เอื้องรวงข้าวใบยาว สำรวจพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส

เอื้องรวงข้าวใบยาว Dendrochilum longifolium Rchb.f. กล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส ความสูงจากระดับน้ำทะเล 450 - 2,600 เมตร เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางข้าง รากฝอย ต้นเป็นเหง้าทอดตัวยาว
ลำลูกกล้วยสีเขียวอ่อน ทรงกรวยแคบ ฐานกว้างได้ถึง 2 เซนติเมตร และ ยาวได้ถึง 13 เซนติเมตร ผิวสัมผัสค่อนข้างเรียบ แต่ละลำลูกกล้วยจะมีใบเพียง 1 ใบ ก้านใบค่อนข้างกลมมีร่องลึก ยาวได้ถึง 11 เซนติเมตร
ใบ รูปรีแกมรูปใบหอก เส้นใบขนาน ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบบางเรียบ กว้างได้ถึง 6.5 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 45 เซนติเมตร ช่อดอก แบบ ช่อกระจะ เรียงเป็น 2 แถว ออกบริเวณฐานลำลูกกล้วย ความยาวใกล้เคียงกับความยาวใบ
ช่อดอก ตั้งตรงขึ้นแล้วโค้งลง มองดู ลักษณะคล้าย รวงข้าวสุก ก้านช่อดอกผอม สีเหลืองอมน้ำตาลอ่อน ห่อหุ้มด้วยกาบหุ้มช่อดอกสีเขียว 5 - 7 กาบ ช่อดอกหนึ่งๆ มีดอกประมาณ 50 ดอก ดอกบานมีกลิ่นหอม ใบประดับดอกรูปขอบขนาน ปลายตัดหรือมนห่อก้านดอกย่อยไว้ กว้าง0.4 เซนติเมตร ยาว 0.7 เซนติเมตร สีน้ำตาลอม เขียวอ่อน
ดอกกว้าง 1.4 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปใบหอก สีน้ำตาลอมเขียวอ่อน กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาว 0.6 เซนติเมตร กลีบปาก ส่วนโคนสีเขียวอ่อน หูกลีบปากแหลม ขนาดเล็ก ขอบสีน้ำตาลเข้ม ระหว่างหูกลีบปากมีสัน ขนาดเล็ก 2 สัน ปลายกลีบปากสีน้ำตาลเข้มขอบไม่เรียบ ตรงกลางมีเส้นสีขาวครีมพาดตลอดความยาวของปลายกลีบปาก
เส้าเกสรขนาดเล็ก โค้ง ยาว ประมาณ 0.3 เซนติเมตร ปลายเส้าเกสรยื่นตัวโผล่ขึ้น ฝาครอบกลุ่มอับเรณูปลายเป็นหยัก 3-4 หยัก รยางค์ของเส้าเกสรทั้งสองข้าง แหลม และโค้งไปข้างหน้า ฝาครอบกลุ่มอับเรณูสีขาวใส พบในป่ามอส และป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ที่ระดับความสูง 450-2,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ช่วงเวลาในการออกดอก มีนาคม - พฤษภาคม
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
#ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ #สุราษฎร์ธานี #กรมอุทยานแห่งชาติ #เอื้องรวงข้าวใบยาว #กล้วยไม้
โฆษณา