26 ก.ค. เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์

โฟกัสสิ่งที่มี "ความเสียหายสูง" มากกว่าสิ่งที่มี "โอกาสเกิดขึ้นสูง"

เปิดทริคการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ในชีวิต ด้วยแนวคิด “หงส์ดำ” และ “แรดเทา”
1
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ CrowdStrike ในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ส่งผลให้ระบบคอมพิวเตอร์ Windows หลายเครื่องทั่วโลกล่มสลาย เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายและความวุ่นวายในวงกว้าง ตั้งแต่ระบบการบินทั่วโลกไปจนถึงการให้บริการทางการเงินและการแพทย์
เหตุการณ์นี้ อย่าว่าแต่ไม่คาดคิดเลย ขนาดอ่านข่าวอย่างละเอียดว่าคืออะไร ยังไม่รู้เรื่องเลย รู้อย่างเดียวว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความเสียหายขึ้นมากมาย เหตุการณ์อย่างนี้ คือ “หงส์ดำ” ชัดๆ
▪️แล้ว #หงส์ดำ คืออะไร?
หากพูดถึงในนิยามของความเสี่ยง หงส์ดำ คือ “ความไม่แน่นอน” ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ง่ายๆ ดังนี้
ความเสี่ยง = #โอกาสที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น คูณ #ความเสียหายเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น
ซึ่งความเสี่ยงที่เราควรให้ความสนใจมากที่สุด ไม่ใช่ความเสี่ยงที่มี #โอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด แต่คือ ความเสี่ยงที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ส่งผลให้เกิด #ความเสียหายมากที่สุด ต่างหาก
เช่น เรากังวลกับอะไรมากกว่ากัน?
กรณีเจ็บป่วย ระหว่าง “การเป็นหวัด กับ การเป็นมะเร็ง”
หรือ กรณี COVID-19 ระหว่าง “สายพันธุ์ Delta กับ Omicron”
คำตอบก็คือ เรากังวลการเป็นมะเร็งมากกว่าเป็นหวัด และเรากลัวสายพันธุ์ Delta มากกว่า Omicron
เหตุผลก็คือ การเป็นหวัด หรือ การติด COVID-19 สายพันธุ์ Omicron อาจไม่รุนแรง แต่การเป็นมะเร็ง หรือ ติด COVID-19 สายพันธุ์ Delta มีความรุนแรงและมีโอกาสตายสูง
จะเห็นว่า #เรากังวลความเสี่ยงที่มีขนาดความเสียหายสูง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง คือ
⚠️(1) #ความเสี่ยงที่มีขนาดความเสียหายสูง แต่ #มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
ความเสี่ยงแบบนี้ เราเรียกว่า ความเสี่ยงแบบ #หงส์ดำ ตัวอย่าง ของความเสี่ยงแบบ “หงส์ดำ” ก็เช่น เหตุการณ์ COVID-19 ช่วงที่เกิดขึ้นแรกๆ หรือ เหตุการณ์ CrowdStrike ที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้นเอง และถ้ามองความเสี่ยงแบบ “หงส์ดำ” ในระดับบุคคล ตัวอย่างก็คือ #ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็งในวัยหนุ่มสาว เป็นต้น
ความน่ากลัวของความเสี่ยงแบบ “หงส์ดำ” ก็คือ เราไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่ามันจะเกิด มารู้เมื่อเกิดแล้ว และความเสียหายเกิดขึ้นมากแล้ว
⚠️(2) #ความเสี่ยงที่มีขนาดความเสียหายสูง และ #มีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก
ความเสี่ยงแบบนี้ เราเรียกว่า ความเสี่ยงแบบ #แรดเทา ตัวอย่างของความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” ก็เช่น COVID-19 ช่วงที่สายพันธุ์ Delta ระบาดหนักจนต้อง lockdown กันทั้งโลก หรือ ความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เป็นต้น
และถ้ามองความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” ในระดับบุคคล ตัวอย่าง ก็คือ #ความเสี่ยงที่เราจะต้องแก่ต้องเจ็บและต้องตาย เป็นต้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น 100% และเมื่อเกิดขึ้นแล้วขนาดของความเสียหายรุนแรงมากด้วย ตัวอย่างที่เรามักเห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็เช่น คนสูงอายุหลายคนที่ประสบปัญหาด้านการเงิน เพราะไม่มีรายได้ ไม่มีเงินออม แต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่แพงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ
ความน่ากลัวของความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” ก็คือ แม้เราจะรู้ล่วงหน้าว่ามันจะเกิดแน่นอน แต่ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะมองข้ามมันไป จนเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น มีความเสียหายเกิดขึ้น ก็มาบ่นว่า “รู้งี้” มารู้เมื่อเกิดแล้ว และความเสียหายเกิดขึ้นมากแล้ว
แล้วเราจะบริหารความเสี่ยงแบบ “หงส์ดำ” และ “แรดเทา” อย่างไรดี?
✅จัดการความเสี่ยงแบบ “หงส์ดำ”▪️
หากเป็นระดับบุคคล เราจะบริหารด้วยการถ่าย #โอนความเสี่ยง (Transfer) อย่างเช่น การซื้อประกันคุ้มครองโรคมะเร็ง เพื่อถ่ายโอนความเสียหายเมื่อเป็นมะเร็งให้บริษัทประกันรับผิดชอบแทนเรา เป็นต้น
✅จัดการความเสี่ยงแบบ “แรดเทา”▫️
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่รู้ว่าความเสี่ยงมีอยู่ แต่อยู่ที่เรามองข้ามความเสี่ยง ซึ่งเรามักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” 4 ระดับ ได้แก่
1. ปฏิเสธ ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา
2. เริ่มยอมรับว่ามีปัญหาแต่ก็ไม่สนใจแก้ไข และชอบหาเหตุผลว่าทำไมถึงยังไม่แก้ไข
3. ยอมรับว่ามีปัญหาอย่างชัดเจน และเริ่มหาทางแก้ไขปัญหา
4. มีแผนและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” จึงเป็นเรื่อง #การปรับMindset มองความเสี่ยงว่าเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ ยกตัวอย่าง การจัดการความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” ในระดับบุคคล ตามหลักของ A-CAT (Accept – Control – Avoid – Transfer) เราจะบริหารความเสี่ยงด้วย การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อย่างเช่น เรารู้ว่า ตอนเกษียณอายุ เราจะไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย เราก็ควรจะต้องเก็บออมเงิน บริหารจัดการเงินออมให้มากเพียงพอสำหรับใช้ยามเกษียณ หรือ การดูแลรักษาสุขภาพให้ดี เพื่อจะได้ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เป็นต้น
เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์, นักวางแผนการเงิน CFP
#aomMONEY #ความเสี่ยง #RISK #จัดการความเสี่ยง #แรดเทา #หงส์ดำ #ประกัน #วางแผนการเงิน
โฆษณา