23 ก.ค. 2024 เวลา 15:17 • การเมือง

บทเรียนจาก “เอเชียใต้”

พอดีอ่านเจอบทความของ Foreign Affairs ชื่อหัวเรื่องว่า “The End of South Asia” หรือแปลเป็นไทยก็ “อวสานของเอเชียใต้” เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2024 ทางเพจดูแล้วน่าสนใจเลยอยากมาสรุปใจความสำคัญของบทความดังกล่าวมาเขียนไว้ตามด้านล่างนี้
2
เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นรวมกันประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรโลก มี 8 ประเทศคือ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา สิ่งที่มีร่วมกันคือ “ประสบการณ์การถูกล่าอาณานิคมจากอังกฤษ”
โดยนิยามแล้ว “เอเชียใต้” ถูกกำหนดและเรียกโดยนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายในกลุ่มประเทศตะวันตก เริ่มใช้คำนี้ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 หลังจากการเกิดขึ้นของรัฐต่างๆ หลังออกจากเป็นอิสระจากอาณานิคมบริติชอินเดียในปี 1947 เดิมทีภูมิภาคเอเชียใต้ในยุคล่าอาณานิคมจะถูกเหมารวมกันว่าเป็น อนุทวีปอินเดีย
ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดไว้กับปากีสถานมากกว่าที่เคยทำกับอินเดียที่เห็นได้ชัดว่าตอนนั้นอยู่ในสถานะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทำให้สหรัฐฯ เน้นที่จะใช้คำว่า “เอเชียใต้” เรียกดินแดนแถบนี้ซึ่งสื่อถึงอินเดียและประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าที่จะเรียกรวมๆ ว่าอินเดีย แต่กลับไม่ใช่กับคนอินเดียเองที่จะชอบถูกเรียกว่า “ชาวเอเชียใต้”
หน้าปกหนังสือ India and the Cold War, edited by Manu Bhagavan
ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 นายพลเซียวร์ ราห์แมน ซึ่งเข้ามามีอำนาจในบังกลาเทศผ่านการรัฐประหารในปี 1975 เริ่มเสนอแนวคิดเรื่ององค์กรระดับภูมิภาค แม้ว่ารัฐเล็กๆ จะยินดีกับแนวคิดนี้ทันที แต่อินเดียและปากีสถานกลับไม่ค่อยยินดีกับเรื่องนี้ แต่ก็ตัดสินใจที่จะยอมรับข้อเสนอของบังกลาเทศดู
6
ข้อเสนอดังกล่าวปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมในปี 1985 เมื่อมีการจัดตั้ง SAARC หรือสมาคมความร่วมมือระดับภูมิภาคแห่งเอเชียใต้ ซึ่งประกอบด้วยบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา (ขาดอัฟกานิสถานประเทศเดียว)
หลังจากนั้นผู้นำอินเดียคนต่อๆ มา เริ่มเปิดใจกว้างต่อ SAARC ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 1990 โดยก็มีคนคอยปรามๆ ไว้ไม่ให้ไปเต็มตัวเนื่องจากข้อพิพาทกับปากีสถานของอินเดีย ส่วนฝั่งผู้นำปากีสถานนั้นกลับระแวง SAARC มานานแล้ว เพราะคิดว่ามันอาจกลายเป็นเครื่องมือในการใช้อิทธิพลของอินเดียไป แต่ก็ส่งคนมาเข้าร่วมงานประชุมบ้างเป็นพิธี
หลังจากยุคทองของ SAARC ในช่วงปลาย 1990 ความร่วมมือในเอเชียใต้นี้ก็เริ่มเสื่อมถอยลงจนถึงปี 2014 มีจัดประชุมกันน้อยลงมาก ความคืบหน้าบางส่วนที่บรรลุผลสำเร็จไปก่อนหน้าในการดำเนินการเขตการค้าเสรีเอเชียใต้ต้องหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2014 เมื่อปากีสถานขัดขวางการลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับยานยนต์
1
เครดิตภาพ: Rabin Sayami / The Economic Times
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ผู้นำกลุ่มเอเชียใต้มีความพยายามกระชับความสัมพันธ์ภายในภูมิภาคให้แน่นแฟ้น โดยมองเป้าหมายที่ใหญ่กว่าอีกด้วยคือ กระชับความร่วมมือกับภูมิภาคติดกันอย่างอาเซียน หรือแม้กระทั่งมองไปไกลถึงสหภาพยุโรป พวกเขาจินตนาการว่าเอเชียใต้อาจกลายเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีบทบาทร่วมกับที่อื่นในภูมิรัฐศาสตร์โลก
แต่ฝันที่วาดไว้สวยหรูนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาเอเชียใต้แทบไม่สามารถสร้างความสามัคคี ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือนโยบายร่วมกันภายในภูมิภาคได้เลย มีความหวาดระแวงและเป็นปฏิปักษ์กันที่เห็นได้ชัดคือ อินเดีย-ปากีสถาน
ทหารกองกำลังรักษาความปลอดภัยชายแดนอินเดีย (BSF) (ชุดสีน้ำตาลกากี) และหน่วยลาดตระเวนของปากีสถาน (ชุดสีเข้ม) เข้าร่วมในพิธี Beating the Retreat ที่ด่านวากาห์ เมืองอมฤตสาร์ อินเดีย เมื่อ 1 ส.ค. 2022 เครดิตภาพ: AFP
ปัญหาหนึ่งของเอเชียใต้คือ “ความไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์” มองจากแผนที่ อินเดียเป็นประเทศใหญ่สุดตรงกลางและมีเพื่อนบ้านรายล้อมโดยมีพรมแดนร่วมกัน ยกเว้นอัฟกานิสถานที่อยู่ไกลออกไปถัดจากปากีสถาน อินเดียจึงเป็นพี่บิ๊กบึ้มมีอำนาจมากสุดในภูมิภาค ดังนั้นอินเดียจึงอาจไม่ได้มองการพัฒนาโครงสร้างระดับภูมิภาคร่วมกันกับประเทศเล็กอื่นๆ ในภูมิภาคมากนัก เนื่องจากมันไม่ได้สร้างความโดดเด่นหรือผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมากนักให้กับอินเดียซึ่งตัวเองก็ถือว่ามีอยู่แล้ว
1
และอีกประเด็นคือ มติร่วมใดๆ ของกลุ่ม SAARC นั้นอยู่บนหลักการของฉันทามติ โดยคะแนนเสียงของอินเดียจึงมีค่าเท่ากับของภูฏานหรือมัลดีฟส์ (ประเทศเล็กสุดในภูมิภาค) แน่นอนว่าอินเดียจึงไม่คิดที่จะลงมติเห็นชอบโครงการใดๆ ที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ ความขัดแย้งในกลุ่มประเทศเอเชียใต้มันก็ย่อมจบลงไม่ได้และพวกเขาก็ไม่รู้จะแก้ยังไงและมองเป็นเรื่องธรรมชาติของภูมิภาคนี้ไปแล้ว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงต้องแสวงหาความร่วมมือนอกกลุ่ม
เรื่องนี้จึงเปิดโอกาสให้เกิดการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกกลุ่ม เช่น ศรีลังกามีเจ้าหนี้รายใหญ่สุดคือ “จีน” และจีนยังปล่อยเงินกู้ให้กับบังกลาเทศเพื่อสร้างทางหลวง สนามบิน และท่าเรือ ทำให้จีนมีอิทธิพลเหนือประเทศเพื่อนบ้านรอบอินเดีย ซึ่งอินเดียไม่ชอบเอามากๆ มากกว่านั้นยังมี “อเมริกา” เข้ามาประสมโรงด้วย เช่นในปี 2021 อเมริกาเข้าไปแทรกแซงด้านการทหารและความมั่นคงในบังกลาเทศ ทำให้เกิดการโต้เถียงกับทางจีนที่มีอิทธิพลอยู่ก่อนแล้ว
1
เครดิตภาพ: Vinavu
ดังนั้นทำให้ปริมาณการค้าภายในเอเซียใต้ด้วยกันเองมีเพียง 5% ของทั้งหมดที่เกิดขึ้นของภูมิภาค ในขณะที่การค้ากับนอกกลุ่มอย่างกับอาเซียนมีปริมาณถึง 25% ของทั้งหมด และปริมาณการค้าของประเทศเอเชียใต้กับจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแซงนำหน้าการค้าระหว่างอินเดียกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันไปแล้ว (ประเทศเล็กในเอเชียใต้มุ่งทำการค้ากับจีนมากกว่าอินเดีย)
อีกประเด็นคือ “ความเข้มงวดเรื่องการเดินทางข้ามระหว่างประเทศในเอเชียใต้” มีเพียงมัลดีฟส์ที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวเท่านั้นที่เสนอ Visa on arrival สำหรับประเทศสมาชิก SAARC ทั้งหมด ภูฏานและเนปาลมีข้อตกลงการเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่ากับอินเดีย
แต่นอกเหนือจากข้อตกลงเหล่านี้แล้ว การเดินทางในภูมิภาคยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากอินเดียเป็นเพียงจุดเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ในหลายประเทศในภูมิภาค ดังนั้นอินเดียจึงเป็นเหมือนตัวกำหนดหรือผู้คุมประตูเปิดหรือปิดพรมแดนที่เชื่อมโยงหากันในเอเชียใต้ ซึ่งส่งผลต่อด้านการค้า การท่องเที่ยว รวมถึงการศึกษา
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จีนจะสร้างโอกาสจากอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากอินเดียซึ่งเป็นผู้ควบคุมพรมแดนในเอเชียใต้ นักท่องเที่ยวจีน การค้าขายกับจีน รวมถึงการส่งนักศึกษาเข้ามาเรียนที่จีนของบังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา ยิ่งอินเดียละเลยเอเชียใต้มากเท่าไร จีนก็ยิ่งได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และอาจสายเกินไปที่อินเดียจะกลับมาเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคอีกครั้ง
เครดิตภาพ: Maldives Voice
แนวคิดเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียใต้ร่วมกันไม่เคยเกิดขึ้นในภูมิภาค ชาวเอเชียใต้ไม่ได้มองหน้าเข้าหากันและกัน ขาดความสามัคคีและร่วมมือกัน ต่างคนต่างหันไปมองหาความร่วมมือที่ไกลออกไป ไปยังตะวันออกกลางบ้าง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้าง หรือแม้แต่ฝั่งตะวันตกบ้าง มีชาวเอเชียใต้ไม่มาก (นอกเหนือจากผู้คนหลายสิบล้านคนที่อาศัยพลัดถิ่นทั่วโลก) จะคิดที่จะพิจารณาตัวเองว่าเป็นคนเอเชียใต้ตั้งแต่แรก ไม่ใช่แค่ชื่อเรียกตามการจัดแบ่งทางภูมิศาสตร์
1
บทความต้นเรื่องฉบับเต็มอ้างอิงได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
เรียบเรียงโดย Right Style
23rd July 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: ปกนิตยสาร The Economist>
โฆษณา