24 ก.ค. เวลา 08:00 • ธุรกิจ

วิธีวางแผนการเงินที่น่าสนใจ จากซีรีส์ Netflix

รู้จัก “พินัยกรรม” ตัวช่วยจัดการทรัพย์สิน ในวันที่เราจากโลกนี้ไป จากซีรีส์สืบสันดาน /โดย ลงทุนเกิร์ล
สืบสันดาน เป็นซีรีส์สัญชาติไทย ที่กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส ได้ร่วมสร้างกับ Netflix
ซึ่งซีรีส์นี้ กำลังเป็นที่พูดถึงกันทั่วทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จนเรียกได้ว่า เป็นการยกระดับละครแนวดรามาของไทยที่เราคุ้นเคย ผสมผสานกับแนวสืบสวนลึกลับ สู่ซีรีส์ระดับสากลได้อย่างมีชั้นเชิง
ขอเกริ่นคร่าว ๆ ว่าซีรีส์สืบสันดาน เป็นเรื่องราวของครอบครัวมหาเศรษฐีชื่อดัง ที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจค้าขายเพชร บริษัท Theva Gems
โดยมีจุดพีกอยู่ที่คืนงานครบรอบวันเกิดของเจ้าสัว ที่มีบรรดาลูกหลานและแขกคนสำคัญมาร่วมงาน
ในคืนนั้น เจ้าสัวเซอร์ไพรส์ทุกคนในงาน ด้วยการจดทะเบียนสมรสกับ “ไข่มุก” สาวน้อยที่ทำงานแม่บ้าน ให้มาเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ลูกชายทั้งสองของเจ้าสัวเกิดความไม่พอใจ ที่พ่อจดทะเบียนสมรสใหม่
แต่คืนเดียวกันนั้นเอง เจ้าสัวกลับเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย..
ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่า
กรณีที่เจ้าสัวไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ ไข่มุก ผู้เป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะได้รับมรดกหรือไม่ ?
และทายาทตามกฎหมาย จะได้รับมรดกในสัดส่วนเท่าไร ? วันนี้ลงทุนเกิร์ลจะสรุปเรื่องนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ
เริ่มจาก “พินัยกรรม” กันก่อน
พินัยกรรม เป็นกำหนดการเผื่อตายในเรื่องของทรัพย์สินของตนเอง
ซึ่งในซีรีส์นี้ มีการพูดถึงว่าเจ้าสัวได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ เมื่อยังมีชีวิต
โดยมีการเขียนพินัยกรรม ว่าจะแบ่งทรัพย์สมบัติของตนเองจำนวนเท่าไร ให้กับใครบ้าง ซึ่งจะเป็นคนในครอบครัวหรือไม่ก็ได้ สิ่งนี้เรียกว่า “ทายาทโดยพินัยกรรม”
แต่เรื่องนี้จะยุ่งยากขึ้น หากเจ้าของมรดกหรือเจ้าสัว ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้
เพราะเมื่อไม่มีพินัยกรรม คำว่า ทายาท ก็จะเปลี่ยนมาเป็นอีกแบบหนึ่งแทน นั่นก็คือ “ทายาทโดยธรรม” ตามมาตรา 1629 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งมรดกจะตกเป็นของทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ โดยเรียงตามลำดับดังนี้
1. ผู้สืบสันดาน (ลูกเจ้าของมรดก)
2. บิดามารดา
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4. พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน
5. ปู่ ย่า ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทายาททั้ง 6 ลำดับจะได้รับมรดกทุกคน
เพราะหากทายาทในลำดับต้นได้รับมรดกไปก่อน
ทายาทในลำดับรองลงมา ก็จะไม่มีสิทธิได้รับมรดก
เว้นแต่ว่า เจ้าของมรดกไม่มีทายาทลำดับก่อนหน้า ทายาทลำดับรองลงไป ถึงจะมีสิทธิได้รับมรดกต่อ
แม้ว่าลำดับทั้งหมดนี้ จะไม่มีคำว่า “ภรรยา” รวมอยู่ด้วย
แต่มาตรา 1629 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่ง มาตรา 1635 ด้วย ดังนั้นไข่มุก ที่มีฐานะเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าสัว เจ้ามรดกในเวลาตาย ถือเป็นคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ จะถูกนับเป็น “ทายาทโดยธรรม” ซึ่งมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเทียบเท่ากับผู้สืบสันดาน หรือลูกเจ้าของมรดกซึ่งยังมีชีวิตอยู่
 
เท่านั้นยังไม่พอ ไข่มุกยังมีสิทธิได้รับทรัพย์สินครึ่งหนึ่งจาก “สินสมรส” ก่อนจะได้รับมรดกอีกด้วย
โดยปกติแล้ว เราทุกคนจะมีทรัพย์สินที่ได้มาก่อนการจดทะเบียนสมรส เช่น เงินฝาก บ้าน และที่ดิน ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ เรียกว่า “สินส่วนตัว”
แต่ภายหลังจากการที่ได้จดทะเบียนสมรสแล้ว
ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้รับมาหลังจากนั้น หรือทรัพย์สินที่ถูกที่ระบุว่าเป็นสินสมรสตั้งแต่ตอนจดทะเบียน ก็จะเป็นสมบัติของทั้งสามีและภรรยา โดยเรียกว่า “สินสมรส” ซึ่งต้องแบ่งกันครึ่งหนึ่งหากการสมรสสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะด้วยการแยกทางกัน หรือคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต
และเมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต หากผู้ตายมีคู่สมรสตามกฎหมาย จะต้องมีการแบ่งสินทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นสินสมรสให้กับคู่สมรสครึ่งหนึ่งก่อน จึงจะนำส่วนที่เหลือไปเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม และคู่สมรสยังมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมต่อด้วย
แล้วไข่มุกซึ่งเป็นคู่สมรสในขณะที่เจ้าสัวซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จะได้รับสินสมรสเท่าไร
พูดให้เห็นภาพก็คือ หากเจ้าสัวมีสินสมรสรวม 900 ล้านบาท โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้
ไข่มุกซึ่งเป็นคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่จะได้รับสินสมรสส่วนของตน 50% คือ 450 ล้านบาท
ส่วนที่ 2 อีก 450 ล้านบาท ก็จะตกทอดเป็นมรดกให้แก่ทายาทต่อไป
เจ้าสัวมีลูกชายซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน 2 คน และมีไข่มุกเป็นทายาทโดยธรรม ซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนกับเป็นทายาทชั้นบุตร รวมเป็น 3 คน
ทั้ง 3 คน จะได้รับมรดกในจำนวนเท่า ๆ กัน จากมรดกทั้งหมด 450 ล้านบาท ก็คือคนละ 150 ล้านบาท
เท่ากับว่า ความจริงแล้ว ไข่มุก จะได้ทรัพย์สินในส่วนสินสมรสของเจ้าสัวทั้ง 2 ทาง นั่นก็คือ “สินสมรส” จากการเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
และ “มรดก” จากการเป็นทายาทโดยธรรม ที่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากับผู้สืบสันดาน หรือลูกเจ้าของมรดก นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ใครที่ดูซีรีส์เรื่องนี้กันจนถึงอีพีสุดท้าย
ก็จะได้คำตอบว่า ตัวละครไหนบ้างที่ได้รับมรดกไปด้วยสัดส่วนเท่าไร
โดยที่ไม่ต้องมานั่งคิดมรดกตามลำดับทายาทโดยธรรมให้ปวดหัว เพราะระดับเจ้าสัวรุ่งโรจน์ ได้วางแผนการเงินโดยการทำพินัยกรรมจัดการมรดกไว้เรียบร้อยแล้ว..
โฆษณา