25 ก.ค. เวลา 18:00 • ความคิดเห็น

เวลาสำคัญที่สุด - ชีวิตมนุษย์ช่างสั้นนัก..?

เราน่าจะเคยได้ยินคำว่า “เวลาสำคัญที่สุด” เพราะเมื่อมันผ่านไปแล้ว จะไม่สามารถย้อนคืนหวนกลับมาอีกได้ อีกคำหนึ่งก็คือ “ชีวิตมนุษย์ช่างสั้นนัก” เพราะเผลอแผล็บเดียว ปีนี้ผมก็อายุครบ 52 ปี บริบูรณ์แล้ว (ตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2567) รู้สึกแก่ขึ้นมาทันทีทันใด (ใครจะเรียก “ลุง” เรียก “อาแปะ” ก็ไม่ถือสาแล้ว)
ประกอบกับสภาพร่างกายเริ่มถดถอย มีรุ่นพี่ที่ปรารถนาดีท่านหนึ่งเตือนว่า เมื่ออายุเกิน 50 ปีแล้ว อาจต้องเจอกับความเสื่อมและโรคภัยไข้เจ็บนานับประการ พอดีว่า....ผมยังไม่เคยไปตรวจร่างกายประจำปีกับเขาเลย เลยยังไม่ทราบว่าตอนนี้เป็นโรคอะไรกับเขาบ้างแล้ว ทุกวันนี้ยังไม่ได้รู้สึก...มีอะไรผิดปกติไปจากเดิมมากนัก ยังกินได้ ยังนอนหลับ ซึ่งอาจจะประมาทเกินไปสำหรับชายวัยกลางคนก็ได้
แปลก...ที่ผมยังรู้สึกในใจอยู่ตลอดเวลาว่า “ยังไม่เคยประสบความสำเร็จกับการวาดรูป (ขาย) เลย” แน่นอนว่า ทุกวันนี้ยังวนเวียนทำมาหากินอยู่ในแวดวงศิลปะ ด้วยอาศัยทักษะที่เราพอมีติดตัว ออกแบบหางานเลี้ยงชีพเพื่อให้อยู่รอดได้ไปวันๆ (วันๆ จริงๆ นะ แบบเดือนชนเดือน คงจะเห็นภาพชัด)
แต่เป็นการทำงานตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง ที่มีตัวตนของเราเข้าไปผสมอยู่ด้วยบ้าง ซึ่งยังไม่ใช่งานแบบที่เป็นตัวของเราเองได้ทั้งหมด เพราะงานที่จะเป็นตัวของเราเองได้ทั้งหมดนั้น ณ เวลานี้ ผมคิดว่ามันคงเหลือแค่การ “วาดรูป” อย่างเดียวเท่านั้น เพราะไม่ต้องยุ่งหรือเกี่ยวข้องกับใครเลย
ต้นเรื่องผมกล่าวถึงความสำคัญของ “เวลา” และ “ชีวิตมนุษย์ที่มันสั้นกว่าที่คิด” เพราะช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับนักวาดรูป-ช่างเขียนทั่วๆ ไป คือวันที่ร่างกายของเรายังแข็งแรงเต็มที่ สายตายังดี อาจจะนับเริ่มตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ ไปจนถึงก่อน 40 ปี ผมเริ่มแสดงผลงาน (นิทรรศการศิลปะ) เต็มตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997 ปีที่ไทยเกิด #วิกฤตต้มยำกุ้ง พอดี)
เวลานั้นผมอายุ 25 ปี ยังหนุ่มแน่นมาก แต่หลังจากปี พ.ศ. 2544 (2001) เป็นปีที่ผมเกิดอาการทดท้อภายในใจอย่างรุนแรง ทำให้ผมเริ่มวาดรูปน้อยลงๆ ไปเรื่อยๆ มีดอดไปร่วมแสดงงานกลุ่มกับเพื่อนๆ ศิลปินคนอื่นบ้าง หรือเคยเป็นโต้โผจัดงานแสดงให้กับสมาชิกกลุ่ม “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” (ในปี พ.ศ. 2555, 2557 และ 2560) บ้าง แต่...ก็ถือว่าไม่ได้วาดรูปอย่างเต็มที่ เท่ากับช่วงอายุก่อน 30 ปี อีกแล้ว
เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากเกินไปกว่า วาดเสร็จแล้วมันขายยาก จนถึงกับขายไม่ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือ....ใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้จริง เป็นเหตุให้ต้องดิ้นรนทำมาหากินอย่างอื่นๆ ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา เคยทั้งวาดการ์ตูนขายซึ่งทำได้อยู่พักนึง มีผลงานการ์ตูนรวมเล่มในซีรี่ย์ “ยักษ์ยุ่น” ออกมาทั้งหมด 4 เล่ม แต่ที่ต้องเลิกราไป เหตุผลง่ายๆ คือ (อีกนั่นแหละ)
เพราะรายได้มันไม่พอกิน ส่วนงานในปัจจุบันนี้คือรับจ้างออกแบบพระเครื่อง ซึ่งทำมาได้ราว 10 ปีแล้ว ช่วงแรกๆ ถือว่าไปได้ดีพอสมควร พอเอาตัวรอดได้ แต่พอเกิดวิกฤตโควิด-19 (ในไทยเริ่มช่วงต้นปี 2563 แล้วก็ลามหนักไปอีก 3 ปีเต็ม ซ้ำร้ายคือ...ยังทิ้งผลกระทบไว้มากมาย) ผมก็ประสบปัญหาหนัก ไม่ต่างจากหลายๆ ธุรกิจที่ถูกกระทบกับเป็นหางว่าว และลามติดต่อกันมาเรื่อยๆ อีกหลายปี ธุรกิจพระเครื่องก็ไม่ต่างกัน
ดูเหมือนชีวิต...ฤๅโชคชะตาจะเล่นตลก ไม่ยอมให้เราทรงตัวสบายๆ อยู่ได้นาน ต้องส่งวิกฤตเข้ามาทดสอบชีวิตและจิตใจอยู่ร่ำไป เพื่อจะดูว่า “มึงทนได้มั้ย ถ้ามึงทนไม่ได้ก็จงตายไปซะ” ซะงั้น ในวาระครบ 52 ปี บริบูรณ์ ใน พ.ศ. 2567 นี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมต้องสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจส่วนตัว ที่ยังไม่คลี่คลายดี
กำลังคิดว่าจะกลับมาวาดรูปจริงๆ จังๆ อีกครั้ง ดีมั้ย? แต่ก็ขาดความมั่นใจ ว่ามันจะเอาตัวรอดได้จริงหรือเปล่า? หรือมันจะเป็นแบบเดิมๆ อีก คือความฝันที่ยังไม่เคยเป็นความจริง (แต่...สิ่งที่สัมผัสได้คือ จะมีความสุขโชยมาทุกครั้ง เวลาวาดรูป) เหตุเพราะเราทิ้งห่างมานานมากเป็นสิบๆ ปี (คือพออะไรๆ ที่เราทิ้งไปนานมาก คนมันก็จะลืมนั่นแหละครับ แล้วไปจำตัวตนอื่นของเราแทน)
ประกอบกับ “เวลา” ได้พรากความแข็งแรงของร่างกายลงไปแล้ว เวลานี้ผมมีอาการตาเริ่มเสื่อม ตามวัยด้วยส่วนหนึ่ง และจากการเคยโหมใช้งานมันอย่างหนัก ช่วงต้องเร่งปิดต้นฉบับการ์ตูน ที่ต้องเพ่งสายตาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันนานเป็นเดือน จนทำให้เป็น “โรคจอประสาทตาเสื่อม” ก่อนวัยอันควร (เวลานั้นผมเร่งปิดต้นฉบับ “ยักษ์ยุ่น” เล่มที่ 2 ตอน “ผจญภัยไดโนเสาร์” ออกปี พ.ศ. 2548 (2005) ขณะนั้นอายุ 33 ปี)
แต่อย่างที่บอกคือ ยามที่วิกฤตเดินมาปะทะอยู่ตรงหน้า “ถ้ามึงทนไม่ได้ก็จงตายไปซะ” นั่นแหละครับ เหมือนชีวิตกำลังยืนอยู่บนปากเหว คุณอาจมีทางเลือกไม่มาก...ว่า จะทิ้งตัวดิ่งลงเหวไปเลยดื้อๆ คือการคิดสั้น นั่นแหละ...ยอมแพ้แล้ว ง่ายดีนะ ......หรือจะค่อยๆ หาทางไต่ลงมาจากปากเหว ซึ่งยากลำบากกว่ามาก และยังไม่รู้ว่าจะลงถึงพื้นได้เมื่อไหร่ แล้วเผลอๆ ระหว่างทางอาจพลัดตกลงไปได้อีกตลอดเวลา แต่...สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ระหว่างนั้น...คุณยังคงรักษาชีวิตเอาไว้ได้
#คราบเลือดและน้ำตา ดูเหมือนจะเป็นสิ่งปกติในชีวิตมนุษย์แทบทุกคน ใครไม่เคยเจอคงประหลาด เพียงแต่ว่า...ใครจะเจอมากเจอน้อย เพิ่งได้อ่านบทความของพี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ พูดถึงนักธุรกิจท่านหนึ่งที่เป็นหนี้ถึง 900 ล้านตอนอายุ 50 ปี แต่กลับฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกครั้งในวัย 60 ปี ด้วยประโยคเด็ด ซึ่งเป็นประโยคคลาสสิค ที่หลายคนน่าจะเคยฟังกันมาก่อน แต่....คุณจะไม่รู้ซึ้งถึงอกถึงใจหรอก หากไม่เคยเจอกับตัวเองสักครั้ง.....คือ
…ถ้าความล้มเหลวฆ่าคุณไม่ได้ คุณจะแข็งแกร่งขึ้นอีกร้อยเท่าทวีคูณ…
จิด.ตระ.ธานี
ผมหวังว่าผมจะแข็งแกร่งพอ เพื่อให้ผ่านมรสุมชีวิตในช่วงนี้ไปให้ได้ จะได้เอาไว้บอกเล่าลูกหลานต่อไปว่า กูเคยผ่านมายังไง ผมหวังว่า และหวังเอาไว้ว่า............. มันจะผ่านไปได้
ปกติบทความ “บ่นทุกวันเกิด” ผมมักพูดเรื่อง “ความตาย” เป็นหลัก แล้วเขียนคติข้อเตือนใจเกี่ยวกับธรรมะ แต่มาครั้งนี้...คือการบ่นสด (ฮา) ถึงวิกฤตในชีวิต ที่ตอนนี้กำลังถาโถมและเผชิญหน้ากับมันอยู่ และกำลังพยายามหาทางออกทุกๆ วิถีทาง
ถ้าหาก “ขอได้” คงไม่ขออะไรมากเกินไปกว่า “ขอให้ผมมีพลังใจมากพอ จนทำมันได้สำเร็จ” ไม่งั้นก็จงดิ่งหน้าผา ลงไปตายซะ เพราะมันง่ายดี....ก็แค่นั้น
พ่อไก่อู
จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee
ป.ล. เชื่อว่าคงไม่ค่อยมีใครอยากจะเล่าเรื่อง ความล้มเหลว ความงี่เง่า การปล่อยช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตให้ผ่านไปเปล่าๆ ด้วยความโง่ ความไม่รู้ พอลืมตาตื่นขึ้นมาอีกทีก็ 50 แล้ว (ฮา) ซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายเริ่มถดถอย และไม่แข็งแรงเหมือนสมัยหนุ่มๆ
แต่...ผมยังยินดีบันทึกไว้ และเปิดในอ่านกันแบบสาธารณะ (ส่วนใครจะอ่านหรือไม่ ไม่ใช่สาระอะไร เพราะเราไม่ใช่คนดัง) ถึงผมจะยังไม่ได้เล่าเรื่องบาดแผลและความขมลึกที่สุดในใจ ณ เวลานี้ แต่ก็ถือเป็นการบันทึกความทรงจำที่มีค่า (สำหรับตัวผมเอง) เผื่อว่า....หากยังมีชีวิตยืนยาวอยู่ต่อไป อาจได้กลับมาอ่านบันทึกเหล่านี้ เพื่อระลึกถึงและเป็นเครื่องเตือนใจอีกครั้ง ว่าเรา (เคย) ผ่านมันมาได้แล้วนะ และ....หวังว่ามันจะเป็นอย่างงั้น
เผื่อใครสนใจอ่านบทความของพี่โจ้ ธนา “เขียนไว้ให้เธอ” เมื่อ 7 มิ.ย. 2567 : “ห้าสิบหนี้เก้าร้อยล้าน หกสิบรวยหมื่นล้าน” https://www.blockdit.com/posts/666264871858b5d3760051fe

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา