24 ก.ค. เวลา 14:00 • ยานยนต์

'มหาพายุ' กระหน่ำ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ทั้งรถไฟฟ้า หนี้เสีย แถมไฟแนนซ์ไม่ปล่อยกู้ ภาพสะท้อนเศรษฐกิจไทย ในวันที่ภาคการผลิตหดตัว
รถไฟฟ้า, หนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท, NPL รถยนต์ 2.5 แสนล้านบาท และไฟแนนซ์ไม่ปล่อยกู้ กลายเป็นมหาพายุกระหน่ำอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภาพสะท้อนเศรษฐกิจ ในวันที่ภาคการผลิตหดตัว
1
เป้าหมายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย 2567 คือ 1.9 ล้านคัน แต่ 5 เดือนแรก (มกราคม - พฤษภาคม) ผลิตได้เพียง 644,951 คัน ลดลงร้อยละ 16.19 จากปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัว
หลายฝ่ายเชื่อว่า ปัญหาเกิดจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตรถยนต์ที่ยึดเหนี่ยวอยู่กับเครื่องยนต์สันดาปภายในมายาวนาน จนทำให้ยอดการผลิตและการซื้อรถยนต์ในบ้านเราลดลงอย่างที่เห็น
แต่หากเจาะลึกลงไปแล้ว การเข้ามาของรถไฟฟ้า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
วันนี้ #aomMONEY จะพาเพื่อนๆ ไป หาสาเหตุกันว่า ทำไมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย จึงอยู่ในภาวะอ่อนแรง
1
📌 [#สถานการณ์ยานยนต์ไทย]
ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ขายได้ทั้งหมด 49,871 คัน ลดลง 23.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยรถที่ขายได้ แบ่งออกเป็น
#รถยนต์ที่นั่ง ขายไปทั้งหมด 29,679 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 13.71% โดยแบ่งเป็น
1
- รถยนต์ที่นั่งประเภทสันดาป (ICE) ขายไป 13,343 คัน ลดลง 36.94% จากปีที่แล้ว
- รถยนต์ ไฟฟ้า (BEV) ขายไป 5,117 คัน ลดลง 30.94% จากปีที่แล้ว
1
- รถยนต์นั่งไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ขายไป 222 คัน ลดลง 1.77% จากปีที่แล้ว
- รถยนต์นั่งไฟฟ้าผสม (HEV) ขายไป 10,997 คัน เพิ่มขึ้น 96.34 % จากปีที่แล้ว
#รถกระบะ ขายไปทั้งหมด 14,832 คัน ลดลงไปถึง 33.87% จากปีที่แล้ว
#รถยนต์อเนกประสงค์ (PPV) ขายไปทั้งหมด 2,819 คัน ลดลงไปถึง 42.42% จากปีที่แล้ว
2
#รถบรรทุก ขายไปทั้งหมด 1,280 คัน ลดลงไปถึง 35.90 % จากปีที่แล้ว
#รถประเภทอื่นๆ ขายไป 1,261 คัน ลดลงไป 8.09% จากปีที่แล้ว
ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ตั้งแต่เดือน มกราคม – พฤษภาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 260,365 คัน ลดลง 23.80% จากปีที่แล้ว
โดย รถยนต์สันดาป รถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุก และกระบะ มียอดขายลดลงมากกว่า 30% มีเพียงรถยนต์ประเภทไฟฟ้าผสม (HEV) เท่านั้นที่เติบโตขึ้นจากปีก่อน
1
📌 [#สาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยชะลอตัว ]
จากสถานการณ์รถยนต์ทั่วโลก ที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน เดาได้ยากว่าจะไปในทิศทางไหน มีส่วนทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเผชิญกับความยากลำบาก จากปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามากระทบ แต่สาเหตุที่น่าจะส่งผลต่อการชะลอตัวของยานยนต์ไทยมีหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง ได้แก่
✅ 1 กระแสนิยมรถไฟฟ้าจากจีน
แม้ตามข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้ามียอดขายลดลง แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเข้ามาของรถไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นอย่างมาก จากกลยุทธ์ทุ่มตลาดของมหาอำนาจรถยนต์ไฟฟ้า พ่วงกับข้อตกลง ‘เขตการค้าเสรี’ (FTA) ทำให้ต้นทุนนำเข้ารถจีนนั้นต่ำมาก อีกทั้งบริษัทรถจากจีนเอง ก็มีโอกาสเข้ามาตีตลาด 'รถกระบะ' ที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ด้วย
ถึงแม้จะมีการบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนต้องมาตั้งโรงงาน แต่กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ ‘KKP Research’ ให้ความเห็นว่า การเข้ามาตั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าของจีนนั้น อาจไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (domestic value add) มากเท่าที่ควร
เพราะการประกอบรถยนต์ BEV ส่วนใหญ่จะเป็นการนำชิ้นส่วน เข้ามาประกอบในโรงงานที่ไทยเท่านั้น อีกทั้งมีการนำบุคลากรจากจีนเข้ามาด้วย ชี้ให้เห็นว่า แผนการผลิตรถยนต์ BEV อาจไม่สามารถชดเชยจำนวนรถยนต์ ICE ที่กำลังจะหายไปได้ และต้นทุนการผลิตรถยนต์ BEV ในไทย ยังคงแพงกว่าจีน ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกลดลง
เมื่อรวมกับความนิยมรถยนต์ญี่ปุ่นที่ลดลง ก็ทำให้ยอดขายของค่ายรถที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักลดลงไปด้วย เมื่อต้นทุนสูงขึ้น จนการตั้งโรงงานในบ้านเราไม่คุ้มค่า ก็เกิดการย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่า ส่งผลต่อการจ้างงานแรงงานไทย และเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อย
1
✅ 2 ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ
‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ (ธปท.) เผยแพร่ข้อมูลสถิติหนี้สินครัวเรือน ไตรมาสที่ 1/2567 สูงถึง 16.37 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.8% ต่อจีดีพี (GDP) เพิ่มขึ้น 2.5% จากปีก่อน จำนวนผู้เช่าซื้อที่ไม่สามารถผ่อนจ่ายค่ารถยนต์เพิ่มขึ้น กลายเป็น 'หนี้เสีย' (NPL) ที่เกิดจากรถยนต์สูงขึ้น แตะ 2.5 แสนล้านบาท
ส่งผลให้เกิดการยึดรถมากเป็นประวัติการณ์ถึง 350,000 คันในปี 2566 สะท้อนถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจ และปัญหาการปล่อยสินเชื่อไม่มีคุณภาพในอดีต เมื่อรถถูกยึดเป็นจำนวนมาก ก็กระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง กระทบทั้งราคาประมูลและราคาของรถมือสอง
โดยเรื่องนี้ ‘นายสิทธิศักดิ์ มหาสิทธิวัฒน์’ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการตลาด บริษัท สยามอินเตอร์การประมูล จำกัด กล่าวว่า จำนวนรถที่เข้ามาลานประมูลสูงขึ้นมากๆ จนมีข่าวรายงานว่า รถจักรยานยนต์ถูกขายไปเพียงคันละ 100 บาท และรถยนต์มีราคาต่ำสุดเพียง 3,000 บาท ในลานประมูลนั้น ไม่เป็นความจริง ที่ถูกต้องคือ รถยนต์และจักรยานยนต์บางส่วนต้อง "แจกฟรี" ด้วยซ้ำ
2
นายสิทธิศักดิ์ กล่าวกับการสัมภาษณ์กับสื่อ ฐานเศรษฐกิจว่า “สำหรับราคารถในลานประมูลปัจจุบัน มีราคาที่ถูกมากจนน่าตกใจ โดยรถที่อายุเกิน 15 ปีแทบจะต้องแจกฟรี เพราะไม่มีคนเอา สาเหตุมาจากความเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การยึดรถเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรถอีวีที่เข้ามากดราคาลงไปด้วย ยิ่งทำให้รถอายุเกิน 15ปี แทบจะไม่มีมูลค่าเลย ดังนั้นผู้รับกรรมจึงเป็นผู้เช่าซื้อ”
ส่วนนี้จะกลับไปสร้างภาระให้ผู้เช่าซื้อที่ถูกยึดรถ โดยนายสิทธิศักดิ์ อธิบายว่า การที่ราคาประมูลรถต่ำลง ไม่ได้กระทบต่อรายได้ลานประมูล เพราะสุดท้ายแล้ว สถาบันการเงิน ก็ไปฟ้องส่วนต่างคืนกับผู้เช่าซื้อตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น รถถูกยึดเป็นหนี้ 100 บาท มาประมูลขายได้ 50 บาท ไฟแนนซ์ก็จะฟ้องส่วนต่าง 50 บาท แต่เมื่อราคาที่ลานประมูลต่ำลง เหลือเพียง 20 บาท ส่วนต่างที่ต้องฟ้องก็จะเพิ่มเป็น 80 บาท เป็นต้น
2
และการที่รถประมูลเยอะขึ้น ราคารถมือสองในปีที่ผ่านมาก็ร่วงลงไปถึง 30% จากเดิมจะลดไปเพียง 10% อีกทั้งต้องทำการตลาด เพื่อขายแข่งกับรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงที่ราคาลดต่ำลงเช่นกัน โดยผู้ก่อตั้ง สยามอินเตอร์การประมูลแนะนำว่า เต็นท์รถมือสองต้องปรับตัวด้วยการไม่สต๊อกสินค้าเยอะจนเกินไป เน้นช่องทางออนไลน์ ขายให้ไว ได้ราคาเท่าไหร่ก็ต้องเอา
3
✅ 3 ความเข้มงวดจากการปล่อยสินเชื่อ
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมยานยนต์ คือสถาบันการเงินเข้มงวดกับการปล่อยกู้ เพราะการซื้อรถยนต์กว่า 90% ใช้บริการไฟแนนซ์ แต่เมื่อสถาบันการเงิน #ปฏิเสธคำขอเงินกู้ (rejection rate) เพิ่มขึ้น 20% สำหรับรถใหม่ และ 30-40% สำหรับรถมือสอง ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จึงส่งผลโดยตรงต่อยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ
1
เรื่องนี้ ‘ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นว่า การที่สถาบันการเงิน เข้มงวดเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก #นโยบายการปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ของธปท. และคำพิพากษาของศาลที่บอกว่า #คืนรถจบหนี้ ทำให้มีการนำรถมาคืนจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้ผู้ปล่อยกู้ ทำให้ต้องมีการปรับนโยบายสินเชื่อให้เข้มงวดมากกว่าเดิม
📍[ #สรุปให้เข้าใจง่าย ] คือ
1
ปัญหาของอุตสาหกรรมยานยนต์เกิดจาก ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.8% ของจีดีพี รวมกับการอนุมัติสินเชื่อด้อยคุณภาพ เมื่อเศรษฐกิจเกิดสะดุด คนไม่มีเงินจ่าย ไฟแนนซ์เจ็บหนักจากการเก็บหนี้ไม่ได้และนโยบาย ‘คืนรถจบหนี้’ จึงไม่อยากปล่อยสินเชื่อ และเมื่อกู้ซื้อยาก รถก็ขายยาก
2
ส่วนคนที่พอมีกำลังซื้อหรือสามารถกู้ได้ ก็เลือกซื้อรถยนต์ราคาถูกที่นำเข้าจากจีน เงินออกนอกประเทศ ทำให้รายได้โรงงานผลิตรถญี่ปุ่นในไทยลดลง อยู่ไม่ไหว แข่งขันกับจีนไม่ได้ทั้งในไทยและตลาดโลก ทยอยย้ายออก เมื่อฐานการผลิตย้ายไป การจ้างงานลดลง กระทบเศรษฐกิจ รายได้ประชาชนหดหาย จนไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้ให้ไฟแนนซ์ รถที่ผ่อนไว้ก็โดนยึด เกิดหนี้เสียจนไม่อยากให้สินเชื่อ วนไปไม่รู้จบ
2
🚗🇹🇭 [ #ยานยนต์ไทยไปไงต่อ? ]
แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังมีทางไปต่อ โดย ‘นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์’ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นผลสะท้อนจากช่วงโควิด -19 ที่ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่ง แต่หากรัฐบาลมีวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือนโยบายหลักได้ผล จนเกิดการจ้างงาน และมีการกระจายงบประมาณอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้นในไม่ช้า
สอดคล้องกับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่กล่าวว่า ครัวเรือนไทยก็มีหนี้สินมากเกินกว่าที่จะบริหารจัดการได้ แนวทางแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องเน้นการทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่การทำให้หนี้สินลดลง
ส่วนทางด้าน #KKP ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ทั่วโลกไปสู่ BEV ยังคงไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ทั่วโลกลดลง แต่ยอดขายรถยนต์ไฮบริดกลับเพิ่มขึ้น อาจช่วยยืดเวลาให้กับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอีกระยะหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน ค่ายรถจีนที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันสินค้าจากประเทศตะวันตก อาจจะเห็นโอกาสในการลงทุนในไทยและใช้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออก เพราะมีความชำนาญในการประกอบรถยนต์มาอย่างยาวนาน
1
แต่การนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันอาจทำให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับลดลง ดังนั้น รัฐควรพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย และพัฒนาฝีมือแรงงานด้านรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน รวมทั้งอาจต้องมีการทบทวนมาตรการด้านการเงินอุดหนุนเพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างราคา และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อรักษาและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ตอบสนองได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
1
เรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา
อ้างอิง
#aomMONEY #MacroEconomics #เศรษฐกิจ #ออมมันนี #อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย #เศรษฐกิจไทย #ส่งออกรถยนต์ #ภาคการผลิต #การลงทุน #สงคราม #จีน #สินค้าจีน #ผู้ประกอบการไทย #ต้องรอด
โฆษณา