24 ก.ค. เวลา 02:08 • กีฬา

ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง เปลี่ยนเสื้อแข่งโอลิมปิก เมย์ รัชนก

3 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์สำคัญของวงการกีฬาไทยในโอลิมปิก เมื่อแบรนด์แกรนด์สปอร์ต อนุญาตให้ เมย์ รัชนก อินทนนท์ ใส่เสื้อแข่งขันของโยเน็กซ์ซึ่งเป็นคู่แข่งได้ เรื่องราวเป็นอย่างไร เราจะย้อนอดีตไปในวันนั้นอีกครั้ง
นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา แกรนด์สปอร์ตเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เสื้อแข่งขันของนักกีฬาไทยทั้งหมดในทัวร์นาเมนต์นานาชาติ
1
อธิบายคือ ต่อให้นักกีฬาแต่ละคน จะมีแบรนด์เสื้อยี่ห้อไหนเป็นสปอนเซอร์ส่วนตัวก็ตาม แต่เมื่อถึงซีเกมส์, เอเชียนเกมส์ และ โอลิมปิก ทุกคนก็ต้องใส่แกรนด์สปอร์ต เพราะเขาซื้อลิขสิทธิ์มาครองอย่างถูกต้องแล้ว
แต่ในโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว (แต่แข่งในปี 2021) แกรนด์สปอร์ต โดนตำหนิอย่างหนัก เพราะทำผิดพลาดเรื่องชุดแข่งขันของนักกีฬาแบดมินตัน ที่ออกแบบมา "รุ่มร่ามเกินไป" จนส่งผลต่อ Performance ของนักกีฬา
1
โดยเฉพาะกับ เมย์ รัชนก นักแบดตัวความหวังของไทย ระหว่างแข่ง เธอต้องคอยถกแขนเสื้อเป็นประจำ แค่เราดูทางทีวีก็รู้ได้เลยว่า เสื้อแข่งที่ไม่กระชับ ทำให้เธอกวนใจ
ตามปกติ เมย์ รัชนก ใช้ชุดแข่งขันของแบรนด์โยเน็กซ์ ซึ่งเป็นแขนกุดที่มีความกระชับ แต่ของแกรนด์สปอร์ตนั้นมีแขน และไม่ได้ฟิตติ้งให้พอดีตัว จึงมีความรุ่มร่ามอย่างมาก ไม่มีความคล่องตัวจนน่าอึดอัดแทน
ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2021 เวลา 11.40 น. ที่ญี่ปุ่น เมย์ รัชนก ลงแข่งรอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้ายปะทะกับโซเนีย เซียะ มือ 18 จากมาเลเซีย นัดนี้เมย์ต้องชนะอย่างเดียว ถ้าแพ้ตกรอบ
ปรากฏว่าตลอดการแข่ง เธอเล่นได้อย่างน่าอึดอัด รัชนกแพ้ไปก่อนในเกมแรก 21-19 สถานการณ์วิกฤติถึงขีดสุด แต่โชคยังดี ที่เธอใช้ความเก๋าคัมแบ็กกลับมาชนะ อีก 2 เกมที่เหลือ 21-18 และ 21-10 เข้ารอบมาแบบหืดจับมาก
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นอีกครั้ง ก็คือชุดแข่งมีผลต่อฟอร์มการเล่นของเธอจริงๆ มันดูเทอะทะมาก เดินไปถกเสื้อไปทั้งเกม
ประเด็นนี้ แฟนกีฬาชาวไทยจึงแสดงความไม่พอใจ แบรนด์แกรนด์สปอร์ตเป็นอย่างมาก ว่าทำไมตัดเย็บชุดอย่างนี้ ไม่ทำให้มีความกระชับ น้องเมย์จะได้เล่นได้คล่องตัวหน่อย
ธารา พฤกษ์ชะอุ่ม ซีอีโอของแกรนด์สปอร์ต ก็มองเห็นว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง เขาอธิบายว่า "เราตั้งใจทำชุดแข่งขันให้ดี ไม่อยากให้มีข้อผิดพลาดใดๆกับนักกีฬา จริงๆเราก็ไว้ใจทีมงานของเรา แต่บทมันจะผิดพลาด มันก็เหมือนมีกองหลัง 4 คนยืนอยู่ แล้วได้แต่ป้องกันด้วยสายตา จนบอลไหลเข้าประตู"
ฝั่งแกรนด์สปอร์ต ได้ติดต่อไปที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอบถามน้องเมย์เรื่องชุดแข่งว่าโอเคไหม โดยได้รับคำตอบจากตัวนักกีฬาว่า "โอเค ไม่มีปัญหา"
เมย์ รัชนกบอกในภายหลังว่า "เอาจริงๆ เสื้อแข่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับตัวหนูเท่าไหร่ เพราะใส่อะไรก็ได้ ที่ผ่านมาหนูก็ใส่ของแกรนด์สปอร์ตลงแข่งขันมาตั้งแต่รอบแรกอยู่แล้ว หน้าที่สำคัญที่สุดของหนู คือลงไปทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในสนามก็แค่นั้น"
น้องเมย์บอกว่าโอเค แต่เราไม่รู้ว่าจริงๆ เธอคิดแบบนั้นไหม แน่นอนว่าเธอคงบอกไม่ได้หรอกว่า "โอ๊ย ชุดแข่งรุ่มร่าม หนูไม่ชอบเลยค่ะพี่" เธอเข้าใจสถานการณ์ดี ว่าเสื้อแข่งต้องเป็นของแบรนด์อะไร และแกรนด์สปอร์ตกับสมาคมแบดมินตัน ก็ต้องร่วมงานกันอีกนาน ไม่มีประโยชน์ที่จะมาก่อดราม่าเอาตรงนี้
น้องเมย์แข่งจบในรอบแบ่งกลุ่ม ได้พักแป้บเดียวก็ต้องรีบเข้านอน เพราะต้องตื่นเช้ามาแข่งต่อทันที ในวันรุ่งขึ้น เวลา 9 โมงเช้าที่ญี่ปุ่น
ในระหว่างที่น้องเมย์หลับไปแล้ว ก็มีสายโทรศัพท์สำคัญที่สุดเกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้
1
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ที่อยู่ที่ญี่ปุ่น ได้โทรศัพท์มาที่ไทย เพื่อติดต่อ ธารา พฤกษ์ชะอุ่ม ซีอีโอของแกรนด์สปอร์ต ในเวลาตีสองที่ญี่ปุ่น กับประโยคที่เรียบง่ายว่า "พอจะเป็นไปได้ไหม ที่ทางแกรนด์สปอร์ต จะอนุญาตให้นักแบดมินตัน ใส่แบรนด์อื่นที่ไม่ใช่แกรนด์สปอร์ตเป็นการเฉพาะกิจในโอลิมปิกครั้งนี้"
นี่เป็นคำขอที่ต้องบอกว่า ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์กีฬาไทย ลองนึกภาพตามนะครับ สมมุติฟุตบอลทีมชาติไทย ใส่ชุดแข่งวอร์ริกซ์ลงเล่นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกอยู่ แล้วนายกสมาคมฟุตบอล โทรหาเจ้าของวอร์ริกซ์บอกว่า "เกมหน้าขอให้ทีมชาติไทยใส่ชุดยี่ห้ออื่นแข่งได้ไหม"
2
ถามหน่อยว่าใครจะไปยอม วอร์ริกซ์ก็ต้องโวยสิ ว่าผมจ่ายเงินไปแล้วนะเป็นร้อยล้าน คุณจะมาขอแบบนี้ได้ไง
ไม่ใช่แค่นั้น เรื่องนี้เอาจริงๆ มันก็เกี่ยวพันกับปัญหาหลายอย่าง ลองคิดดูว่า ถ้าแกรนด์สปอร์ตยอมนักกีฬา 1 คน เดี๋ยวในอนาคต อาจมีสมาคมอื่นมาขอเปลี่ยนเสื้อแข่งอีกก็ได้ มันจะชุลมุนวุ่นวายกันเข้าไปใหญ่
1
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าสมมติเปลี่ยนไปใส่ยี่ห้ออื่น ทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย จะยอมง่ายๆ หรือ เพราะโยเน็กซ์ ก็ไม่ได้เซ็นสัญญาจ่ายเงินให้อย่างเป็นทางการเสียหน่อย แล้วอยู่ๆ จะได้ภาพลักษณ์ในโอลิมปิกไปใช้แบบฟรีๆ มันก็ไม่น่าจะถูกต้อง
