24 ก.ค. เวลา 08:00 • ข่าว

BLACK SWANS TO WATCH OUT FOR: 8 UNCERTAINTIES IN 2024: 8 สัญญาณ พลิกเกม คว่ำโลก

กลุ่มสัญญาณการเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์ในอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก แแต่หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่านิยม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น โรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ สงครามโลก เป็นต้น ในทางวิจัยคาดการณ์อนาคต หรือ foresight เรียกเหตุการณ์เช่นนี้ว่า Black swan
FutureTales LAB by MQDC ทำการศึกษาอนาคตและระบุ 8 สัญญาณ Black swan เหล่านี้ ที่อาจเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2024 เพื่อเตรียมความพร้อม รับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และเห็นความเป็นไปได้เพื่อคว้าโอกาสท่ามกลางวิกฤติ
1. ความขัดแย้งไม่หยุดยั้ง (Escalation of War)
ระดับสัญญาณ: ระดับโลก
การปะทะอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นของสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง อิสราเอล-ฮามาส รัสเซีย-ยูเครน และ สหรัฐอเมริกา-จีน-ไต้หวัน นำไปสู่ผลกระทบทั้งต่อประเทศคู่ขัดแย้งเองและระดับโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาตลาดและห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มสินค้าการเกษตร โลหะ และราคาพลังงาน
และหากความขัดแย้งรุนแรงจนเกินการควบคุม อาจส่งผลกระทบลุกลามไปถึงผลกระทบด้านมนุษยธรรม การจัดการสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการเมืองโลก รวมไปถึงการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของประชากรโดยไม่จำยอมทั่วโลก เป็นต้น ปัจจุบัน มีการเปิดเผยว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันประเทศของประเทศรัสเซียมีมูลค่ามากถึงหนึ่งในสามของงบประมาณประเทศปี ค.ศ. 2024
เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ภาคธุรกิจควรพิจารณาการกระจายพอร์ตโฟลิโอการลงทนและธุรกิจ รวมถึงกำหนดแนวทางเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน ควบคุมค่าใช้จ่าย และพยายามรักษาสภาพคล่องทางการเงิน
2. วายร้ายภัยนิวเคลียร์ (Nuclear Mayhem)
ระดับสัญญาณ: ระดับโลก
เกาหลีเหนือ รัสเซีย และอิหร่าน เป็นประเทศสำคัญที่มีบทบาทสำคัญท่ามกลางสมรภูมิความขัดแย้งโลก และอาจเลือกใช้ขีปนาวุธนิวเคลียร์เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง อาวุธนิวเคลียร์จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาการปนเปื้อนกัมมันตรังสี ปัญหาความแห้งแล้งหนาวเย็นจากการปล่อยรังสี การล่มสลายเชิงเศรษฐกิจ และภัยพิบัติต่อมนุษยชาติในวงกว้างและยาวนาน
ทุกภาคส่วนจึงควรจับตามองสถานการณ์ความขัดแย้งและใช้มาตรการ เช่น การประกาศจุดยืน การประกาศข้อกำหนดการค้า เป็นต้น เพื่อโน้มน้าวไม่ให้ประเทศผู้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เลือกใช้วิธีการรุนแรงและเลือกใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา
3. ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร (Food Stress)
ระดับสัญญาณ: ระดับโลก
ปัจจุบันมีคน 2.4 พันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค โดย 90% ของพื้นที่เหล่านั้นถูกระบุว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกจากผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญ มีการประเมินว่าปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกลดลง 5% ต่อปี
และหากปรากฎการณ์เอลนีโญยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดวิกฤตภาวะทุพโภชนาการ ความหิวโหย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ความไม่สงบทางการเมือง และการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ​ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผลิตผลทางการเกษตรลดลง 30% ภายในปี ค.ศ. 2050
การสร้างความร่วมมือระดับพหุภาคีและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกัน ลดความเสี่ยง และบรรเทาความรุนแรงจากปัญหาดังกล่าว
4. โรคระบาด ไร้ระเบียบ (Pandemic Pandemonium)
ระดับสัญญาณ: ระดับโลก
มีความเป็นไปได้ที่โรคระบาดอาจกลับมาอีกครั้ง จากการบุกรุกที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การก่อการร้ายชีวภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเชื้อโรคในธารน้ำแข็งขั้วโลกซึ่งกำลังละลายและปนเปื้อนไปในมหาสมุทร ซึ่งหากเกิดการระบาดดังกล่าวขึ้น อาจส่งผลให้หลายประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโรคระบาดครั้งก่อนและยังขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และความท้าทายทางสังคมที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม
การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและการตอบสนองต่อภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนและองค์กรควรได้รับการถ่ายทอดและปฏิบัติใช้จริง ภาครัฐควรมีระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีเชิงรุกเพื่อติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมการรับมือต่อความท้าทายหลากหลายรูปแบบ
5. เทคโนโลยีป่วนโลก (Rogue Tech​)
ระดับสัญญาณ: ระดับโลก
การขาดมาตรการควบคุมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น อาจนำไปสู่การถูกโจมตีทางไซเบอร์และภัยคุกคามทางเทคโนโลยี มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2024 ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับมูลค่าความเสียหายจากการโจมตีทางไซเบอร์มากกว่า 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 68% จากปี ค.ศ. 2023 ภัยคุกคามดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการดำเนินการเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยในสถานพยาบาล เศรษฐกิจ และก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมือง
การสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นทางไซเบอร์จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งพัฒนาตลาดแรงงานที่มีทักษะในการยกระดับความมั่นคงทางไซเบอร์ องค์กรและภาคธุรกิจควรพิจารณาแนวทางการจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ของตนเองอย่างรอบคอบ
6. ปัญหาการคลัง กระเป๋าตังค์ขั้นวิกฤติ (Fiscal Crisis​)
ระดับสัญญาณ: ระดับโลก
การล่มสลายทางเศรษฐกิจและการเงินจากภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยผันผวน และการล่มสลายของสถาบันทางการเงิน อาจกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่าที่คาดการณ์ มีการพยากรณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วโลกจะอยู่ที่ 3% ในปี ค.ศ. 2024 โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงอาจส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งในสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติและส่งผลกระทบสืบเนื่องเป็นลูกโซ่ไปในระบบเศรษฐกิจ
ในสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว ทุกภาคส่วนจึงควรพิจารณาเลือกลงทุนและดำเนินกิจกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ และเน้นไปที่การบริหารเงินลงทุนเพื่อมุ่งสร้างรายได้แบบสม่ำเสมอมากกว่ากำไรส่วนต่างของราคา โดยไม่ละเลยที่จะจับตามองโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ
7. คราวอพยพเงินทุนไหลออก (Capital Flight​)
ระดับสัญญาณ: ระดับภูมิภาค
ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมาร์และกัมพูชา อาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินลงทุนต่างชาติ ปัญหาความยากจนและภาวะสมองไหลหรือการย้ายออกของแรงงานศักยภาพสูงจะส่งผลให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง และความเสื่อมโทรมทางสังคม ในปี ค.ศ. 2023 มีคนอพยพออกจากเมียนมาร์ 2.6 คน จากโครงการในประเทศกัมพูชาที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากจีน
ถึงแม้ว่าการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติในประเทศไทยอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานของไทยได้ แต่จำเป็นต้องมีการพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติในไทยให้มีความสามารถเพื่อตอบโจทย์ตลาดงานในอนาคตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ภาคธุรกิจที่มีการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่เสี่ยงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีการจัดทำแผนการรับมือต่อความเป็นไปได้ในอนาคตทุกรูปแบบเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์
8. สังคมไม่สงบ ไม่จบไม่สิ้น (Social Unrest​)
ระดับสัญญาณ: ประเทศไทย
ความขัดแย้งระหว่างผู้คนต่างช่วงวัยในประเทศไทย กลายเป็นประเด็นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อมโยงกับความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์การชุมนุมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าจับตาว่ากระบวนการและผลลัพธ์การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นอย่างไร เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกำหนดทิศทางสถานการณ์ทางการเมืองไทยต่อไป
ภาคธุรกิจจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์นัยยะสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่ออนาคตธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานของตนเอง รวมถึงเพื่อทำความเข้าใจแรงงานและผู้บริโภคของตนเองในปัจจุบันและอนาคตเพื่อการอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารองค์กรและการประกาศจุดยืนต่อสาธารณะ
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
ติดต่อเพื่อจัดอบรมหรือบริการที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะ ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และการรองรับต่ออนาคต: contact@futuretaleslab.com
#FutureTalesLAB #FuturePossible #BlackSwan #WildCard #Foresight #MQDC
โฆษณา