24 ก.ค. เวลา 02:36 • ความคิดเห็น

Cobra effect เมื่อไหร่เราจะเรียนรู้

ในปี 2553 มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งนำเข้าปลาหมอคางคำเข้ามา 2,000 ตัว แต่เหลือรอดเพียงประมาณ 600 ตัวหลังจากการขนส่ง และนำมาเลี้ยงในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เหลือปลาเพียง 50 กว่าตัว มีการทำลาย แล้วอ้างว่าได้ส่งซากที่เหลือให้กับกรมประมงแล้ว
แต่ในปี 2560 ก็ได้เกิดการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำเป็นจำนวนมาก จนรัฐบาลเคยประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันจับเพื่อนำส่งมาทำลาย แล้วก็จู่ๆ หยุดรับซื้อ จนชาวบ้านบางกลุ่มที่จับปลามาแล้ว แต่ไม่มีที่ขาย ก็ได้ปล่อยปลาบางส่วนลงแหล่งน้ำ จนมีการแพร่ระบาดเพิ่มเติมแล้ว
ในปีนี้ ก็เกิดโครงการซ้ำรอย ที่ทางการ และ CPF ประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 2 ล้านกิโลกรัมอีกครั้ง จริงอยู่ในช่วงสั้น อาจจะช่วยลดประชากรปลาหมอคางดำได้ผล แต่ในระยะยาวเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าจะซ้ำรอยอีกครั้งหรือไม่
เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก ในช่วงสมัยที่จักรวรรดิบริติชยังปกครองประเทศอินเดียอยู่นั้น รัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดียพบว่ามีงูพิษอยู่รอบๆ เมืองเดลฮี และมีผู้ถูกกัด และเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ทางรัฐบาลจึงได้ตั้งรางวัลนำจับงูเห่า โดยให้นำงูเห่าที่ตายแล้วมาแลกเงินรางวัล
แรกๆ ก็ได้ผลดี ชาวบ้านที่ยากจนก็พยายามจับงูเห่ามาแลกเงิน จนได้เงินไปเยอะ แต่งูเห่าก็หายากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านหัวใสจึงเริ่มเลี้ยงงูเห่ากันเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อมาเอาเงินรางวัล พอรัฐบาลรู้เข้า จึงเลิกโครงการนี้ ส่งผลทำให้ชาวบ้านที่เลี้ยงงูเห่าเลิกเลี้ยง และปล่อยงูเห่าไป ทำให้สถานการณ์กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม จนเป็นที่มาของคำว่า Cobra Effect
ปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกันก็เกิดกับการรับซื้อหนูในเวียดนาม เพื่อกำจัดหนูที่ทำลายพืชผลในเวียดนาม และเกิดผลที่ไม่คาดฝันในเมืองจีน สมัยที่เหมาเจ๋อตุงที่รณรงค์ให้ชาวจีนกำจัดศัตรูพืชสี่ชนิด จนทำให้ตั๊กแตนหนวดสั้นทำลายพืชจนคนต้องอดตายเป็นจำนวนมาก และเป็นที่มาของคำว่า Perverse Incentive ที่หมายถึงการออกโครงการจูงใจบางอย่างที่ได้ผลขัดกับความตั้งใจของโครงการโดยไม่ตั้งใจ
มีทางออกอื่นไหม ผมยอมรับว่าผมยังนึกไม่ออก แต่ผมแค่กลัวว่า ราคา จำนวน และระยะเวลาการรับซื้อที่ไม่เหมาะสมอาจจะนำมาสู่ปัญหาที่แย่กว่าเดิมก็เป็นได้ครับ
โฆษณา