23 ก.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินร้อน เงินเย็น คืออะไร? ต่างกันยังไง

หลายคนคงเคยได้ยินคำศัพท์ทางการเงินทั้ง 2 คำนี้มาบ้างแล้ว และอีกประโยคที่หลายคนมักพูดกันบ่อยๆ ว่า ถ้าจะลงทุนควรเอาเงินเย็นมาลงทุน
คงมีบางคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ 2 คำนี้แบบจริงๆ สักเท่าไหร่ วันนี้เราเลยจะพามาทำความรู้จักกับคำว่า "เงินร้อน" และ "เงินเย็น" ก่อนที่จะลงทุนกัน
เงินร้อน คือ เงินที่เราได้มาแล้วต้องใช้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ต้องนำมาจ่ายในชีวิตประจำวัน ชำระหนี้สินต่างๆ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น รวมถึงต้องนำไปจ่ายค่าประกันชีวิตทุกๆ ปี เราจึงเรียกว่าเงินร้อน เพราะเงินก้อนนี้อยู่กับเราไม่นานเดี๋ยวก็ออกไป
เงินเย็น คือ เงินที่เราวางไว้เฉยๆ ไม่ต้องนำออกมาใช้จ่ายสิ่งต่างๆ หรือหากเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้ เป็นเงินที่สามารถเสียไปโดยที่ไม่เดือดร้อน หายไปก็ไม่เสียดาย โดยเงินก้อนนี้จะเป็นเงินที่เหลือใช้จากชีวิตประจำวัน และยังไม่ได้วางแผนว่าจะนำเงินไปใช้
แหล่งเก็บเงินที่เหมาะสม
- เงินร้อน : แนะนำเก็บเงินไว้ในแหล่งที่สภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่หาย เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากดิจิทัล
- เงินเย็น : สามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ตามความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ และแนะนำให้กระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหลายสินทรัพย์ ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียว
สำหรับการลงทุนนั้นเราควรใช้เงินเย็นไปลงทุน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนก็มีโอกาสขาดทุนหรือเงินต้นหายได้เช่นกัน ดังนั้น การใช้เงินเย็นที่ยังไม่มีแพลนนำไปใช้อะไร และเป็นเงินที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันย่อมดีกว่าใช้เงินร้อนไปลงทุน เราจะได้ลงทุนอย่างสบายใจ
หากเอาเงินร้อนไปลงทุนและเกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงิน เราจะต้องนำเงินลงทุนก้อนนั้นมาใช้จ่าย แม้ว่าพอร์ตลงทุนจะขาดทุนอยู่ก็ต้องถอนออกมาใช้จ่ายฉุกเฉิน ซึ่งจะทำให้เราสูญเสียเงินต้นไปบางส่วน หรืออาจมีเงินเหลือไม่พอใช้จ่ายก็ได้
นอกจากนี้ มีเงินออมบางอย่างที่เป็นเงินร้อน เช่น เงินสำรองฉุกเฉิน, ค่าเบี้ยประกันต่างๆ เป็นต้น เพราะเป็นเงินออมเพื่อไว้ใช้จ่ายในอนาคตอันใกล้ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เรารู้อยู่แล้ว
จะเห็นได้ว่า เงินร้อน และ เงินเย็น มีความหมายที่แตกต่างกันชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นคำคู่ตรงข้ามเลย เราจึงต้องจัดสรรเงินเก็บให้ถูกที่และแบ่งให้ชัดเจน จะได้ไม่ประสบปัญหาทางการเงินในอนาคต
โฆษณา