25 ก.ค. เวลา 04:14 • ธุรกิจ

ทำความรู้จักตลาดคาร์บอนเครดิต เครื่องมือช่วยบริษัท ลดปล่อยมลพิษ ผ่านระบบซื้อขาย

คาร์บอนเครดิต กลไกช่วยองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยมีการซื้อขายคาร์บอนแบบสมัครใจ ผ่าน T-VER มาตั้งแต่ปี 2557 กำลังพัฒนาสู่ Premium T-VER อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการค้ากับต่างประเทศ เพื่อให้นานาประเทศยอมรับมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตเทียบเคียงมาตรฐานสากลนี้ ระบุไทยมีศัยภาพสู่ฮับตลาดคาร์บอนเครดิตอาเซียน
ถึงแม้ว่าบริษัทต่าง ๆ พยายามมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
แต่ก็ต้องยอมรับว่าการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) จึงเข้ามาเป็นกลไกสำคัญ ในการ ‘ชดเชย’ ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา เสมือนการ ‘ล้างบาป’ จากการทำกิจกรรมทำร้ายโลก นั่นเอง
โดยนิยามของ ‘คาร์บอนเครดิต’ คือ การลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้จากการดำเนินโครงการ ซึ่งองค์กรนั้น ๆ สามารถดำเนินการในได้เอง หรือ สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ไดรับการรับรองคาร์บอนเครดิต เช่น โครงการปลูกป่า โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น กลายเป็นที่มาของตลาดคาร์บอนเครดิต
ย้อนรอยก่อนจะเกิดตลาดคาร์บอน
จากจุดเริ่มต้นปฏิวัติอุตสาหกรรม
เมื่อโลกเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ในภาคเกษตรกรรม การทำเหมืองแร่ การผลิต การขนส่งคมนาคม จึงทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัด พร้อม ๆ กับปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ทั่วโลกเกิดความกังวล และหลายประเทศได้เข้าร่วม ‘พิธีสารเกียวโต’ (Kyoto Protocol) เพื่อพิจารณาหาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ต่อมา ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ก็เป็นอีกหนึ่งความตกลงที่มีเป้าหมายในการลดลดก๊าซเรือนกระจก
และเริ่มมีกำหนดหลักการซื้อขายก๊าชเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่เหลือให้กับคนอื่นได้ จนเกิดคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ ขึ้นมา และถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย
ตลาดคาร์บอนมี 2 ประเภท
ประเทศไทยได้จัดตั้ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) ขึ้นในปี พ.ศ. 2550 เพื่อบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการรับรองเกี่ยวกับตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันมีตลาด 2 ประเภท ได้แก่
ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) เป็นตลาดที่มีกฏหมายและกฏระเบียบ โดยภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับเป็นผู้ดูแล
ตลาดนี้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ มีวิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายกำกับอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หากใครสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกในส่วนที่ปล่อยต่ำกว่าเกณฑ์ไปขายให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้หรือเรียกว่าระบบ Emission Trading Scheme (ETS) และระบบ Cap and Trade
ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีกฏหมายมาเกี่ยวข้องหรือบังคับ แต่เป็นตลาดที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการ องค์กร ด้วยความสมัครใจ
มีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้ และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวเพื่อทำให้ตนเองได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด
ตลาดคาร์บอนในไทย
เป็นภาคสมัครใจ
ในส่วนของประเทศไทย มีการซื้อขายในระบบ ETS เช่นเดียวกันแต่เป็นภาคสมัครใจ โดยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยชื่อว่า Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) ซึ่งเป็นโครงการที่ อบก. พัฒนาขึ้นตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2557
เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ นำไปใช้ในการรายงานผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยน หรือซื้อขายภายในประเทศ ทั้งนี้ อบก. จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ รวมถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ไทยยังไม่มีกฏหมายดูแลตลาดคาร์บอน
รอคลอด พ.ร.บ.โลกร้อน
อย่างไรก็ตาม อบก. , เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยและศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัพเดทสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย พร้อมแนวโน้มตลาดในอนาคต ผ่านงานวิจัย “The 2024 Thailand’s Voluntary Carbon Market”
โดยในงานวิจัย ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้นสามารถทำได้โดยเสรี เมื่อปีพ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้จัดทำประกาศแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
ในประกาศดังกล่าวจะครอบคลุมการซื้อขายและการใช้คาร์บอนเครดิต เพื่อวัตถุประสงค์ภายในประเทศและระหว่างประเทศ จากนั้น อบก.ได้ออกระเบียบคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อการขายและการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2565 และหลักเกณฑ์การพิจารณาทำความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอน
โดยคณะองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป็นแนวทางปฎิบัติที่ดีให้กับผู้เล่นในตลาดทางด้านอุปสงค์ และอุปทาน เช่น ผู้พัฒนาโครงการผู้ซื้อตัวกลางการซื้อขายนักลงทุนผู้พัฒนาศูนย์ซื้อขาย เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมยังอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา เป็นการยกระดับด้านการดำเนินงานของประเทศจากภาคสมัครใจเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคบังคับ ผ่านการใช้กลไกราคาคาร์บอน รวมถึงสร้างความโปร่งใสให้กับตลาดมากยิ่งขึ้น
ติดตามอ่านข่าวทั้งหมดได้ที่ลิงก์
#ตลาดคาร์บอน
#คาร์บอนเครดิต
#อบก
#ก๊าซเรือนกระจก
#ธนาคารกสิกรไทย
#ซื้อขายคาร์บอน
#ESGUNIVERSE
โฆษณา