Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
17 ส.ค. 2024 เวลา 00:00 • หนังสือ
บทความ Blockdit ตอน เสืออยู่ในห้อง (1) เมื่อความกลัวมีมากเกินไป
งานวิจัยหลายสำนักหลายสถาบันสรุปตรงกันว่าอาชีพนักเขียนศิลปิน นักดนตรีคนทำงานสร้างสรรค์มีเปอร์เซ็นต์ประสบปัญหาจิตตก ซึมเศร้าสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ตัวเลขนักเขียนทั่วโลกที่ฆ่าตัวตายสูงมาก
4
หากถามผมในฐานะนักเขียนอาชีพว่าจริงไหม ผมไม่สามารถสรุปแทนนักเขียนคนอื่นได้ แต่ตอบสำหรับตัวเองได้ว่าใช่ ผมอยู่ในกลุ่มเปอร์เซ็นต์คนจิตตกประสบปัญหาจิตตกมาหลายสิบปี เคยซึมเศร้าในระดับหนึ่ง แม้ไม่ถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย แต่ก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ทรมาน ไม่มีความสุข
2
มองโลกไม่งดงาม ท้องฟ้าไม่สดใส
ทำไมเป็นเช่นนั้น?
1
หากจะตอบในมุมมองเรื่องงาน อาชีพนักเขียนคือหมาป่าเดียวดาย (lone wolf) คิดคนเดียว อยู่กับความคิดของตนเอง วันแล้ววันเล่า นักเขียนไม่น้อยมองโลกในแง่ร้าย (อาจเพราะมีแต่มองโลกในแง่ร้ายจึงจะสามารถหาเรื่องมาเขียนได้) ใครก็ตามที่ผ่านชีวิตแบบนี้ย่อมไม่แปลกหากจะเกิดอาการจิตตกหรือซึมเศร้า
2
ผมเคยคิดเล่นๆ ว่าบางทีการมีความคิดสร้างสรรค์ก็มีราคาที่ต้องจ่าย
1
นั่นคือภาวะจิตตก!
1
เมื่อมองขำๆ ว่าอาการจิตตกคือป้ายราคาของการความคิดสร้างสรรค์ ก็จะไม่บ่น
ก่อนอื่น การใช้คำว่า ‘จิตตก’ ในบทความนี้ ผมหมายถึงอาการด้านลบทางจิตทั้งหมด
ความหงุดหงิด การไม่มีความสุข panic attack ไปจนถึงอาการซึมเศร้า (depression)
2
แต่ความจริงอาจไม่ใช่การทำงานแบบคิดทั้งวันทำให้จิตตก เพราะนักเขียนไม่ใช่อาชีพเดียวที่ประสบปัญหานี้ และเราก็อาจโทษอาชีพอย่างเดียวว่าเป็นสาเหตุของภาวะจิตตกไม่ได้ มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เราจิตตก ระดับความรุนแรงต่างกันออกไป
1
บางครั้งวิถีชีวิตบางอย่างอาจเอื้อต่อการเกิดสถานการณ์จิตตก เช่น อยู่คนเดียวนานเกินไปนอนไม่พอ กินอาหารไม่ดี และอาจเป็นปัจจัยอื่นๆ เช่นกัน เช่น พันธุกรรม โครงสร้างสมอง อาการพฤติกรรม นิสัย สิ่งแวดล้อม ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ฯลฯ
1
ในปี 2019 องค์การอนามัยโลกให้ตัวเลขคนจิตตกและซึมเศร้าประมาณ 1 ในทุก 8 คน ก็ประมาณ 970 ล้านคน อาการที่พบมากที่สุดคือซึมเศร้า
มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าโลกเรามีคนจิตตกมากขนาดนี้ บางทีมันเป็นอาการที่ค่อนข้าง ‘ปกติ’ หรือ ‘ธรรมดา’ เหมือนปวดหัวหรือท้องผูกหรือเป็นตะคริว
ผมเป็นชาว introvert มาตลอดชีวิต สามสิบกว่าปีก่อน เคยผ่านอาการซึมเศร้าช่วงหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่ามันคืออาการซึมเศร้า จนเมื่อศึกษาเพิ่ม จึงรู้ว่า อ๋อ! อย่างนี้นี่เองที่เรียกว่าอาการซึมเศร้า (depression)
ชื่อของมันก็บอกชัดเจนแล้ว คือซึมกับเศร้า อาการคือเหนื่อยหน่าย ไม่มีความสุขมองโลกเห็นแต่ด้านลบ ดูหนังตลกก็ไม่รู้สึกขำ พูดง่ายๆ คือ หากเทวดามาปรากฏตัวต่อหน้าแล้วให้เลือกว่าจะอยู่ต่อในโลกแล้วถูกลอตเตอรีรางวัลที่ 1 ติดต่อกันสิบงวดกับการไม่ต้องอยู่ในโลกนี้อีกก็คงเลือกอย่างหลังโดยไม่ลังเล เพราะมองไม่เห็นความสวยงามของการมีชีวิตอยู่
2
ผมเคยผ่านความรู้สึกจิตตก ไม่มีความสุข panic attack ซึมเศร้า ความกลัว การนอนไม่หลับ ฯลฯ น่าจะครบหลักสูตร อารมณ์ด้านลบ!
