25 ก.ค. เวลา 08:59 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

‘Equatic’ คิดค้นดึง CO2 แปลงเป็นแร่ธาตุและไฮโดรเจนสีเขียว ท่ามกลางการเห็นต่างจากนักวิทย์บางคน

ในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของสิงคโปร์ มีบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งกำลังสร้างโรงงานที่สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศและน้ำทะเลให้เป็นวัสดุชนิดเดียวกับเปลือกหอย โดยกระบวนการนี้จะช่วยผลิตไฮโดรเจน ‘สีเขียว’ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก
กลุ่มอาคารเตี้ยๆ ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในเมืองตัวอัส จะกลายเป็นโรงงานกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อสร้างเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ตามข้อมูลของบริษัท Equatic (อีควอลติก) ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่แยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิส
แนวคิดคือโรงงานจะดึงน้ำจากมหาสมุทร ช็อตด้วยกระแสไฟฟ้า แล้วส่งอากาศผ่านเพื่อก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีชุดหนึ่งเพื่อดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เป็นแร่ธาตุ ซึ่งสามารถปล่อยกลับลงสู่ทะเลหรือนำไปใช้บนบกได้
เป็นวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจของแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ เมื่อเผชิญกับวิกฤตสภาพอากาศที่เลวร้ายลงซึ่งส่งผลให้เกิดความร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสภาพอากาศเลวร้ายสุดขั้ว ความพยายามที่จะควบคุมภาวะโลกร้อนยังคงหลงทางอยู่มาก และปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่า นอกเหนือจากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็วแล้ว โลกยังจำเป็นต้องกำจัดมลพิษคาร์บอนที่มนุษย์ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศด้วย
โรงงานแห่งนี้ในสิงคโปร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของโครงการล่าสุด ที่มุ่งเน้นไปที่มหาสมุทร ซึ่งดูดซับมลพิษจากภาวะโลกร้อนของมนุษย์ได้เกือบ 30%
อย่างไรก็ตามโครงการกำจัดคาร์บอนนั้นก็มีข้อถกเถียงถูกวิจารณ์ว่ามีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ได้รับการพิสูจน์ในระดับขนาดใหญ่ และเป็นอุปสรรคต่อนโยบายในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเมื่อโครงการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร อันเป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อนซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างหนักอยู่แล้ว คำวิจารณ์นี้ก็จะยิ่งดังมากขึ้นไปอีก
ฌอง-ปิแอร์ กาตุสโซ่ (Jean-Pierre Gatusso) นักวิทยาศาสตร์ด้านมหาสมุทรจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne University) ในฝรั่งเศสกล่าวว่าโดยทั่วไปแล้ว มี “ช่องว่างความรู้ที่กว้างมาก” เมื่อพูดถึงวิศวกรรมธรณีมหาสมุทร “ผมกังวลมากกับความจริงที่ว่าวิทยาศาสตร์ยังตามหลังอุตสาหกรรมอยู่” CNN รายงาน
ตัวอย่างคาร์บอนที่ถูกกำจัดออกจากมหาสมุทรในรูปแบบของแข็งของแคลเซียมคาร์บอเนตและแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์จากโครงการ SeaChange ของ UCLA ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า Equatic ในปี 2023 แพทริก ที. ฟอลลอน/AFP/Getty Images
วิทยาการนี้ทำงานอย่างไร
เทคโนโลยีของ 'Equatic' ซึ่งได้รับการทดสอบในโครงการนำร่องขนาดเล็กในลอสแองเจลิสและสิงคโปร์ ต้องใช้ส่วนประกอบหลักสามอย่าง ได้แก่ น้ำทะเล หิน และไฟฟ้า
ระบบทำงานแบบนี้: โรงงานจะสูบน้ำทะเลเข้ามาและจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านน้ำ เพื่อแยกน้ำทะเลออกเป็น 4 ส่วน คือ ของเหลว 2 ส่วน ประกอบไปด้วย กรด 1 ส่วน, ด่าง 1 ส่วน และก๊าซ 2 ส่วน คือ ไฮโดรเจนและออกซิเจน
น้ำที่มีกรดจะถูกผสมกับหินบดเพื่อให้ค่า pH กลับสู่ระดับเดียวกับน้ำทะเล จากนั้นจึงส่งกลับลงในมหาสมุทร
พัดลมจะสูบลมผ่านกระแสด่าง ซึ่งส่งผลให้คาร์บอนไดออกไซด์ก่อตัวเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตที่เป็นของแข็ง ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้สร้างเปลือกหอย โดยจะมีลักษณะเป็นทรายละเอียด รวมทั้งเบกกิ้งโซดาที่ละลายน้ำอยู่ด้วย
แร่ธาตุที่เป็นของแข็งและละลายน้ำได้ ซึ่งบริษัท Equatic ระบุว่าสามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างน้อย 10,000 ปีจะถูกส่งกลับคืนสู่มหาสมุทรหรือใช้บนบก น้ำทะเลจะถูกส่งกลับคืนสู่ทะเลเพื่อเตรียมพร้อมที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมากขึ้น
ติดตามอ่านข่าวทั่งหมดได้ที่ลิงก์
#Equatic
#คาร์บอนไดออกไซด์
#ไฮโดรเจน
#มหาสมุทร
#สิงคโปร์
#ESG
#ESGuniverse
#สิ่งแวดล้อม
#โลกร้อน
โฆษณา