24 ก.ค. เวลา 10:27 • กีฬา

สุเบญรัตน์ อินแสง : เส้นทางลุยโอลิมปิกสมัย 3 ของราชินีขว้างจักร (ที่ไม่ใช่จักรเย็บผ้า) | Main Stand

“ทุกครั้งที่มีคนถามเล่นกีฬาอะไร ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาคือจักรเย็บผ้าหรอ? หนูก็จะอธิบายว่าอยู่ในกีฬากรีฑา ของหนูเป็นขว้างจักร เป็นกีฬาที่ทั้งให้โอกาส ให้อนาคต ให้ด้านการศึกษา มีการเรียนฟรี และอาชีพที่มั่นคงนะ”
คำพูดเปิดอกของ “เบญ” สุเบญรัตน์ อินแสง แสดงถึงความนิยมอันน้อยนิดของกีฬาชนิดนี้เป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นเธอยังคงมุ่งมั่นต่อสู้บนเส้นทางของตัวเองมานานกว่า 15 ปี จนก้าวขึ้นเป็น “ราชินีขว้างจักรของไทย” และเตรียมลงชิงชัยในศึกโอลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 3 ซึ่งมีนักกีฬาน้อยรายจะทำได้
เธอเลี้ยงชีพด้วยกีฬาชนิดนี้ได้อย่างไร และเป้าหมายในปารีสเกมส์ครั้งนี้คืออะไร ติดตามได้ที่นี่
จากวอลเลย์บอลสู่กรีฑา
กีฬาขว้างจักรไม่ใช่กีฬาชนิดแรกที่สุเบญรัตน์เลือกเล่นและเธอแทบจะไม่รู้จักมันมาก่อนเลยด้วยซ้ำ โดยสมัยเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนบ้านบางสาน สาวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเลือกเล่นวอลเลย์บอลเป็นสิ่งแรก เนื่องจากด้วยรูปร่างที่สูงใหญ่กว่าเพื่อนร่วมรุ่น อายุเพียง 14 แต่สูงถึง 178 ซม. จึงคิดว่าจะเป็นข้อได้เปรียบ
“เพื่อน ๆ ในโรงเรียนเล่นกันหนูก็เล่นตามด้วย แต่เล่นไปประมาณปีกว่า ๆ ก็เริ่มมองว่ามันไม่เหมาะกับเรา มันเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม ต้องมีความสามัคคีไปในทิศทางเดียวกัน ต้องพูดคุยสื่อสารกันตลอด บางครั้งเกิดความไม่เข้าใจกันก็มี”
“ที่สำคัญเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง เพราะโรงเรียนที่หนูอยู่ในอำเภอพนมมันค่อนข้างชนบท ไม่มีคนที่จะเข้ามาซัปพอร์ทว่าเราควรจะไปทางนี้นะ ต้องทำยังไงถึงจะได้ไปติดทีมชาติหรือว่าระดับประเทศได้ เลยเลิกดีกว่า”
“เลิกเล่นไปได้สักพัก วันนึงมีคุณครูพละจำเริญ สืบโดด มองว่าเราน่าจะมาเล่นกรีฬาประเภทลานได้ เลยให้มาลองเล่นทุ่มน้ำหนักก่อน เราไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้วเลยมาลองเล่นดู”
“ตอนแรกก็ไม่ได้ชอบนะ แต่เล่นไปเล่นมาแล้วเราทำผลงานได้ดี ไปแข่งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ก็ได้ที่ 1 เพราะเรามีรูปร่างสูงใหญ่บวกกับมีแรงด้วย เลยทุ่มได้ไกลกว่าคนในรุ่นเดียวกัน” เบญ ย้อนความหลังเมื่อครั้งอดีต
แม้จะทำผลงานได้ดีขนาดไหน แต่เบญก็รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ต่างจากสมัยตอนเล่นวอลเลย์บอล เพราะถึงแม้จะคว้าชัยชนะมาก็มีเพียงแค่การจัดเลี้ยงยินดีให้กับนักกีฬาเท่านั้น ไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหนต่อ
กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อเธอลงแข่งรายการระดับจังหวัดแล้วมีแมวมองจากหลากหลายแห่งมาซุ่มดูฟอร์มเพื่อที่จะสรรหานักกรีฑาแต่ละประเภทเข้าสังกัด โดยหนึ่งในนั้นคือโรงเรียนท่าอุแทพิทยา จากอำเภอกาญจนดิษฐ์
ด้วยผลงานและสรีระโดดเด่นทำให้เบญถูกทาบทามให้ย้ายมาเรียนที่นี่ ซึ่งเธอก็ตอบรับคำเชิญในทันที เพราะท่าอุแทพิทยาคือโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านการสนับสนุนกรีฑา โดยมีทั้งศูนย์ฝึกรีฑาและสนามที่พร้อมสำหรับการฝึกซ้อมอยู่ในโรงเรียน
การย้ายข้ามอำเภอมาเรียนที่โรงเรียนใหม่ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักกีฬาขว้างจักรของเธอเลยก็ว่าได้
ขว้างจักรเลี้ยงชีพ
หลังย้ายมาเรียนที่โรงเรียนท่าอุแทพิทยา เบญได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่ พร้อมได้มีโอกาสไปแข่งขันรายการต่าง ๆ จากที่เคยลงแข่งแค่ในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัด ก็ได้เลื่อนขั้นสู่ระดับประเทศในรายการเยาวชนแห่งชาติ ที่จังหวัดกาญจนบุรี
“เราก็ฝึกซ้อมของเราปกติ ตอนไปแข่งก็ไม่ได้ตั้งเป้าอะไรมาก รู้สึกเหมือนเป็นเด็กน้อยอยากไปเที่ยวมากกว่า แล้วยังมีเงินเบี้ยเลี้ยงด้วย 500 บาท สมัยนั้นตื่นเต้นมาก ได้เที่ยวด้วยได้เงินด้วย มันเป็นแรงจูงใจมาก”
เด็กสาวเริ่มมองเห็นอนาคตอันสดใสมากขึ้น ซึ่งรายการนี้นอกจากจะลงแข่งทุ่มน้ำหนักแล้วทางโรงเรียนยังส่งชื่อเธอลงแข่งขว้างจักรด้วยอีกรายการ ซึ่งแม้จะไม่เคยเล่นมาก่อนแต่เธอก็ทำผลงานได้ดีด้วยการคว้าอันดับ 2 ทั้งสองชนิดกีฬา
เมื่อจบการแข่งขันเธอจึงเริ่มฝึกซ้อมขว้างจักรควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะเทคนิคการหมุนตัวขว้างที่เธอยังไม่คุ้นชิน จนวันที่สมาคมกีฬากรีฑาฯ เปิดคัดเลือกนักกีฬาเพื่อเข้าแข่งขันรายการเอเชียน ยูธ เกมส์ ปี 2009 ที่สิงคโปร์ เบญจึงเข้าร่วมคัดเลือกและได้ติดเยาวชนทีมชาติในที่สุด
จากวันนี้ตำนานราชินีขว้างจักรไทยก็ได้เริ่มต้นขึ้น … เบญค่อย ๆ ไต่เต้าจากเยาวชนทีมชาติจนก้าวสู่การติดทีมชาติชุดใหญ่ และมีชื่อลงแข่งซีเกมส์เป็นครั้งแรกในปี 2011 ที่อินโดนีเซีย ก่อนจะคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ พร้อมทำลายสถิติของรายการที่ระยะ 52 เมตร
“นักกีฬาทุกคนมองว่าซีเกมส์เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าได้เหรียญทองก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วในอาเซียน ที่สำคัญมีเงินรางวัลมากขึ้นด้วย จากเดิมอยู่ในชุดเยาวชน เราจะได้ 100,000 บาท หรือ 150,000 บาท ไม่เกินนี้ แต่ซีเกมส์เหรียญทองได้ 200,000 บาท ไม่รวมเงินเดือนระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อมอีก มันเป็นแรงจูงใจและแรงผลักดันที่ดี”
ถึงวันนี้ผ่านมา 13 ปี เบญได้สถาปนาตัวเองเป็นราชินีขว้างจักรของอาเซียนเป็นที่เรียบร้อย จากผลงานการคว้า 7 เหรียญทองซีเกมส์จากการลงแข่ง 7 สมัย พร้อมครองสถิติขว้างไกลสุดของรายการที่ 60.33 เมตร และสถิติประเทศไทย 61.97 เมตร
พร้อมกันนี้ยังคว้าเหรียญเงินชิงแชมป์เอเชีย 1 สมัยและเหรียญทองแดงอีก 2 สมัย รวมถึงผ่านการลงแข่งเอเชียนเกมส์มาแล้ว 3 สมัย ซึ่งเธอคว้าอันดับ 4 พลาดเหรียญอย่างฉิวเฉียดตลอดทั้ง 3 ครั้ง โดยเป็นรองเพียงจีนและอินเดีย
ที่สำคัญยังเป็นนักกีฬาขว้างจักรคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้ลงแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ โดยคว้าตั๋วมาแล้ว 3 สมัย
ผลงานเหล่านี้เองได้กลายเป็นโปรไฟล์ให้เธอต่อยอดสู่อาชีพที่มั่นคง นั่นคือการบรรจุเข้ารับราชการเป็นตำรวจยศสิบตรีหญิง สังกัดกองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2019 โดยปัจจุบันเลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกหญิงแล้ว
“ตั้งแต่เริ่มเล่นขว้างจักร เราตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำในสิ่งนี้ยังไงไม่ให้เหนื่อยฟรี ๆ ทุกอย่างมันเลยดำเนินมาด้วยเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่ต้น เช่น เราไปแข่งรายการนี้ผลตอบแทนจะได้อะไรบ้าง หรือปีนี้เราอยู่ในโครงการซีเกมส์ ปีนี้อยู่ในโครงการเอเชียนเกมส์ มันเป็นแรงผลักดันเราไปทุก ๆ ปี มองแบบปีต่อไปทีละสเต็ป”
“พอถึงจุดหนึ่งเป้าหมายของเราต้องมีอนาคตที่มั่นคงด้วย เราเหนื่อยแล้วเราต้องมั่นคงด้วย ซึ่งเราเห็นรุ่นพี่หลายคนได้รับราชการ เราก็มีความใฝ่ฝัน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมาพร้อมกับผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ คว้าเหรียญทองอะไรมาแล้วบ้างกี่สมัย ได้ไปโอลิมปิกมาแล้วกี่ครั้ง ต้องมีคุณสมบัติที่ชัดเจนที่จะนำพาเราไปสู่อาชีพที่มั่นคง”
“หนูภูมิใจที่เลือกเส้นทางนี้ ทุกครั้งที่มีคนถามเล่นกีฬาอะไร ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาคือจักรเย็บผ้าหรอ? หนูก็จะอธิบายให้ฟังว่าอยู่ในกีฬากรีฑา ประเภทลาน จะมีทุ่ม พุ่ง ขว้าง ของหนูเป็นขว้างจักร เป็นกีฬาที่ทั้งให้โอกาส ให้อนาคต ให้ด้านการศึกษา มีการเรียนฟรี และอาชีพที่มั่นคงนะ”
“ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน มีระเบียบวินัย มีความตั้งใจ ทุกอย่างเป็นจริงได้ หนูคิดว่าความพยายามใคร ๆ ก็พยายามได้ แต่ให้ผ่านความอดทนหนูคิดว่ายากยิ่งกว่า” เบญ เผยด้วยสีหน้าแห่งความปลื้มปิติก่อนมุ่งสมาธิลุยศึกโอลิมปิกสมัยที่ 3
โอลิมปิกสมัยที่ 3
ในวัย 30 ปี สุเบญรัตน์เตรียมลงชิงชัยในศึกโอลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 3 ซึ่งแม้ว่า 2 ครั้งแรกจะไม่สามารถผ่านเข้าสู่รอบไฟนอลได้ แต่เธอก็ภูมิใจกับผลงานของตัวเอง โดยครั้งแรกที่ ริโอ 2016 คว้าอันดับ 24 ระยะ 56.64 เมตร ส่วนที่โตเกียว 2020 ได้อันดับ 19 ระยะ 59.23 เมตร
“เส้นทางกว่าที่เราจะเข้าร่วมโอลิมปิกได้มันก็ยากมากแล้ว กว่าที่จะควอลิฟายผ่านเกณฑ์ได้มันก็ภูมิใจแล้ว ภูมิใจกับตัวเองที่สามารถฟันฝ่าทุกอุปสรรค บางสนามร่างกายไม่พร้อม บางสนามเจอฝนตกหนัก แต่เรายังผ่านมันมาได้”
“พอวันที่ได้ลงไปแข่งในสนามจริง ๆ มันยิ่งตื่นเต้น ได้เจอนักกีฬาเก่ง ๆ ทั่วโลก มันทำให้รู้สึกว่าเราตัวเล็กไปเลย จากที่อยู่ในซีเกมส์เรารู้สึกตัวใหญ่ เอเชียนเกมส์ก็เล็กลงมานิดนึง แต่โอลิมปิกนี่คือเล็กลงมากเลย ระดับโลกมันเป็นอย่างนี้นี่เอง พอสามารถทำสถิติออกมาได้ตามมาตรฐานตัวเองก็ยิ่งพอใจ” เบญ กล่าวพร้อมรอยยิ้ม
ปารีสเกมส์ครั้งนี้แน่นอนว่าเธอยังคงเป็นรองในระดับโลกอยู่พอสมควร โดยเธอได้โควตาเข้าร่วมแข่งขันอย่างเฉียดฉิว หลังมีคะแนนสะสมรั้งอันดับ 33 ของโลก ก่อนจะมีนักกีฬาถอนตัวจนตั๋วตกมาอยู่ในมือ
อย่างไรก็ตามหากสามารถทำผลงานได้ตามสถิติของตัวเอง 61.97 เมตร ก็มีโอกาสสูงที่จะผ่านเข้าสู่รอบไฟนอล 12 คนสุดท้ายได้ โดยอันดับสุดท้ายที่ผ่านเกณฑ์ในโอลิมปิก 2 ครั้งหลังสุดอยู่ที่ 60.23-61.52 เมตร ซึ่งเธอจะลงแข่งรอบคัดเลือกวันที่ 2 สิงหาคมนี้
“ตอนนี้พร้อม 100% แล้วทั้งร่างกายและจิตใจ เป้าหมายครั้งนี้อยากจะทำลายสถิติประเทศไทยให้ได้อีกครั้ง” สุเบญรัตน์ ทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ
บทความโดย : ชมณัฐ รัตตะสุข
โฆษณา