แต่ในเมื่อผมเคยเห็นความสวยงามของชีวิตมาก่อน เคยหัวเราะเต็มเสียง เคยร่าเริงแจ่มใสก็แสดงว่าผมไม่ได้เกิดมาเป็นคนซึมเศร้าในวัยเด็ก แม้จะเป็นเด็กที่เก็บตัวพูดน้อย แต่ผมก็มีความสุขดี
1
บางช่วงเวลา บางอย่างในตัวผมเปลี่ยนผมไปเป็น ‘มนุษย์หมาป่า’ ชั่วคราว
โชคดีที่ผมไม่ใช่คนที่อยู่เฉยๆ ยอมรับชะตากรรม ก็ค้นคว้าศึกษาหาวิธีแก้ไขหรืออย่างน้อยก็อยู่กับมันได้
2
หลังจากศึกษาทำความเข้าใจกับมันมากขึ้นก็เข้าใจดีขึ้น และอาการก็ดีขึ้น หรือคุมมันได้ดีขึ้น ตอนนี้หากเทวดาให้ผมเลือกว่าจะอยู่ต่อในโลกแล้วถูกลอตเตอรีรางวัลที่ 1 ติดต่อกันสิบงวดกับไม่ต้องอยู่ในโลกนี้อีก
1
ก็คงเลือกอย่างแรก
1
ปกติไม่มีใครอยากเล่าเรื่องอาการจิตตกซึมเศร้าของตัวเองให้ใครฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโลกส่วนตัวสูงอย่างผมยากจะยอมเล่าเรื่องส่วนตัวแบบนี้ให้ใครฟัง แต่ผมยอมเผยเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าอาจมีประโยชน์ต่อคนที่จิตตกหรือซึมเศร้า เพราะเข้าใจดีว่ามันทรมานอย่างไร ในฐานะคนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ตรง ก็น่าจะแชร์ประสบการณ์ให้คนที่เจอเรื่องเดียวกัน และไม่รู้จะทำอย่างไรรู้เป็นข้อมูล
5
คนส่วนใหญ่คงเคยผ่านประสบการณ์เครียด หงุดหงิด อารมณ์ไม่ปกติ ทุกข์ร้อน กระสับกระส่าย แต่อาจไม่ทุกคนที่เคยผ่านภาวะที่สูงกว่านั้นคือ depression กับ panic attack
depression (อาการซึมเศร้า) เป็นภาวะที่ทรมาน บางคนคิดสั้นก็เพราะทนความทรมานของความซึมเศร้าไม่ไหว คนไม่เคยเป็นจะนึกไม่ออก และมักโทษคนที่ฆ่าตัวตายว่าเป็นพวกขี้แพ้ ฯลฯ และมักยกคำสอนทางศาสนามารองรับ เช่น ฆ่าตัวตายเป็นบาป จะตกนรก ฯลฯ เชื่อไหมว่าหากประสบภาวะซึมเศร้ารุนแรงกับตัวเอง คนอ้างคำสอนอาจฆ่าตัวตายเช่นกันเพื่อหนีความทรมาน
1
การยกคำสอนทางศาสนาหรือความเชื่อจึงมักไม่ได้ผลกับคนที่ซึมเศร้ามากๆ
ผมเคยผ่านอาการซึมเศร้ามาช่วงหนึ่งเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ไม่หนักถึงขนาดอยากฆ่าตัวตาย แต่ก็เข้าใจความรู้สึกนั้นดีว่าทรมานขนาดไหน
1
ส่วน panic attack (ตื่นตระหนก) เป็นอาการทางกายภาพที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาออกมาในรูปหัวใจเต้นแรง เหงื่อแตก คล้ายจะเป็นลม กินเวลาราว 1-3 นาทีก็หาย
ผมเคยประสบ panic attack มาตั้งแต่ครั้งวัยรุ่นอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นมันก็หายไปนานหลายสิบปี
แล้วหวนกลับมาใหม่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ในช่วงที่สภาพจิตเครียดมากๆ
panic attack ไม่มีอันตรายถึงตายแค่ทำให้ซึมไปได้เป็นวันหรือหลายวัน มันคล้ายการเป็นตะคริวทางจิต ไม่ตายแต่เจ็บ ไม่ได้เจ็บแปลบแบบตะคริว แต่ทำให้ซึม ทำอะไรไม่ถูก
1
จากประสบการณ์ตรง panic attack เกิดขึ้นได้สองทาง ทางแรกคือร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่พอ ทำให้ระดับเคมีในสมองไม่ปกติ และส่งผลให้เกิด panic attack
ในทางตรงข้าม ถ้าเรารักษาสุขภาพดี นอนพอ โอกาสเกิด panic attack ก็น้อยลงมาก
2
นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าสารเคมีในสมองมีบทบาทสูงต่ออารมณ์มนุษย์ ดังนั้นอาการจิตตกและซึมเศร้าก็อาจเป็นผลจากภาวะสารเคมีในสมอง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มากก็น้อย และในทางกลับกัน อาการจิตตกก็เปลี่ยนระดับเคมีในสมองเช่นกัน
2
เป็นงูกินหาง
panic attack อีกทางหนึ่งเกิดขึ้นจากความจำในอดีต (ทางพุทธเรียก สัญญา) กระตุ้นให้เกิดความกลัวว่าจะเกิด panic attack อีกมักทำให้เกิด panic attack ครั้งใหม่ (คล้ายๆ ความกลัวว่าจะมีเพศสัมพันธ์ไม่สำเร็จทำให้ไม่สำเร็จจริงๆ) ความจำว่าเคยประสบ panic attack เราก่อให้เกิด panic attack ครั้งใหม่ สร้างความกลัวขึ้นมาในจิตเราเอง เป็นการกระตุ้น (induce) โดยใช้ความจำของเรา และมันก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์ทางจิต
2
นอกจากนี้เรายังสามารถกระตุ้น (induce) มันให้เกิดขึ้นเอง นั่นคือเราสามารถเพ่งจิตให้เกิด panic attack ทันใดนั้นจิตก็เชื่อฟังเรา และก่อเกิด panic attack ขึ้นมาจริงๆ
จิตมีความสามารถสร้างเรื่องร้ายขึ้นมาจากศูนย์ได้ อยู่ดีๆ ก็สามารถสร้างความกลัวความวิตกขึ้นมาเองได้แล้วความกลัวความวิตกที่เราสร้าง ขึ้นมาก็ทำให้เรายิ่งกลัวยิ่งวิตกขึ้นไปอีก ยิ่งห้ามตัวเองไม่ให้คิด ก็ยิ่งคิด ยิ่งสั่งให้หยุด ยิ่งเดินหน้า หมุนวนไปเรื่อยๆ เป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่จบสิ้น
3
จิตมันเก่งเรื่องด้านลบ มันชอบฟังเราในเรื่องร้ายๆ แย่ๆ ทีพอบอกเรื่องดีๆ มันกลับไม่ค่อยฟัง
1
panic attack จึงเป็นเรื่องของความกลัว
ความจริงปัญหาเกี่ยวกับจิตตกทั้งหลายก็ล้วนเกี่ยวข้องกับความกลัว ไม่มากก็น้อย บางครั้งสาเหตุหลักอาจมาจากอารมณ์อื่นๆ เช่น เศร้าโศก (เช่นคนรักลาจาก) น้อยใจ เสียใจ ความรู้สึกผิด ฯลฯ สัดส่วนก็ปนๆ กันไปลงท้ายที่จิตตก
3
(ข้อสังเกตส่วนตัวอย่างหนึ่งของผมซึ่งไม่มีวิชาการรองรับคือ เวลาเราโกรธมักไม่กลัวเหมือนจิตอยู่คนละโหมดกัน)
บทความนี้เน้นที่ความกลัว
เพราะในความเห็นส่วนตัว มันแก้ยากที่สุด
ความเศร้าโศกเสียใจอาจจางลงเมื่อปลงได้ แต่ความกลัวนี้เป็นสัญชาตญาณดิบ
ปลงยากหรืออาจไม่ได้เลย ถ้าไม่รู้วิธีจัดการกับมัน
ความกลัวเป็นเครื่องมือหนึ่งของวิวัฒนาการช่วยให้เรารอดมาได้ แต่ถ้ามีมากเกินไปก็ไม่ดี
1
หากรองรับด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้บอกว่าบางต่อมในสมอง (amigdala) ทำงานมากไปแบบต้องการเป็นพนักงานดีเด่นทำให้เรามีความกลัวมากไป
ข้อมูลยังบอกว่า panic attack มักเกิดจาก perceived danger (มองว่าเป็นอันตราย)
perceived danger คือเหตุการณ์ที่สมองเรามองเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าเป็นอันตราย ทั้งที่มันอาจไม่ใช่อันตรายเลย เช่นเราต้องไปในงานปาร์ตี้ที่มีคนหลายร้อยคน เราไม่ชอบสถานที่ที่มีคนแออัด
1
เราก็คิดว่าเราอาจเป็นลมในงาน เราประเมินว่างานปาร์ตี้นี้คืออันตราย ก็อาจทำให้เกิด panic attack ขึ้นมาได้
1
แต่ panic attack เป็นแค่บทย่อยบทหนึ่งในภาพรวมของความกลัวของมนุษย์
ความวิตกกังวลก็เป็นอีกบทหนึ่งของความกลัว
ความวิตกกังวล (anxiety) คือครุ่นคิดเรื่องในอนาคตในเชิงลบ ก็คือรูปหนึ่งของความกลัวนั่นเอง
เราสร้างนิสัยวิตกกังวลมาแต่เด็ก เช่น “ถ้าเราสอบตก พ่อแม่จะเสียใจ ถ้าเราสอบตกจะทำยังไง”
โตขึ้นก็ติดนิสัยนี้ไป เช่น ต้องไปนำเสนองานต่อลูกค้าก็คิดไปเองว่าลูกค้าได้ชื่อว่าเป็นคนดุ ลูกค้าจะจับผิด ตนเองอาจลืมบท อาจพูดไม่ดีจนเสียลูกค้า ฯลฯ แล้วประเมินว่าการไปนำเสนองานครั้งนี้คืออันตราย แล้วเกิดอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ
หรือจะต้องไปต่างประเทศก็จินตนาการปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยทุกข้อเริ่มด้วยวลี “ถ้าเกิด...”
1
ถ้าเกิดเราทำพาสปอร์ตหาย จะทำไง ถ้าเกิดเราป่วยที่นั่น จะจ่ายค่ารักษายังไง ฯลฯ
ปัญหาที่จินตนาการขึ้น (imaginary problems) แทบทั้งหมดไม่เกิดขึ้น แต่ที่เกิดขึ้นคือความเสื่อมของร่างกายจริงๆ เพราะความวิตกกังวลส่งผลต่อระบบร่างกาย
เสมือนจริงมันเป็นเรื่องจริง
3
สิ่งที่เราควรรู้คือ perceived danger ส่งผลต่อสมองเท่ากับ danger จริงๆ ทำให้ใจเต้นแรง เหงื่อแตกได้เหมือนกับการเผชิญอันตรายจริงๆ
มนุษย์โบราณเผชิญหน้ากับความกลัวเสมอ
เพราะอันตรายจริงๆ มักปรากฏตรงหน้า เช่น เดินไปเจอเสือ
1
ทำให้ต้องตัดสินใจว่าจะสู้หรือหนี
สัญชาตญาณนี้ฝังในสายพันธุ์นาน ตกทอดต่อกันมา
ผ่านมาหลายหมื่นปีจากยุคที่เรามีโอกาสเจอเสือจริงๆ ในป่า มาถึงยุคที่เราปลอดภัยในเมือง เราก็ยังไม่หนีนิสัยกลัวเสือ บางทีเราไม่เจอเสือ ก็จินตนาการล่วงหน้าว่าเจอเสือ
3
บางทีเราอยู่ในห้องนอน ทอดกายบนที่นอนอ่อนนุ่ม แต่ใจสร้างความวิตกหรือความกลัวขึ้นมา แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือมีอันตราย อย่างที่นักจิตวิทยา Eckhart Tolle เปรียบว่าความกลัวก็เหมือน “เสืออยู่ในห้อง”
เราสร้างเสือขึ้นมาเอง แล้วก็กลัวเสือตัวนี้อย่างจริงจัง
เสือปลอมตัวนี้ก็ส่งผลต่อระบบประสาทของเราได้เหมือนเจอเสือจริง เราสามารถเกิดความทุรนทุราย เหงื่อแตกในห้องนอนแสนสบายของเรา
แล้วจะจัดการกับเสือตัวนี้อย่างไร?
1
(อาทิตย์หน้าจะมาว่ากันถึงวิธีแก้ไขหรือบรรเทาอาการจิตตก)
58 บันทึก
95
2
79
58
95
2
79
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย