25 ก.ค. เวลา 01:00 • ครอบครัว & เด็ก

กิจกรรมสานสัมพันธ์พ่อ-ลูก

ลูกชายผม ‘มาวิน’ เป็นเด็กติดแม่
แม่คืออันดับหนึ่งในดวงใจเสมอ แม้พ่อเป็นอันดับสอง แต่ก็เป็นอันดับสองที่โดนทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น
บางครั้งโดนปู่กับย่าแซงจนกลายเป็นอันดับสี่ด้วยซ้ำ
แต่ช่วงหลัง ผมพบว่าพ่อเริ่มตีคู่ บางจังหวะมีแซงแม่นิด ๆ
ตีคู่ได้เพราะมี “ไนโตร” และไนโตรที่ว่าคือ เลโก้ (Lego)
ผมคิดว่าเลโก้คือกิจกรรมสานสัมพันธ์พ่อ-ลูก ด้วยเหตุผล 4 ข้อ
 
[ 1. ใกล้ชิด (ที่ไม่ใช่ยาสีฟัน) ]
เลโก้คือกิจกรรมที่ทำให้ผมใกล้ชิด เข้าใจ และอยู่ตรงนั้นกับลูก
ผมเริ่มสอนมาวินต่อเลโก้ตั้งแต่สองขวบ
จริง ๆ ใช้คำว่า ‘สอน’ ไม่ได้ ต้องใช้คำว่า ‘จับมือทำ’
ด้วยความที่มาวินยังเล็กมาก อ่านคู่มือเองไม่ได้ พ่อจึงต้องจับมือทำทั้งหมด
การสอนเด็กเล็กต่อเลโก้ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก เพราะเด็กจะไม่เข้าใจ ซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง-บน-ล่าง รวมถึงแยกความแตกต่างของชิ้นส่วนต่าง ๆ ไม่ออก
การต่อเลโก้ชุดนึงจึงใช้เวลานาน (อย่างต่ำหนึ่งชั่วโมง) และผมต้อง ‘อยู่’ กับลูกจริง ๆ
คำว่า ‘อยู่’ คือเอาโทรศัพท์ไว้ไกลตัว มือและสายตาอยู่กับเค้า และใจเย็นถึงขั้นสุด
เวลาผ่านไปช้ามาก (ในความรู้สึกผม) แต่เมื่อต่อเสร็จมาวินจะดีใจ วิ่งโร่โชว์คนในบ้าน
คนที่ดีใจกว่าคือพ่อนั่นเอง 🙂
[ 2. พังเอง ซ่อมเอง ]
หลังจากมาวินเอาไปโชว์คนในบ้านแล้ว เค้าจะเล่นอยู่แป๊ปนึง แล้วก็มีเสียงโครม
ใช่, มาวินทำพัง จงใจทำพังด้วย
ผมก็ไม่รู้ว่าทำไม แต่เค้าจะทำพัง แล้วขอให้พ่อช่วยสอนต่อใหม่อีกรอบ
แน่นอนว่าผมไม่อยาก แต่คุณไม่มีทางปฏิเสธเด็กน้อยคนนั้นได้หรอก
วันรุ่งขึ้น มาวินก็จะทำพังอีก ขอให้ผมช่วยสอนต่ออีก
และใช่, วันต่อมาก็ทำพังอีก เป็นแบบนี้อีกหลายรอบ
แต่รอบหลัง ๆ มาวินไม่ได้ขอให้พ่อช่วยแล้ว เค้าเริ่มต่อจากความทรงจำและจินตนาการของตัวเอง
แน่นอนว่าต่อไม่เหมือนเดิมหรอก แต่ผมว่าแบบนี้ดีกว่านะ 🙂
ถ้าเค้าอยากต่อให้ได้เหมือนเดิมเป๊ะ ก็จะขอให้พ่อช่วย แต่คราวนี้ผมไม่ต้องเปิดดูคู่มือ
ก็ดูมาไม่รู้กี่รอบแล้วนี่นา 😅
[ 3. My Father the Hero ]
ช่วงอายุ 2-3 ขวบ มาวินยังดูคู่มือการต่อเลโก้ไม่เป็น ผมต้องอธิบายและจับมือทำตลอด แต่ก็พยายามสอนวิธีการดูคู่มืออยู่เนือง ๆ
พออายุ 4-5 ขวบ เริ่มดูคู่มือเป็นบ้าง แต่เจ้าตัวก็ไม่ชอบดู หรือถ้าดูก็ดูแบบข้าม ๆ
ด้วยความที่เค้าเริ่มมีทักษะ เริ่มจะต่อเองได้บ้าง หลายครั้งที่ต่อเองโดยไม่ให้พ่อช่วย แต่สักพักก็พบว่าต่อขั้นตอนถัดไปไม่ได้
ที่ไม่ได้ เพราะข้ามขั้นตอนในช่วงแรก พอช่วงแรกผิด ที่เหลือก็ผิดตาม
เหมือนติดกระดุม ถ้าเม็ดแรกผิด เม็ดสองสามสี่ก็จะผิดไปด้วย
“พ่อช่วยหน่อย” ผมได้ยินเสียงนี้ประจำ
แล้วผมก็ต้องกระโดดเข้ามา ช่วยเค้าหาว่าผิดตรงไหน
พอเจอจุดผิด ก็ให้เค้าแก้จนต่อขั้นตอนถัดไปได้
“เย้ พ่อช่วยวิน” ผมกลายเป็นฮีโรในสายตาเด็กน้อย
[ 4. พ่ออยู่ตรงนี้ ห้ามไปไหน ]
ตอนนี้มาวินอายุ 6 ขวบ อ่านคู่มือเป็นแล้ว ผมแทบไม่ต้องช่วยเค้าต่อเลโก้เลย
เค้าจะเปิดดูคู่มือเอง แล้วต่อตามขั้นตอน เค้าเรียนรู้จากประสบการณ์แล้วว่าถ้าข้ามขั้นตอนใดไป ก็ต้องกลับมาขั้นตอนนั้นใหม่อยู่ดี
เค้าเริ่มชอบที่จะต่อเองทั้งหมด เริ่มไม่ชอบให้พ่อสอน
แต่.. พ่อห้ามไปไหน ต้องอยู่กับเค้าตรงนั้น
คือผมจะไปทำอะไรที่อื่นไม่ได้ ต้องอยู่กับเค้าตรงนั้น เผื่อติดอะไร จะได้ช่วยเหลือ
“พ่ออยู่ตรงนี้ ห้ามไปไหน” คือคำขอ(แกมสั่ง)ของเด็กน้อย
ผมไปไหนไม่ได้ จึงต้องหาอะไรทำ และมักใชัการอ่านหนังสือ
คือผมไม่อยากให้ลูกติดมือถือ ไม่อยากทำตัวเป็นแบบอย่าง จึงใช้วิธีอ่านหนังสือแทน
มาวินก็ต่อเลโก้ไป ผมก็อ่านหนังสือไป
เป็นภาพที่ภรรยาชินตา พ่อเอนหลังอ่านหนังสืออยู่บนเตียง ลูกชายง่วนต่อเลโก้อยู่ข้าง ๆ
โดยไม่รู้ตัว ผมรู้สึกว่าใกล้ชิดลูก และอยากให้เป็นแบบนี้จนกว่าเค้าจะโต …
ผมซื้อเลโก้ไปแล้วกี่บาทน่ะเหรอ?
จุ๊ ๆ ผมไม่บอกคุณหรอก เดี๋ยวภรรยาผมรู้ 😁
โฆษณา