24 ก.ค. เวลา 07:50 • ไลฟ์สไตล์

รู้จัก ‘Humblebrag’ การ(แกล้ง)ถ่อมตน พร้อมวิธีรับมือเมื่อพบเจอคนเหล่านี้

วันนี้ Future Trends มีคำศัพท์ใหม่มานำเสนอ ‘Humblebrag’ โดยมีรากฐานมาจาก ‘Humble แปลว่าอ่อนน้อมถ่อมตน’ กับ ‘Brag แปลว่าคุยโว’ เมื่อรวมกันจึงกลายมาเป็นคำเรียกอาการ ‘การ(แกล้ง)ถ่อมตน’ เรามีตัวอย่างมาให้ดูเพื่อเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- มีเงินมากพอที่สามารถซื้ออะไรก็ได้ แต่ไม่มีความสุขเลย
- ไม่น่าเชื่อว่าบริษัท Top 50 ของประเทศไทย จะยื่นข้อเสนอให้ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยดัง
- บริษัทอื่นให้เงินผมมากกว่านี้อีกนะ แต่ผมเลือกที่นี่
ลักษณะของ Humblebrag จะเป็นการพูดประโยคที่เมื่อฟังแล้วจะเห็นประเด็นที่แฝงเอาไว้ เช่น ประโยคแรกควรจะต้องโฟกัสเรื่องความสุขแต่เมื่อกล่าวถึงเงินความสนใจจึงไปอยู่ที่ “มีเงินมากพอที่สามารถซื้ออะไรก็ได้” แทน นี่แหละคือ การ(แกล้ง)ถ่อมตัว
แต่ว่าการ(แกล้ง)ถ่อมตัว มีระดับของความรุนแรงอยู่ ศาสตราจารย์ Ovul Sezer จากมหาวิทยาลัย University of North Carolina ได้ทำการศึกษาวิจัยและค้นพบว่า Humblebrag เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ที่ต้องการจะป่าวประกาศความสำเร็จ ความร่ำรวย หน้าที่การงาน ออกไปให้โลกรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยของโลกดิจิทัลที่มีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือหลัก หากทำบ้างเล็กๆ น้อยๆ มันก็ไม่สร้างความลำบากใจให้คนรอบข้างมากนัก
แต่มันจะมีจุดหนึ่งที่ Humblebrag กลายมาเป็นความ Toxic จุดที่ผู้ฟังของคุณเริ่มไม่ชอบการโอ้อวดที่ไม่น่ารักนี้อีกต่อไป ในมุมมองของคนที่ Humblebrag เองก็อาจจะไม่คิดว่ามันเป็นการพูดคุยปกติ แต่ในมุมมองผู้ฝังคือคุณกำลังพูดในสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการฟัง
สำหรับประเภทของ Humblebrag นั้นมีหลากหลาย โดยหลักๆ จะมี 4 ประเภทดังนี้
1.การแสดงออกว่าคุณเหนือกว่า : จะอยู่ในรูปแบบของประโยคที่เน้นการแสดงออกถึงคุณค่าของตนเองอย่างชัดเจน โดยไม่แอบซ่อน หรือ แฝงความหมายใดๆ เป็นการอวดอย่างตรงไปตรงมา อาจจะมีการใช้ภาษาที่ดูสุภาพเรียบง่าย เช่น ฉันอ่านหนังสือก่อนสอบ 1 ชั่วโมง แต่คะแนนออกมาได้เต็มเลย 🙂
2.การแสดงออกว่าคุณยิ่งใหญ่ด้วยโอกาสที่ทิ้งขว้าง : จะอยู่ในรูปแบบของการใช้คำพูดที่แสดงออกให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของตนเอง โดยคาดหวังการถูกใช้งานความสามารถในอนาคต และคาดหวังให้คนอื่นเห็นคุณค่าของตัวเอง เช่น ผมเนี่ยได้รับการเสนอตำแหน่งงานที่ใหญ่มาก เป็นโครงการที่มี Budget สูง แต่ผมปฏิเสธไป เพราะอยากอยู่เป็นคุณค่าของพวกคุณ 😁
3.การแสดงความมั่นใจเบาๆ : จะอยู่ในรูปแบบของความต้องการแสดงให้เห็นความมั่นใจ แต่ก็ไม่อยากแสดงออกให้ดูหรูหราจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความน่าหมั่นไส้จากคนอื่น เช่น ฉันสามารถพาทีมไปยังจุดสูงสุดได้ ด้วยความสามารถของฉันเมื่อผนวกรวมเข้ากับความสามารถของคนในทีม ☺️
4.การนำเสนอความรู้สึกของตัวเอง : จะอยู่ในรูปแบบของการแสดงความรู้สึก หรือ ประสบการณ์ปกติ เช่น การแข่งขันนี้ก็ไม่ได้ยากมากนะ เพราะฉันเคยชนะมาแล้ว 😏
ทั้งหมดนี้ก็คือ 4 ประเภทหลักๆ ของ Humblebrag ความน่าหมั่นไส้ก็มากน้อยตามการโอ้อวดนั่นเอง แต่ว่าตัวอย่างที่เราให้ดูอาจจะเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ที่นำไปสู่ความ Toxic ได้ ดังนั้น Future Trends จึงได้หาวิธีการรับมือกับคนเหล่านี้มาด้วย
วิธีการป้องกันความ Toxic จาก Humblebrag การ(แกล้ง)ถ่อมตัว
1.การตั้งคำถามกับประโยคเหล่านั้น : เช่น บริษัทอื่นให้เงินผมมากกว่านี้อีกนะ คุณก็ตอบกลับไปว่า แล้วทำไมไม่ไปล่ะ? หรือ ข้อมูลส่วนนี้สามารถช่วยให้การทำงานของทีมดีขึ้นอย่างไรครับ? (สำหรับประโยคที่สองควรจะไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าถ้าพูดออกไปแล้วความปลอดภัยในที่ทำงานจะยังคงอยู่หรือไม่ มีคนอยู่ข้างคุณหรือเปล่า เพราะมันเหมือนจะเป็นการสร้างศัตรูอย่างเห็นได้ชัด)
2.จับเข่าคุย : การหาทางออกต้องมาจากทั้งสองฝ่ายการพูดคุยจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด แจ้งปัญหาที่คุณไม่สบายใจต่อนิสัย Humblebrag ของเขา และหาทางออกที่ดีกับทั้งสองฝ่าย
3.Ignore : คุณสามารถทำเป็นหูทวนลมเลยก็ได้นะถ้าคำพูดเหล่านั้นมัน Toxic เกินบรรยาย ทนฟังไปก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นอยู่แล้ว แทนที่จะเก็บไปคิดให้รกสมอง เลือกที่จะไม่รับฟังมันตั้งแต่แรกเลยดีกว่า
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ Humblebrag ทุกคนเคยมีประสบการณ์ทั้งเป็นคนที่เคยโอ้อวดและได้รับผลกระทบจากการถูกโอ้อวดหรือไม่? สามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพวกเราได้นะ
เขียนโดยธนพนธ์ หัสกรรัตน์
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsWorkandLife
โฆษณา