Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิศวกรรีพอร์ต
•
ติดตาม
24 ก.ค. เวลา 13:00 • หนังสือ
{Book Review} สกิลขั้นเทพของนักบริหารเวลา ที่รู้ใจสมอง
ผมเคยอ่านหนังสือบริหารเวลาหลายเล่ม ชอบเล่มนี้ที่สุด!
เพราะเรียบเรียงโครงเรื่องได้ดีมาก และให้แง่คิดที่ต่างจากเล่มอื่น
ก่อนจะบอกว่า ‘แง่คิด’ ที่ว่าคืออะไร มารีวิวกันคร่าว ๆ นิดนึง 🙂
ผู้เขียนคือคุณหมอ คาบาซาวะ ชิอน (Kabasawa Zion) นักเขียนแนวจิตวิทยาชื่อดัง
(ผมเคยเขียนรีวิวไว้หลายเล่ม)
พอเห็นชื่อคุณหมอที่หน้าปก ผมกดซื้อโดยไม่ต้องคิด และก็ไม่ผิดหวัง
เทคนิคบริหารเวลาของคุณหมอไม่ใช่การรีดเค้นศักยภาพของสมอง แต่เป็นการรักษาระดับสมาธิ
ระดับสมาธิคืออะไร?
จริง ๆ คำนี้ค่อนข้างชัดเจน แต่ถ้าให้อธิบายเพิ่ม ขอใช้คำว่า ‘ความปลอดโปร่งของสมอง’
ถ้าสมองปลอดโปร่ง หรือมีระดับสมาธิสูง เราจะทำงานได้มีประสิทธิภาพสูง
ถ้าสมองเบลอมึน หรือมีระดับสมาธิต่ำ เราจะทำงานได้มีประสิทธิภาพต่ำ
การรักษาระดับสมาธิให้สูงตลอดทั้งวัน (ในหนังสือใช้คำว่า ‘รีเซ็ตสมาธิ’) คือกุญแจสำคัญ
แล้วจะทำยังไง?
[ 1. ให้ความสำคัญกับตอนเช้า ]
ตอนเช้าคือช่วงเวลาที่สมองปลอดโปร่งที่สุด โดยเฉพาะ 2-3 ชั่วโมงหลังตื่นนอน คือช่วงเวลาทองที่ต้องตักตวง
การทำงานในช่วงนี้ให้ประสิทธิภาพสูงกว่าเวลาอื่นถึง 4 เท่า
แปลว่า ถ้าทำงาน 2 ชั่วโมงในตอนเช้า ได้งานเทียบเท่า 8 ชั่วโมงในตอนบ่าย
ทุกคนรู้ว่าตอนเช้าคือเวลาทอง แต่ปัญหาคือตื่นไม่ไหว 😭
เทคนิคที่ทำให้ตื่นเช้าได้คือ
< 1.1 อาบน้ำ >
เมื่อเราอาบน้ำ การทำงานของสมองจะเปลี่ยนจากระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (ระบบที่ทำงานในเวลากลางคืน) เป็นระบบประสาทซิมพาเทติก (ระบบที่ทำงานในเวลากลางวัน)
เมื่อร่างกายใช้ระบบซิมพาเทติก อุณหภูมิจะสูงขึ้น จังหวะการเต้นของหัวใจและการหายใจจะถี่ขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ
ในทางกลับกัน เมื่อร่างกายใช้ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก อุณหภูมิของร่างกายจะลดลง จังหวะการเต้นของหัวใจและการหายใจจะน้อยลง เตรียมพร้อมเข้าสู่การนอนหลับ
(ผมจำง่าย ๆ ว่ากลางวันไม่มีพารา 😁)
การที่เรารู้สึกไม่ค่อยตื่นในตอนเช้า เพราะระบบประสาทพาราซิมพาเทติกยังทำงานอยู่
ทางแก้ง่าย ๆ คือเพิ่มอุณหภูมิให้ร่างกายโดยการอาบน้ำอุ่น
ใช่, แค่อาบน้ำอุ่น 5 นาที สมองจะเปลี่ยนจากระบบประสาทพาราซิมพาเทติกเป็นระบบซิมพาเทติกอย่างสมบูรณ์
< 1.2 เปิดม่าน >
แม้การอาบน้ำจะทำให้ตื่น แต่ปัญหาคือลุกจากเตียงไม่ไหว
ทางที่ทำให้ลุกจากเตียงได้คือ นอนแบบเปิดม่าน (เปิดแง้ม ๆ ก็ได้)
เพราะเมื่อแสงแดดส่องมาทางหน้าต่าง สารสื่อประสาทที่ชื่อว่าเซโรโทนินจะถูกกระตุ้นให้ทำงาน
เซโรโทนินคือผู้ควบคุมจังหวะของร่างกาย
ร่างกายจะหลั่งเซโรโทนินในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น หลั่งน้อยลงในช่วงบ่าย และหยุดหลั่งในช่วงหลับ
เมื่อลืมตาตื่นในตอนเช้า ปริมาณเซโรโทนินในสมองจะอยู่ในปริมาณเกือบศูนย์ ทำให้ไม่อยากตื่น
แต่ถ้านอนแบบเปิดม่าน เมื่อแสงแดดส่องเข้ามา แม้ยังหลับตาแต่ก็มีแสงกระทบมาที่จอประสาทตา ทำให้เซโรโทนินค่อย ๆ ก่อตัวช้า ๆ
พอลืมตาตื่น ปริมาณเซโรโทนินก็เพิ่มขึ้นถึงระดับนึง ทำให้ตื่น (แล้วไปอาบน้ำอุ่น) ได้นั่นเอง 😊
< 1.3 เคี้ยวช้า >
นอกจากกระตุ้นเซโรโทนินด้วยการโดนแสงแดดแล้ว อีกวิธีที่ช่วยคือ ทำกิจกรรมเข้าจังหวะ เช่น เดิน วิ่งจ๊อกกิ้ง ฝึกเปล่งเสียง (เป็นเวลา 5 นาทีขึ้นไป)
แต่ตอนเช้าเราคงไม่มีเวลาทำกิจกรรมเหล่านี้ (แค่ลุกจากเตียงยังยากเลย 😭)
วิธีที่ง่ายกว่าคือ การเคี้ยวอาหารช้า ๆ
การเคี้ยวก็กระตุ้นเซโรโทนินได้ดี เพราะเมื่อเคี้ยวอาหาร กล้ามเนื้อบริเวณกรามจะยืดและหดตามจังหวะ ให้ผลลัพธ์คล้ายกิจกรรมเข้าจังหวะ
ควรเคี้ยวให้ละเอียด
คำว่า ‘ละเอียด’ คือ เคี้ยว 20 ครั้งต่อคำ
ฟังดูเหมือนง่าย แต่ผมลองแล้ว เหมือนเคี้ยวเอื้องเลยแฮะ 😅
[ 2. ใช้นาฬิกาจับเวลา ]
ผมมักมีพลังพิเศษตอนใกล้ส่งงาน
ยิ่งใกล้ส่งงานเท่าใด สมองจะคิดอะไรออกเยอะมาก ประสิทธิภาพสูงปรี๊ด
สมัยเรียนก็เช่นกัน อาจารย์ให้เวลา 2 เดือน ทำจริง 2 วัน เอาตัวรอดได้ทุกครั้งไป
คุณเคยมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันใช่ไหมครับ 😁
เรื่องนี้มีคำอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมอง
เมื่อถูกบีบคั้น สมองจะหลั่งสารที่ชื่อว่านอร์-อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สารตัวนี้คือพลังพิเศษที่ว่า
มนุษย์เราถูกออกแบบให้สร้างผลงานได้ดีที่สุดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์บีบคั้น ถ้าเราจับจุดนี้ได้ เราก็สามารถรีดศักยภาพของตัวเองได้
วิธีง่าย ๆ คือจับเวลา
ใช่, จับเวลาทำงานนี่แหละ
และควรจับเวลาโดยใช้นาฬิกาจับเวลา (ไม่ควรดูเวลาที่นาฬิกาข้อมือหรือโทรศัพท์มือถือ)
ถามตัวเองก่อนว่างานนี้ต้องใช้เวลานานแค่ไหน เช่น 45 นาที ก็กดจับเวลา 45 นาที
แล้วมันจะเสร็จจริง ๆ แถมเสร็จแบบมีคุณภาพ
ตอนแรกผมไม่เชื่อ แค่จับเวลามันจะไปช่วยได้ยังไง?
ผมจึงไปซื้อนาฬิกาจับเวลาจาก Shopee (ราคาประมาณ 300 บาท, นาฬิกาในภาพประกอบบทความ)
แล้วลองทำงานโดยจับเวลา ปรากฏว่างานเสร็จจริง ๆ !
ถ้าคุณเลือกทำตามบทความนี้ได้หนึ่งอย่าง ผมอยากให้ใช้นาฬิกาจับเวลา แล้วคุณจะพบว่ามันได้ผลจริง ๆ 😊
ถ้าจับเวลา เราจะเห็นชัดเจนว่าเหลือเวลาแค่ไหน สมองจะเค้นทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ยิ่งใกล้หมดเวลา งานยิ่งไหลออกมาเยอะ
และถ้าเสร็จแบบฉิวเฉียด
บอกเลย สุดยอด!
[ 3. รักษาระดับสมาธิในตอนบ่าย ]
ช่วงบ่ายเป็นช่วงที่ระดับสมาธิลดลงตามธรรมชาติ แต่เราก็มีเทคนิคปรับระดับสมาธิให้สูงขึ้นได้ เช่น ออกกำลังกาย หรืองีบหลับ
การออกกำลังกายเพียง 10 นาที จะทำให้มีสมาธิไปอีก 90 นาที
ถ้าไม่สะดวกไปฟิตเนส อาจวิ่งขึ้น-ลงบันไดก็ได้
ถ้าไม่มีพื้นที่ อาจทำสควอชช้า ๆ (5 ครั้งใน 1 นาที) ก็ได้
[ 4. พักก่อนที่จะล้า ]
เวลาล้า เรามักจะฝืน และทำต่อไปโดยคิดว่าเดี๋ยวก็หาย นั่นคือวิธีที่ผิด
โดยปกติแล้วระดับสมาธิจะลดลงในช่วงบ่าย เราจึงควรพัก และควรพักจริง ๆ
วิธีการพักที่แย่ที่สุดคือการไถมือถือ เพราะนอกจากไม่ได้พักแล้ว ยังทำให้สมองอ่อนล้า
การพักที่ดีที่สุดคือการงีบหลับ ควรงีบหลับให้ได้ 30 นาที
อาจดื่มกาแฟก่อนงีบก็ได้ เมื่อตื่นขึ้นมา คาเฟอีนก็ออกฤทธิ์พอดี ร่างกายจะสดชื่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
[ 5. ถ้างีบหลับไม่ได้ ควรพักยังไง? ]
พักยังไงก็ได้โดยปิดประสาทการมองเห็น
เช่น ฟังดนตรี กินอาหารอร่อย ดมกลิ่นเครื่องหอม เข้าซาวน่า ฟังเสียงน้ำไหล อาบแดดอุ่น ๆ
กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ใช้ประสาทการมองเห็น แต่เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสอื่น เพื่อนำไปสู่การพักผ่อนที่แท้จริง
ถ้าอยู่ออฟฟิศแล้วทำกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ วิธีที่ง่ายที่สุดคือ หลับตา
ใช่, แค่หลับตาเพื่อหยุดรับรู้ข้อมูลทางสายตา สมองก็จะเข้าสู่โหมดพักผ่อนโดยอัตโนมัติ
อันที่จริงแล้ว ยังมีวิธีพักสมองที่ดีกว่าหลับตา นั่นคือ การทำสมาธิ
ผมมักพักกลางวันด้วยการนั่งสมาธิเสมอ
ด้วยความที่เป็นคนนอนยาก นอนกลางวันไม่หลับ จึงใช้วิธีนั่งสมาธิแทน
หลังข้าวเที่ยง ผมจะนั่งสมาธิ 15-20 นาที หรือถ้าวันไหนสมาธิดี ก็ซัดไป 30
ผลที่ได้คือดี เพราะตอนนั้นมันง่วงอยู่แล้ว การนั่งสมาธิทำให้ผ่านช่วงนั้นไปได้ ลืมตามาก็รู้สึกสดชื่น 🙂
[ 6. ‘แง่คิด’ ที่แตกต่างจากเล่มอื่น ]
หนังสือเล่มอื่นมักพูดถึงเทคนิคที่ทำให้ทำงานได้เยอะขึ้น เร็วขึ้น นานขึ้น
หนังสือเล่มนี้ก็สอนเทคนิคที่ทำงานได้เยอะขึ้น เร็วขึ้น แต่ไม่ได้บอกให้ทำงานนานขึ้น
ในทางตรงข้าม กลับบอกว่า ถ้ามีเวลาเพิ่มขึ้น (จากการใช้เทคนิคในหนังสือ) ไม่ควรเอาไปทำงาน
เพราะถ้าเอาไปทำงาน ก็จะเข้าสู่วงจรอุบาทว์ สุดท้ายก็จบลงที่การไปพบจิตแพทย์
ทางที่ถูกต้องถือ เอาเวลาที่เพิ่มขึ้นไปพัฒนาตัวเอง และเติมพลังให้ตัวเอง
พัฒนาตัวเอง คือทำให้ตัวเองเก่งขึ้น ทั้งทักษะที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับงาน
เติมพลังให้ตัวเองคือ ใช้เวลาไปกับความบันเทิงและผ่อนคลาย
ความบันเทิง ควรเป็น ‘ความบันเทิงแบบมีส่วนร่วม’ นั่นคือความบันเทิงที่ต้องลงมือทำไปด้วย
เช่น อ่านหนังสือ เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ
ความบันเทิงที่ไม่ใช่ ‘ความบันเทิงแบบมีส่วนร่วม’ คือการดูโทรทัศน์และการไถมือถือ เพราะนั่นคือความบันเทิงเชิงรับ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเฉื่อยชา
นอกจากความบันเทิงแบบมีส่วนร่วมแล้ว อาจเอาเวลาที่ได้ไปทำกิจกรรมแบบผ่อนคลาย เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง สนทนากับคนในครอบครัว ฟังดนตรี คิดเรื่อยเปื่อย
โดยเฉพาะก่อนนอน ควรเป็นเวลาที่ใช้กับกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อลดระดับสมาธิให้เหลือศูนย์ เพิ่มคุณภาพการนอนหลับ และเพื่อทำงานได้เต็มประสิทธิภาพในวันถัดไป
นี่คือสารที่ผู้เขียนต้องการสื่อ ซึ่งผมเห็นด้วยมาก ๆ
โดยรวมแล้วเป็นอีกเล่มที่ชื่นชอบ ชอบจนมาเขียนรีวิวนี่แหละ
ใช่, ตอนเขียนรีวิวจับเวลาด้วย 😊
3 บันทึก
2
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย