26 ก.ค. เวลา 05:30 • สุขภาพ

ยาคลายกล้ามเนื้อ กินอย่างไรให้ปลอดภัย กินเยอะไปเสี่ยงเป็นพิษต่อไต!

ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวไม่รู้จะทำไงดี สุดท้ายก็ต้องหยิบยาคลายกล้ามเนื้อมาทาน เพื่อบรรเทาให้อาการปวดเมื่อยเนื้อตัว โดยที่ไม่รู้ว่ากินไปแล้วจะช่วยได้จริงหรือเปล่า หรือกินเยอะไปเสี่ยงอันตรายหรือไม่?
ยาคลายกล้ามเนื้อ คือยาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดเฉียบพลันจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อส่วนคอ กล้ามเนื้อส่วนหลัง กล้ามเนื้อแขน ขา หรือข้อต่อตามส่วนต่างๆ ที่อาจเกิดจากการบาดเจ็บ นั่งทำงานผิดท่า หรือเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นต้น ซึ่งเป็นยาที่คนกินไม่ค่อยระวังเพราะคิดว่าไม่อันตราย แต่จริงๆแล้วกินเยอะ กินไม่ถูกวิธี เสี่ยงเป็นพิษต่อไต และผลข้างเคียงอื่นๆ
กินยา
ใช้ ยาคลายกล้ามเนื้อ ให้ถูกจุดประสงค์
สำหรับคนที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่อยๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดอาจต้องใช้ยาหลายกลุ่มควบคู่กันไป โดยขั้นแรกอาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวดดูก่อน แต่หากยังไม่ดีขึ้น อาจเปลี่ยนมาเป็นยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
จากนั้นจึงค่อยใช้ยาลดการอักเสบ เนื่องจากยาอักเสบจะออกฤทธิ์ในการยับยั้งการสังเคราะห์สารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ หากทานแล้วอาการทุเลาลงควรทานต่อจนอาการปวดเมื่อยนั้นหายไป แต่หากผ่านไป 1-2 สัปดาห์ แล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการหนักกว่าเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ยาคลายกล้ามเนื้อ กินมากไปเป็นพิษต่อไต
ทั้งยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อต่างเป็นกลุ่มยาที่ผู้ป่วยไม่ค่อยระมัดระวัง เพราะเข้าใจว่าเป็นยาที่ไม่อันตราย! ซึ่งจริงๆ แล้วยาประเภทนี้ “เป็นพิษต่อไต” แถมร่างกายเรายังขับสารเคมีเหล่านี้ออกทางไต ทำให้ไตได้รับสารพิษจากยาเป็นจำนวนมากและการสะสมที่ยาวนาน ก็ทำให้เกิดโรคไตที่รุนแรงถึงขั้นไตวายได้
ยาคลายกล้ามเนื้อ ไม่ใช่แค่ทำไตพัง…แต่ยังส่งผลข้างเคียงอื่นๆ อีก
อาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง แน่นจมูก รวมไปถึงอาการท้องผูกหรือกรดไหลย้อน ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ว่าอาการต่างๆ เหล่านี้นี่ล่ะ คือ “ผลข้างเคียง” ที่เกิดจากการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ และมักไปพบแพทย์ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคอื่นๆ
ยาคลายกล้ามเนื้อต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง???
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก ตับหรือไตทำงานบกพร่อง หรือมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่าง เนื่องจากยาคลายกล้ามเนื้อก่อให้เกิดอาการง่วงซึม
  • ห้ามใช้ยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาประเภทนี้
ท่าบริหารช่วยลดอาการปวดเมื่อยอาจไม่ต้องพึ่งยา
  • ท่ายืดกล้ามเนื้อ เริ่มจากนำมือทั้งสองข้างประสานกันในท่าไพล่หลัง แล้วเหยียดออกไปด้านหลัง ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า และไหล่ ช่วยคลายความเมื่อยล้าได้
  • ท่าแก้อาการปวดหลัง เริ่มจากยืนตรงโดยเท้าชิดกัน ปลายเท้าขนานกับหัวไหล่ จากนั้นค่อยๆ ก้มตัวไปด้านหน้า เข่าตึง แล้วเหยียดแขนแตะปลายเท้า (หากแตะไม่ถึงให้ก้มมากที่สุดเท่าที่จะทำได้) ทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที
  • ท่าคลายกล้ามเนื้อสะโพก เริ่มจากนั่งให้ก้นติดพนักเก้าอี้ ยกขาขวาขึ้นมาวางทับขาซ้ายโดยให้เข่าชิดตัวมากที่สุด แล้วก้มตัวลงเข้าหาหัวเข่า ทำสลับข้างประมาณ 10 ครั้ง
  • ท่าคลายกล้ามเนื้อขา โดยเริ่มจากยืนหันหน้าเข้าหาเก้าอี้ นำขาข้างหนึ่งพาดลงไปแล้วโน้มตัวลงช้าๆ ให้มือแตะที่เท้า ทำสลับข้างประมาณ 10 ครั้ง
  • ท่าบริหารมือ เริ่มจากกำมือสลับกับกางนิ้วออกทั้งสองข้าง หรือประสานมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันแล้วเหยียดข้อมือให้สุด ทำสลับไปมาเพื่ยืดกล้ามเนื้อมือและแขน
จริงอยู่ที่การทานยาจะช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้แต่นั้นเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหมั่นบริหารกล้ามเนื้อให้มีความยืนหยุ่นอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดอาการปวดและฟื้นฟูร่างกายได้ดีกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 และ โรงพยาบาลพญาไท 2
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา