่กล่าวมานั้นให้เอาออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้ โดยชำระราคาทรัพย์สินนั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้จนพอแก่จำนวนที่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้”
ทั้งนี้เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จะมีทั้งทายาทโดยธรรมและทายาทผู้รับพินัยกรรมที่มีสิทธิรับมรดกและเจ้ามรดกมีเจ้าหนี้อยู่ด้วย การนำทรัพย์มรดกชำระหนี้แก่เจ้าหนี้มรดกนั้นจะต้องจัดสรรตามลำดับตามมาตรา 1740 เพื่อป้องกันการโต้เถียงว่าทายาทประเภทใดจะต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกก่อน
กล่าวโดยสรุป หากเสียชีวิตก่อนและยังมีหนี้สินอยู่ ให้ดูว่ามีการแบ่งมรดกหรือยังไม่แบ่งมรดก
✅ #กรณีก่อนแบ่งมรดก
ทรัพย์มรดกยังมิได้แบ่งปันระหว่างทายาทเจ้าหนี้กองมรดกอาจบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3613/2525 หากกองมรดกมีจำนวนเท่ากับยอดหนี้ หรือ กองมรดกมีจำนวนน้อยกว่ายอดหนี้ ทายาทก็ไม่ต้องรับชำระหนี้ แต่หากกองมรดกมีจำนวนมากกว่ายอดหนี้ หลังจากชำระหนี้เต็มตามจำนวนแก่เจ้าหนี้กองมรดกแล้ว ส่วนเหลือทายาทจึงจะแบ่งได้ตามส่วน
✅ #กรณีอยู่ระหว่างแบ่งมรดก
ตามตัวอย่างที่ 2 เป็นลักษณะที่เจ้าหนี้มรดกสามารถที่จะยึดทรัพย์มรดกบังคับคดีได้โดยไม่ต้องฟ้องทายาทผู้รับมรดกคนอื่นตามมาตรา 1737
✅ #กรณีที่แบ่งมรดกแล้ว
เจ้าหนี้มรดกมีสิทธิเรียกชำระหนี้ได้ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไป เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ภายในอายุความของมรดก คือไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทราบว่าเจ้ามรดกเสียชีวิต
จะเห็นได้ว่า หากทรัพย์มรดกที่มี น้อยกว่าจำนวนหนี้ ทายาทก็ไม่ต้องขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ แต่ถ้ามีการวางแผนการจัดการหนี้ที่ดี ก่อหนี้เท่าที่จำเป็น และก่อหนี้ที่เกิดรายได้ รวมทั้งวางแผนทำประกันชีวิตให้ครอบคลุมกับมูลหนี้ เมื่อเราต้องจากไปทรัพย์มรดกจะได้ส่งต่อให้กับทายาทที่เรารัก
เขียนโดย: กชพร คะสุวรรณ, ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
#aomMONEY #สมาคมนักวางแผนการเงินไทย #มรดก #หนี้สิน #พนัยกรรม #มรดกหนี้
โฆษณา