แต่แน่นอน ธารา ยอมรับว่าชุดแข่งที่ออกแบบไปมันก็รุ่มร่ามจริงๆ นั่นแหละ และทางแก้ที่เหมาะที่สุดคือ รีบส่งชุดแข่งที่แกรนด์สปอร์ตตัดเย็บใหม่ ส่งตรงไปจากไทยทันที เพื่อส่งให้ถึงน้องเมย์ในวันรุ่งขึ้น
แต่ในทางปฏิบัติมันทำไม่ได้ กว่าจะตัดเย็บ กว่าจะบินไปถึง มันก็ไม่ทันการ เพราะน้องเมย์ก็ต้องลงแข่งกับเกรกอเรีย ตันจุง จากอินโดนีเซีย เวลา 9 โมงเช้าที่ญี่ปุ่น กรอบเวลามันน้อยเกินไปในการจะผลิตเสื้อแข่งตอนนี้
ธารากล่าวว่า "เมื่อคุณหญิงปัทมา ขอมาแบบนั้น เราก็ต้องมาคิดว่า แล้วควรทำยังไง และตอนนั้น ผมคิดถึงคุณพ่อของผม ว่าท่านจะทำแบบไหน"
คุณพ่อของธารา คือ กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม ผู้ก่อตั้งแกรนด์สปอร์ต ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2020 โดยได้ส่งไม้ ให้ลูกชายบริหารงานของบริษัทต่อ
"คุณกิจก็คงจะบอกว่า เอาผลประโยชน์ของนักกีฬา ผลประโยชน์ของประเทศชาติมาก่อน ให้นักกีฬาเขาเล่นให้ชนะเถอะ เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง ผมคิดว่าพ่อของผมคงพูดแบบนี้"
ธารารู้ ว่าคราวนี้แกรนด์สปอร์ตออกแบบผิดพลาด และการแก้ไขความผิดพลาดที่ดีที่สุด ไม่ใช่หาข้ออ้างแก้ตัว แต่ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลง ส่วนปัญหาต่างๆที่จะตามมา เดี๋ยวเขาแบกรับเอาไว้เอง
นั่นทำให้ธาราจึงตัดสินใจบอกคุณหญิงปัทมาว่า "ยินยอม" ให้นักแบดมินตัน ใช้ชุดแข่งขันของแบรนด์อื่นได้เป็นการเฉพาะกิจ แต่มีเงื่อนไขคือ ห้ามมีโลโก้ เพราะเขาเองก็ไม่อยากสร้างความลำบากใจให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยเหมือนกัน
คุณหญิงปัทมาตอบตกลง จากนั้นเมื่อวางสาย เธอจึงรีบไปดีลกับโยเน็กซ์ ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของน้องเมย์ รัชนก ให้จัดหาชุดแข่งทันที และดีไซน์ให้เอาธงชาติไทย แปะที่หน้าอกแทนที่โลโก้ของโยเน็กซ์แทน
โยเน็กซ์ ซึ่งผลิตเสื้อแข่งของรัชนกเป็นประจำอยู่แล้ว และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโตเกียวพอดี สามารถจัดทำเสื้อแข่งได้อย่างรวดเร็วในกรอบเวลาแค่ไม่ถึง 7 ชั่วโมง
และในที่สุด ก่อนที่เมย์-รัชนก จะแข่งขันในวันที่ 29 กรกฎาคม 2021 เวลา 9.00 ที่ญี่ปุ่น สมาคมฯ ก็เอาเสื้อแข่งไปให้ได้ทันเวลา
โดยเมย์กล่าวว่า "นี่เป็นเสื้อแข่งที่เพิ่งได้มาเมื่อช่วงเช้าเลยค่ะ ทางผู้ใหญ่บอกว่าให้เปลี่ยนก่อนการแข่งขัน ก็เลยใส่ลงสนามแข่งทันที"
ผลสรุปคือ ด้วยชุดแขนกุดของโยเน็กซ์ ทำให้การเคลื่อนที่ของน้องเมย์ มีความคล่องตัวสูงมากและเต็มไปด้วยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ก่อนจะเอาชนะ ตันจุงจากอินโดนีเซียอย่างง่ายดายมากๆ 21-12 และ 21-19 เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายไปอย่างเพอร์เฟ็กต์ที่สุด ไปชนกับไท่ จื้อ-อิง มือ 1 ของโลก
เรื่องนี้ แม้จะเป็นแค่เรื่องเสื้อแข่งขัน แต่เราจะเห็นได้ว่ามีความหมายที่น่าประทับใจหลายอย่างซ่อนอยู่
อย่างแรก เราเห็นความเป็นมืออาชีพของเมย์ รัชนก เธอยืนยันว่าใส่ชุดอะไรก็ได้ เธอเลือกใช้คำพูดอย่างฉลาด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อใครเลย
อย่างที่ 2 เราเห็นความตั้งใจของสมาคมแบดมินตัน ที่เห็นปัญหาอยู่ชัดๆ ว่าชุดแข่งมันเป็นยังไง แต่ก็ไม่ได้ปล่อยไปตามยถากรรม แต่กล้าจะพูด กล้าเสนอความเห็น ลองหาทางว่าเป็นไปได้ไหม ที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น คิดดูว่าแข่งจบปั๊บ แล้วแข่งรอบต่อไปตอน 9 โมงเช้า มีเวลาแค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง แต่คุณหญิงปัทมา ก็ทำให้ดีลนี้เกิดขึ้นได้
1
อย่างที่ 3 เราเห็นความมีสปิริตของแกรนด์สปอร์ต ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ที่คุณจ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์ในเวทีใหญ่อย่างโอลิมปิกไปแล้ว ก็ย่อมหวังจะได้เห็น แบรนด์เสื้อของคุณไปเฉิดฉายในเวทีโลก แต่ก็เลือกผลประโยชน์ของนักกีฬาและของชาติเป็นที่ตั้งก่อน ตัดใจยอมให้ใช้เสื้อแข่งยี่ห้ออื่นแทนได้
1
อย่างที่ 4 เราเห็นว่าคำวิจารณ์ใดๆ ของประชาชน มันมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ถ้าหากไม่มีการวิจารณ์จากประชาชน ฝั่งสมาคมฯ แบดมินตันก็อาจจะไม่ขยับตัว เช่นเดียวกับแกรนด์สปอร์ต ก็อาจไม่เทกแอ็กชั่นก็ได้ แต่เมื่อสังคมเห็นว่าบางอย่าง มัน "น่าจะดีกว่านี้ได้" ก็บอกกล่าวกัน และสุดท้าย มันก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในที่สุด
2
เสียงของพวกเรา คนดูกีฬา มันมีพลังกว่าที่คิดนะครับ ผมคิดถึงในปัจจุบันครับ ในเรื่อง "เสื้อพิธีการ" ที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย อยากให้นักกีฬาใส่ในพิธีเปิดที่ปารีส แต่พอโดนสังคมรุมถล่มปั๊บ ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ในวันเดียว
1
การวิจารณ์ การเสนอแนะ ในโลกออนไลน์ แต่มันส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ในโลกความจริงครับ
1
ทั้งหมดที่ผมเล่ามา คือปฏิบัติการเปลี่ยนแบรนด์ชุดแข่งใน 1 วัน ของน้องเมย์ รัชนก ผมเคยเล่าไปแล้วเมื่อสามปีก่อน แต่ย้อนกลับมาคิดถึงอีกครั้งครับ
เรื่องนี้ก็ทำให้เราได้เห็นว่า ถ้าเราคิดจะแก้ไขอะไรจริงๆ มันหาทางทำได้หมดนั่นแหละครับ
โฆษณา