23 ก.ค. เวลา 07:40 • ธุรกิจ

กลยุทธ์ 'Cross-Selling' จากเทรนด์ DIY อาหารเซเว่น เมื่อ UGC กลายเป็นโอกาสทางการตลาด

“แจกสูตร DIY ข้าวคลุกในเซเว่นที่ทำได้ง่ายๆ”
“แจกสูตรข้าวผักโขมกิมจิ”
“ข้าวยำเกาหลีงบหนึ่งแบงค์แดงมีทอนจากของเซเว่น”
คุณอาจจะเคยเห็นประโยคคำโปรยข้างบนนี้บ้างผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เก็บความสงสัยของคุณไว้แล้วมาหาคำตอบไปกับบทความของเรา
ปัจจุบันในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มในประเทศไทย มีเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เราจะเรียกมันว่า ‘DIY’ หรือ ‘Mix & Match’ โดยเป็นเทรนด์การซื้ออาหารหลายๆ อย่างในร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น-อีเลฟเว่น’ แล้วนำมาผสมผสานกันเพื่อสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ หรือ เมนูในแบบของตัวเอง ที่เต็มไปด้วยความอร่อยและความสร้างสรรค์
หนึ่งในเมนูที่โด่งดังจนกลายเป็นไวรัลก็คือ ‘รามยอน + ข้าวปั้น + กิมจิ + ไส้กรอก’ ที่นำทั้งหมดมาผสมกันแล้วได้เมนูใหม่ที่สร้างสรรค์ที่ผู้ใช้งานคนอื่นเห็นแล้วต้องน้ำลายไหล ซึ่งไม่รู้ว่าอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียเป็นอะไรต้องฟีดคอนเทนต์เหล่านี้มาในตอนกลางคืนทุกที ใครที่อดใจไหวก็ดีไป แต่ใครที่อดใจไม่ไหวเป็นอันต้องเดินไปร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านทันที
นอกจากเมนูนี้แล้วก็ยังมีอีกมากมายที่กลายมาเป็นไวรัลจากเทรนด์นี้ เช่น ข้าวยำเกาหลี (ข้าวญี่ปุ่น + ไส้กรอก/แฮม + สาหร่าย + กิมจิ) น้ำมะพร้าวไอศกรีมชาเขียว (น้ำมะพร้าวขวด + น้ำแข็งแก้ว + ไอศกรีมชาเขียว) หรือ ข้าวผักโขมอบชีส (ผักโขมอบชีส + สาหร่ายกรอบ + ข้าวญี่ปุ่น) เป็นต้น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เราจะเรียกมันว่า ‘User Generated Content’
[‘UGC’ หรือ ‘User Generated Content’]
คำนี้ถูกใช้เรียกคอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ ข้อความ บทความ หรือ เสียงก็ตาม โดยสิ่งนี้สำคัญกับนักการตลาดและแบรนด์มาก เนื่องจากมันเป็นคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างแท้จริง เป็นธรรมชาติ มาจากผู้ใช้งานจริง (Organic) นำมาซึ่งความน่าเชื่อถือต่อแบรนด์และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มเป้าหมายและแบรนด์ได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น ‘User Generated Content’ สำคัญมากต่อความน่าเชื่อถือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า การลดต้นทุนในการทำการตลาด และการเผยแพร่ที่กว้างขวางโดยเป็นธรรมชาติของแบรนด์
นอกจากนี้เองมันยังเป็นสารตั้งต้นสำหรับการสร้างกลยุทธ์เพื่อที่จะต่อยอดจากความเป็นธรรมชาติและความจริงแท้จากผู้ใช้งานจริง โดยกลยุทธ์ที่เราจะคุยกันในวันนี้คือ Cross-Selling จากเทรนด์ Mix & Match อาหารจากเซเว่น-อีเลฟเว่น
[ กลยุทธ์ Cross-Selling กับเทรนด์ Mix & Match อาหารในเซเว่นที่กลายเป็นไวรัล ]
การที่ผู้บริโภคเริ่มทำอาหารจากสินค้าหลายๆ อย่างที่ซื้อจากเซเว่น ทำให้เกิดการแชร์ไอเดียและวิธีการทำอาหารบนโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้คนอื่นๆ ได้รับแรงบันดาลใจและอยากลองทำตาม จนกลายมาเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจ และเป็น User Generated Content
เกิดเป็นการขายสินค้าที่หลากหลายชนิดมากยิ่งขึ้นในเซเว่น หรือเราจะเรียกกันว่า ‘Cross-Selling’
กลยุทธ์ Cross-Selling เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ โดยการแนะนำสินค้าหรือบริการเสริมให้กับลูกค้าที่กำลังซื้อสินค้าหลักอยู่แล้ว หลักการของ Cross-Selling คือการเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ทำให้ลูกค้าเห็นถึงความคุ้มค่า หรือ สร้างความสะดวกสบายมากขึ้นในการซื้อสินค้าจากแบรนด์เดียวกัน
เช่น ในธุรกิจโรงแรม การเสนอแพ็คเกจสปาหรืออาหารค่ำแบบพิเศษให้กับลูกค้าที่จองห้องพักอยู่แล้ว นอกจากจะเป็นการเพิ่มยอดขายแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าพวกเขาได้รับการดูแลและบริการที่ใส่ใจ
ดังนั้น กลยุทธ์ Cross-Selling ไม่เพียงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ แต่ยังสร้างประสบการณ์ที่ดีและความพึงพอใจให้กับลูกค้า นำไปสู่ความจงรักภักดีและการกลับมาซื้อซ้ำในอนาคต
แต่ในส่วนของเซเว่นเราสามารถเห็นกลยุทธ์ Cross-Selling ได้จาก User Generated Content และ โปรโมชันซื้อคู่-จับคู่
User Generated Content: ส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าเพิ่มเติมอย่าง Organic ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนในการทำการตลาดใดๆ เพราะเป็นเทรนด์ที่ลูกค้าต่างสนใจ และอยากที่จะทดลองทำเพื่อถ่ายเป็นคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย
โปรโมชันซื้อคู่-จับคู่: เซเว่นใช้โอกาสจากเทรนด์ที่เกิดขึ้นในการจับคู่สินค้าที่กำลังเป็นกระแส สร้างกลยุทธ์ Cross-Selling ด้วยตัวแบรนด์เอง สิ่งที่ต้องจ่ายอาจจะเป็นต้นทุนการลดราคาสินค้าที่เสียไปกับโปรโมชันจับคู่
การใช้กลยุทธ์ Cross-Selling ของเซเว่นไม่เพียงแค่เพิ่มยอดขาย แต่ยังช่วยสร้างความสะดวกสบายและความพึงพอใจให้กับลูกค้า เนื่องจากไม่ต้องใช้เวลามากในการเลือกซื้อส่วนผสมแต่ละอย่างเอง และส่วนมากวัตถุดิบในเซเว่นสามารถอุ่นร้อนเพื่อพร้อมกินได้เลย การที่ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ง่ายและสะดวกนี้ ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะกลับมาซื้อซ้ำและแนะนำให้คนอื่นๆ มาลองทำตาม
กรณีของเซเว่นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างของกลยุทธ์ Cross-Selling ที่เกิดขึ้นได้จากทั้ง UGC และโปรโมชันของแบรนด์เอง ในธุรกิจอื่นๆ เองก็สามารถประยุกต์ใช้กลยุทธ์ Cross-Sale ได้เช่นกัน
การประยุกต์ใช้ Cross-Selling ในธุรกิจอื่นๆ
ธุรกิจอาหาร: ร้านอาหารสามารถแนะนำเมนูใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานเมนูยอดนิยม เช่น การเสนอเซ็ตเมนูที่รวมอาหารหลักและอาหารเสริมที่เข้ากันได้ในราคาพิเศษ อย่าง ร้านอาหารญี่ปุ่นอาจแนะนำเซ็ตข้าวหน้าปลาแซลมอนกับสลัดสาหร่ายและซุปมิโสะ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ต้องการลองเมนูใหม่ๆ อีกทั้งยังสามารถประกอบกับโปรโมชันพิเศษ เช่น ซื้ออาหารจากหลักแล้วได้รับส่วนลด หรือ อาหารจากเสริมฟรี เป็นต้น
ธุรกิจค้าปลีก/ขายของชำ: การแนะนำสินค้าเสริมที่เข้ากันได้กับสินค้าที่ลูกค้ากำลังซื้อ เช่น ขายเครื่องดื่มเสริมไปกับขนมมันฝรั่งขบเคี้ยวเพื่อทานคู่กัน โดยอาจจะมอบส่วนลดให้นิดหน่อยเพื่อจูงใจก็ได้
ธุรกิจบริการ: การแนะนำบริการเสริมที่เข้ากันได้กับบริการหลัก เช่น การขายบริการเสริมความงามเมื่อจองสปาเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ใช้บริการอย่างครบวงจร
[ ผลกระทบและประโยชน์ของกลยุทธ์ Cross-Selling ]
1. เพิ่มปริมาณการซื้อสินค้า ลูกค้ามีโอกาสซื้อสินค้าหลายชนิดมากยิ่งขึ้น
2. ลูกค้าเห็นว่าสินค้ามีราคาที่คุ้มค่า ในบางรายการที่มีโปรโมชันถึงแม้จะลดราคาเพียงแค่ 5 บาทหรือน้อยกว่านั้น ก็ยังถูกมองว่าเป็นส่วนลดที่สร้างความประทับใจและความประหยัดให้
3. กระตุ้นการขายสินค้า ในสินค้าบางรายการที่ไม่ได้รับความนิยม ให้เกิดความนิยมมากยิ่งขึ้นและสามารถขายไปพร้อมกับสินค้าอื่นๆ ได้ อย่างในเซเว่นเองก็จะมีการจัด Tier สินค้าว่าสินค้าไหนอยู่ในระดับขายดีและระดับรองลงมา
4. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าให้เห็นว่าแบรนด์ใส่ใจ ส่งเสริมให้เกิดความภักดีและกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ
ท้ายที่สุดนี้อยากจะถามผู้อ่านทุกคนว่าเคยสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ในแบบของตัวเองบ้างไหม ส่วนตัวผู้เขียนอยากจะนำเสนอเมนู ‘ข้าวคลุกแมงกะพรุนน้ำมันงากับยำสาหร่าย’ บอกเลยว่าอร่อยสุดๆ ผู้อ่านสามารถลองไปทำตามกันได้ หรือถ้ามีเมนูในแบบของตัวเองก็อย่าลืมที่จะมาแนะนำให้พวกเรา Future Trends ได้รู้จักกันด้วยล่ะ
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsBusiness #CrossSale
โฆษณา