25 ก.ค. เวลา 12:12 • ธุรกิจ

ทำไมบันไดต้องมีแบรนด์? ฟังเฉลยจาก "ลายวิจิตร" ผู้คิดโซลูชั่นบันไดสำเร็จรูป พาธุรกิจโต 10 เท่า

ทำไมบันไดยังต้องมีแบรนด์? สงสัยกันไหม
โดยส่วนใหญ่ในธุรกิจ B2B การสร้างแบรนด์ อาจดูไม่ค่อยมีความจำเป็นมากเท่ากับ B2C ที่ขายปลีกโดยตรงถึงผู้บริโภค ยิ่งเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในงานต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น บันได ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของบ้าน หลายคนคงนึกไม่ออกว่าจะต้องลงทุนสร้างแบรนด์ไปทำไม
แต่ไม่ใช่กับ พีระศิลป์ ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทลายวิจิตร ทายาทรุ่นที่ 3 จากกิจการผลิตไม้ปาร์เกต์ ไม้พื้น ไม้โมเสคที่ต่อมาต่อยอดธุรกิจเป็นผู้ผลิตบันไดสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ Laivijit (ลายวิจิตร) โซลูชั่นใหม่ช่วยปฏิวัติวงการก่อสร้าง ช่วยย่นระยะเวลาการทำงานให้ผู้รับเหมาจาก 14 วัน เหลือเพียง 3 วัน จนครองใจแบรนด์ยักษ์ใหญ่ผู้ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของไทย อาทิ Ap (บ้านกลางเมือง), พฤกษา, แสนสิริ, SC Asset
อะไรทำให้เขาคิดเช่นนั้น มาดูกัน…
Q : อะไร ทำให้คุณตัดสินใจสร้างแบรนด์ขึ้นมา ทั้งที่เป็นธุรกิจ B2B
หลายคนถามคำถามนี้บ่อยมากตั้งแต่ช่วงแรกที่เราเริ่มสร้างแบรนด์จริงจังขึ้นมาเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะโดยทั่วไปธุรกิจ B2B ที่ไม่ได้มีการขายสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง (B2C) จะไม่ค่อยมีการสร้างแบรนด์ โดยเฉพาะในธุรกิจบันได แทบไม่มีใครให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงจัง เพราะในเมื่อคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัยจริงๆ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรู้จักเรา
ซึ่งก่อนหน้านี้ ต้องบอกก่อนว่าเราเองก็มีการทำแบรนด์ด้วยตัวเองมาก่อน แต่แค่ใส่ชื่อ ติดโลโก้เข้าไปเฉยๆ ทำแบบไม่รู้หลักการ ผลปรากฏว่าลูกค้าที่เป็นผู้รับเหมาเขาก็จำแค่ บันไดคุณ A บ้าง คุณ B บ้าง คือ จำเป็นชื่อบุคคล แต่ไม่ได้จำแบรนด์จริงๆ ทำให้เกิดปัญหามากมาย ที่ปรึกษาธุรกิจก็มองว่า
ถ้าอยากยั่งยืนเราต้องทำแบรนด์จริงจัง เพราะจริงๆ แล้วธุรกิจของเราก็มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจด้วย จุดเริ่มต้นมาจากรุ่นอากง ในปี พ.ศ. 2495 ดำเนินกิจการผลิตไม้ปาร์เกต์ ไม้พื้น ไม้โมเสค ทั้งขายในประเทศและส่งออก ซึ่งเราถือเป็นเจ้าแรกในไทยเลย
Q : การสร้างแบรนด์ของคุณ เริ่มต้นทำอย่างไร
เรามองว่าการสร้างแบรนด์ ไม่ใช่แค่โลโก้ ไม่ใช่แค่ชื่อ ลายวิจิตร ไม่ใช่แค่ชุดยูนิฟอร์ม แต่จริงๆ แล้ว คือ การสื่อสารตัวตนของแบรนด์มากกว่า เรามีสโลแกนว่า Leading Stair to People’s Success คือ เราอยากเป็นผู้นำด้านงานบันได ที่นำพาทุกคนไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งหมายถึงผู้รับเหมา, เจ้าของโครงการ จนถึงผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของบ้านตัวจริง
โดยเราเริ่มจากการสื่อสารภายในองค์กรก่อน เราสร้าง Mindset สร้างการรับรู้ให้กับพนักงานทุกคนว่า จริงๆ แล้วงานของเรา คือ อะไร งานของเราไม่ใช่แค่การติดตั้งบันได หรือผลิตบันได แต่งานของเรา คือ การโฟกัสปัญหาของลูกค้า แล้วเอาสินค้าที่เรามี ซึ่งก็คือบันได มาช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า เพื่อสื่อให้ลูกค้าเห็นว่าเรา คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านบันได
เมื่อทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันได้แบบนี้ ตัวตนของแบรนด์ก็เกิดขึ้น คนก็จะจดจำลายวิจิตรได้ เพราะเราช่วยแก้ปัญหาให้กับเขาได้ ดังนั้นการสร้างแบรนด์ ต้องเริ่มจากการทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นในองค์กรก่อน การสื่อสารภายนอกเป็นองค์ประกอบที่รองลงมา
Q : อยากให้ช่วยขยาย คำว่า “งานของเราไม่ใช่แค่การติดตั้งบันได หรือผลิตบันได แต่คือ การแก้ปัญหาให้ลูกค้า” คุณทำอย่างไร และทำให้เกิดมูลค่าต่อธุรกิจขึ้นมาได้อย่างไร
โซลูชั่นของเรา คือ การผลิตบันไดสำเร็จรูป ต้องบอกว่าเดิมการทำบันไดให้กับโครงการต่างๆ จะไปทำกันที่หน้างานเลย ทำให้กินเวลาหลายวัน แต่ของเรา คือ ทำสำเร็จรูปออกมาจากโรงงานผลิต เหมือนเป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง แล้วค่อยนำไปติดตั้ง ทำให้ช่วยลดเวลาการทำงานให้กับผู้รับเหมาได้ เช่น จากเดิมใช้เวลาทำ 14 วัน แต่พอเปลี่ยนมาใช้บันไดสำเร็จรูป ลดเวลาทำงานเหลือแค่ 3 วัน ซึ่ง 11 วันที่หายไป คือ เงินทั้งนั้นที่เราช่วยเขาประหยัด ยังเพิ่มโอกาสให้เขาไปรับงานเพิ่มขึ้นได้ด้วย
ซึ่งวิธีการนี้ ทำให้เปลี่ยนอุตสาหกรรมก่อสร้างไปโดยสิ้นเชิงเลย เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครใช้แบบนี้ ตอนที่เริ่มต้นทำ ผมก็พัฒนาร่วมกับแบรนด์พฤษาเรียลเอสเตท ตอนนั้นเริ่มเปลี่ยนจากทำพื้นไม้ปาร์เกต์มาทดลองทำบันไดสำเร็จรูปในปี 2550 ยอดขายปีแรก 20 ล้านบาท ผ่านไปสิบปีผมทำยอดขายได้ 200 ล้าน 10 ปี เพิ่มขึ้น 10 เท่าเลย ลูกค้าจาก 1 บริษัท
ปัจจุบันเรามีลูกค้าอยู่ในมือแล้วกว่า 50 บริษัท โดย 80% มาจากการที่ลูกค้าบอกต่อ ต้องบอกว่าเราไม่ใช่รายแรกที่ผลิตบันไดสำเร็จรูปขึ้นมา แต่ก็เป็นเบอร์ต้นๆ ไม่หลุดจาก Top 3 เพียงแต่เรามีการทำแบรนด์ขึ้นมาอย่างจริงจัง และในแง่ Volume การส่งมอบ หากคิดเป็นจำนวนหลัง เราคือ เบอร์ 1 ในตอนนี้
Q : ที่บอกว่าช่วยระยะเวลาการทำงานให้กับลูกค้าได้ อยากให้ช่วยอธิบายเพิ่มเติม
ต้องบอกว่าจริงๆ นวัตกรรมของเราไม่ใช่ตัวสินค้า แต่เป็นเรื่องรูปแบบวิธีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมใหม่ เดิมการผลิตบันไดขึ้นมา 1 ชิ้นงาน จะต้องเกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์ถึง 5 ราย คือ งานไม้, งานเหล็กที่เป็นโครงสร้าง, งานทาสี, งานราวบันได และคนติดตั้งราวบันได แต่พอเปลี่ยนมาใช้เรา ซึ่งทำบันไดสำเร็จรูป เจ้าเดียวได้ครบทุกอย่างเลย เพราะเราผลิตออกจากโรงงานเลย มีมาตรฐานมากกว่า
ลูกค้าอาจจ่ายแพงขึ้นหน่อย แต่เขาไม่ต้องเสียเวลาดีลกับซัพพลายเออร์ทั้ง 5 รายด้วยตัวเอง ทุกอย่างครบจบที่เรา เป็น One Stop Service มีปัญหาอะไรเรารับประกันให้โดยตรง และด้วยประสบการณ์กว่า 17 ปี ตั้งแต่เริ่มทำบันไดสำเร็จรูป ยังช่วยให้เรามองเห็นปัญหาให้กับลูกค้าได้ตั้งแต่วันแรกที่เขามาปรึกษาด้วย ทำให้ลูกค้าไม่ต้องมาเจอปัญหาตั้งแต่ด่านแรกก่อนลงมือทำ
จากนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้เราได้รับรางวัลจากหลายเวที อาทิเช่น รางวัล Bai Po Business Award 2023 , รางวัลสุดยอด SME แห่งชาติครั้งที่ 15 ในปี 2023 , รางวัล CEO ECONMASS Awards 2023
Q : ความยากของการเปลี่ยนแปลงรอยต่อในแต่ละช่วงการธุรกิจ คือ อะไร คุณผ่านมาได้อย่างไร
ถ้าเป็น 17 ปีก่อน ความยากของเรา คือ เราเป็นโรงงานผลิตไม้มา 32 ปี ทำแต่งานไม้อย่างเดียว แต่ต่อมาพอมาทำงานเหล็กเพื่อทำบันไดสำเร็จรูปด้วย ถือเป็นการทำงานข้ามอุตสาหกรรม ก็ถือเป็นความยากอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเท่ากับคนที่เขาทำงานเหล็กมาอยู่แล้ว ก็ต้องใช้ความพยายามในการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ค่อนข้างเยอะ แต่เราคิดว่ามันก็คือ การพัฒนาตัวเองอย่างหนึ่ง ถ้าทำได้ ธุรกิจก็เติบโตขึ้น
แต่ปัจจุบันความยาก คือ เราไม่ได้เป็นแค่ผู้ผลิตงานไม้และงานเหล็กแล้ว แต่เป็นผู้ให้โซลูชั่นด้านบันไดสำเร็จรูป นั่นหมายความว่า ถ้าลูกค้าจะเอาเหล็กเราต้องมีเหล็ก ถ้าลูกค้าจะไม่เอาเหล็ก เอาแค่โครงไม้ โครงปูน เราก็ต้องมีให้พร้อม มีวัสดุอะไรใหม่ๆ เข้ามา ก็ต้องอัพเดตตลอดเวลา เช่น ลูกค้าที่ไม่อยากใช้พื้นไม้จริง เพื่อประหยัด และป้องกันปลวก เราก็มีกระเบื้องยางลายไม้ หรือที่เรียกว่า SPC ซึ่งทำมาจากพลาสติกผสมกับหินให้เลือก
Q : นอกจากบันไดสำเร็จรูป ตอนนี้ทำอะไรอีกบ้าง
ตอนนี้ธุรกิจของเราแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตัวหลัก คือ 1.บันไดสำเร็จรูป รองลงมา คือ 2.งานเหล็กภายนอก เช่น ตัวราวบันได ราวระเบียง ประตูรั้ว 3. งานไม้พื้นเดิมที่เคยทำ และ 4.ครีเอทีฟโปรดักต์ เป็นตัวที่ต่อยอดมาจากบันได เช่น การออกแบบและจัดการพื้นที่สามเหลี่ยมใต้บันได ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ Dead Area เพื่อเพิ่มประโยชน์การใช้งานในรูปแบบต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งอาจเป็นธุรกิจเสาหลักต่อไปของธุรกิจนอกจากบันได
นอกจากนี้เรายังคำนึงเรื่องการใช้ประโยชน์จาก Waste ที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย เช่น เศษไม้เล็กๆ ที่เหลือ เรานำมาทำเป็นชิ้นงานของตกแต่งบ้าน แตกไลน์ไปอีกแบรนด์หนึ่ง ชื่อว่า Lalit (ละลิต) by Laivijit ในส่วนของไม้ที่ใช้ทำบันไดเอง เราก็ใช้ไม้ยางพาราที่อายุ 20-25 ปี ซึ่งไม่สามารถผลิตน้ำยางได้แล้ว มาใช้ ปกติจะถูกนำไปทำฝืน แต่เราเอามาทำบันได เป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไม้อีกทาง
Q : ขอคำถามสุดท้าย คุณได้อะไรจากการสร้างแบรนด์ให้ธุรกิจ
ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจทำแบรนด์จริงจังขึ้นมา ผมเคยตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงต้องสร้างแบรนด์ ผู้ใหญ่ที่เป็นที่ปรึกษาที่เคารพพูดให้ฟังว่า การสร้างแบรนด์ก็เหมือนกับการที่เราหยอดกระปุกออมสินทุกวัน เวลาเราทำความดี ผลงานจะค่อยๆ ถูกหยอดไปเรื่อยๆ ทำให้เรามีที่เก็บสะสม วันหนึ่งลูกค้าก็จะรู้จักและเชื่อมั่นในแบรนด์เรามากขึ้น
จนถึงจุดๆ หนึ่ง พอเริ่มเป็นที่รู้จักไปในวงกว้าง ลูกค้าอาจขายบ้านได้ เพราะแบรนด์ลายวิจิตรก็ได้ เหมือนกับแบรนด์เครื่องสุขภัณฑ์ระดับโลก ที่ทุกวันนี้เป็นที่รู้จักทั้งลูกค้า B2B และ B2C จนทำให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้าขึ้นมาได้”
TEXT : Surangrak
PHOTO : Laivijit
ข้อมูลติดต่อ
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
#บันไดลายวิจิตร #Laivijit #บันไดสำเร็จรูป #สร้างแบรนด์ #sme #smethailand #เพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี #เรื่องธุรกิจต้องSMETHAILAND
โฆษณา