25 ก.ค. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้ช่องลงทุน 15 หุ้นหนี้สินต่ำ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนะนำการลงทุนและคัดเลือกหุ้นที่มีหนี้สินต่ำหรือไม่มีเลย เพราะมีความเสี่ยงทางการเงินที่น้อยลง มีความยืดหยุ่นทางการเงินสูง และสามารถลงทุนขยายธุรกิจได้อย่างมั่นคง
บริษัทที่มีหนี้สินต่ำหรือปราศจากหนี้มักจะมีสภาพคล่องสูง หรือที่เรียกว่า รวยเงินสด (Cash Rich) มีข้อดี คือ
  • มีความยืดหยุ่นทางการเงินสูง
  • สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดี
  • มีโอกาสในการลงทุนและขยายธุรกิจโดยไม่ต้องก่อหนี้
  • มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่สูงและสม่ำเสมอ
ต่อมา คือ D/E Ratio คือ อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ดู Leverage ของบริษัท กล่าวคือบริษัทใช้หนี้มากขนาดไหนเพื่อสร้างผลตอบแทน
15 หุ้นหนี้สินต่ำ
ตัวอย่างเช่น บริษัทสองแห่งสร้างผลการดำเนินงานได้เท่ากัน บริษัทที่มีหนี้สินมากกว่าจะทำผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นสูงกว่า หรือ มี ROE มากกว่า เพราะใช้เงินกู้ลงทุนมาดำเนินธุรกิจ (ใช้เงินทุนของผู้ถือหุ้นน้อย)
นายฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ก่อนตัดสินใจลงทุนหุ้น นักลงทุนไม่ควรลืมดูบริษัทที่มีหนี้น้อยหรือไม่มีเลยผ่านอัตราส่วนทางการเงินที่เรียกว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่าบริษัทใช้เงินกู้มากแค่ไหนเมื่อเทียบกับเงินทุนของตัวเอง “ยิ่งค่านี้ต่ำ ก็ยิ่งแสดงว่าบริษัทพึ่งพาเงินกู้น้อย” หมายถึงความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำลงด้วย
ทำไมหุ้นที่มี D/E Ratio ต่ำถึงน่าสนใจ
  • ลงทุนแล้วนอนหลับสบาย ไม่กลัวล้มละลาย บริษัทที่มีหนี้น้อยมีโอกาสล้มละลายต่ำ เพราะไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก
  • เงินเหลือ พร้อมลุยธุรกิจใหม่ เมื่อไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย บริษัทก็มีเงินเหลือไปลงทุนขยายกิจการใหม่ ๆ
  • ปันผลสม่ำเสมอ ด้วยภาระทางการเงินที่น้อย บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอและในระดับที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการมองหุ้นที่มี D/E Ratio ต่ำ ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย
  • ธุรกิจประเภทไหน ธุรกิจโดยทั่วไปตามมาตรฐานแล้วควรมี D/E Ratio ไม่เกิน 1 เท่า ถ้าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปอาจมี D/E Ratio ได้ถึง 3 เท่า ยกเว้นสถาบันการเงินที่อาจมี D/E Ratio ระดับสูงกว่านี้มาก เนื่องจากต้องใช้เงินฝาก (Deposit) มาปล่อยกู้ (Loan) อีกทอดหนึ่ง เป็นต้น
  • เปรียบเทียบกับคู่แข่งเป็นอย่างไร พิจารณาค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมประกอบ โดยค่า D/E Ratio ควรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
  • แนวโน้มเป็นอย่างไร D/E Ratio ที่ลดลงเรื่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณดีด้านความสามารถในการจัดการหนี้สิน อาจหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไร การบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ดีขึ้น หรือการเติบโตโดยใช้เงินทุนภายในแทนการกู้ยืม ซึ่งทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และอาจนำไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว
หลังจากพิจารณา D/E Ratio แล้ว ควรพิจารณาอัตราส่วนที่เรียกว่า DSCR (Debt Service Coverage Ratio) ซึ่งเป็นเหมือน “เครื่องวัดความสามารถในการจ่ายหนี้” ของบริษัท หากค่า DSCR สูง แสดงว่าบริษัทมีเงินเหลือพอที่จะจ่ายหนี้สบาย ๆ แต่ถ้าอยู่ในระดับต่ำ อาจต้องเริ่มกังวลว่ามีเงินเหลือพอจ่ายหนี้จริง ๆ แค่ไหน
ดังนั้น นักลงทุนจะใช้ค่า DSCR เป็นเหมือน “สัญญาณเตือนภัย” หากต่ำกว่า 1 แสดงว่าบริษัทกำลังมีปัญหา อาจต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อจ่ายหนี้เก่า แต่ถ้าสูงกว่า 1 ก็ถือว่าน่าสบายใจ “ยิ่งสูง ยิ่งดี”
เครื่องมือวัดสุขภาพทางการเงินถัดมา คือ อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดภาระหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (Interest Bearing Debt to Equity Ratio : IBD/E Ratio) อัตราส่วนนี้เป็นเหมือนเครื่องวัดไข้ทางการเงินที่บอกว่าบริษัทนั้นๆ ร้อน (มีความเสี่ยง) แค่ไหน โดยเทียบหนี้สินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยกับเงินทุนของเจ้าของ โดยปกติค่านี้ไม่ควรเกิน 1 ดังนั้น ยิ่งค่านี้ต่ำ (ต่ำกว่า 1) แสดงว่ามีความเสี่ยงทางการเงินต่ำ หากค่านี้สูงแปลว่าบริษัทกู้เงินสูง
มาถึงอัตราส่วนที่บอกว่าบริษัทจะรอดหรือร่วง เพราะหลาย ๆ ครั้ง นักลงทุนอาจสงสัยว่าทำไมบางบริษัทที่ทำกำไรได้ดี แต่กลับล้มละลาย สามารถค้นหาคำตอบได้จาก อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) เพราะบอกว่าบริษัทมีกำไรมากพอจะจ่ายดอกเบี้ย โดยปกติค่านี้ต้องสูงกว่า 1 แสดงถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน
และโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต (ยิ่งสูง ยิ่งดี) ตรงกันข้ามหากค่าน้อยกว่า 1 แปลว่า บริษัทมีกำไรในการจ่ายดอกเบี้ยได้บางส่วน และค่าเป็นศูนย์ (0) หรือติดลบ หมายถึงไม่มีกำไรหรือขาดทุน จึงไม่มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ย
เงื่อนไขการจัดอันดับ
  • D/E Ratio ไม่เกิน 0.20 เท่า
  • Debt Service Coverage Ratio มากกว่า 1
  • IBD/E Ratio น้อยกว่า 1
  • Interest Coverage Ratio มากกว่า 1 เท่า
  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก
  • กระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นลบ
  • กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินเป็นลบ
  • กระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก
  • กำไรสุทธิเป็นบวก (ห้ามขาดทุน) ตลอด 5 ปีล่าสุด (ปี 2562 – 2566)
  • กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นบวก (ห้ามขาดทุน)
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทปราศจากหนี้สินไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป สำหรับบริษัทที่มีธุรกิจมั่นคงในระดับหนึ่งและมีสินทรัพย์ถาวรที่สามารถใช้ค้ำประกันได้ การมีหนี้บางส่วนอาจเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจ สิ่งสำคัญ คือ การรักษาสมดุลและระมัดระวังไม่ให้ระดับหนี้สูงเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินงานในระยะยาว
ข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา