26 ก.ค. เวลา 03:00 • ธุรกิจ

ธุรกิจจัดอันดับเครดิตในไทย ทุกรายได้ 100 บาท มีกำไรเกิน 30 บาท

“17 ล้านล้านบาท” คือ มูลค่าตลาดตราสารหนี้ไทย ในปัจจุบัน ซึ่งมากพอ ๆ กับขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทย แถมใหญ่กว่ามูลค่าของตลาดหุ้นไทยเสียอีก
โดยตราสารหนี้เหล่านี้ ล้วนถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จากสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ 2 ราย คือ ทริสเรทติ้ง และ ฟิทช์ เรทติ้งส์
หรือพูดง่าย ๆ ว่า สถาบันทั้ง 2 รายนี้ เป็นเหมือนผู้ให้คะแนนตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจจัดอันดับเครดิตนี้ ถือเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ดีเลยทีเดียว
โมเดลธุรกิจนี้น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
การออกตราสารหนี้ ถือเป็นหนึ่งในช่องทางการระดมทุนยอดนิยมขององค์กรต่าง ๆ โดยผู้ที่ออก จะมีสถานะเป็นผู้กู้ และผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ จะมีสถานะเป็นผู้ให้กู้
ถ้าหากผู้ออกตราสารหนี้ เป็นหน่วยงานภาครัฐ เราจะเรียกตราสารหนี้นั้นว่า “พันธบัตร” ขณะที่ถ้าเป็นภาคเอกชน จะเรียกว่า “หุ้นกู้”
ซึ่งตราสารหนี้ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์การลงทุนที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุน ที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ เพราะมีความผันผวนต่ำ และผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน ในรูปของดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม แม้ในทางทฤษฎี ตราสารหนี้ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ตราสารประเภทอื่น เช่น หุ้น แต่ถ้าหากผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ก็มักจะทำให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ได้มากเช่นกัน
จึงทำให้เกิดธุรกิจจัดอันดับความน่าเชื่อถือขึ้น เพื่อคอยประเมินและให้คะแนนบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ มากน้อยแค่ไหน
อันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัท จะไล่ตั้งแต่ระดับ AAA ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุด และมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก (มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ 0.014%) ไปจนถึง D ซึ่งมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง 100%
โดยในปัจจุบัน มีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ทั้งหมด 2 ราย ได้แก่
1. บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating)
2. บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Ratings)
แล้วผลประกอบการของแต่ละราย เป็นอย่างไรบ้าง ?
- บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating)
ปี 2564 รายได้ 361 ล้านบาท กำไร 119 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 396 ล้านบาท กำไร 127 ล้านบาท
ทุก ๆ รายได้ 100 บาท ของทริสเรทติ้ง
เป็นต้นทุนสินค้า/บริการ 45 บาท
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 23 บาท
และเหลือเป็นกำไร 32 บาท
- บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Ratings)
ปี 2565 รายได้ 123 ล้านบาท กำไร 42 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 117 ล้านบาท กำไร 40 ล้านบาท
ทุก ๆ รายได้ 100 บาท ของฟิทช์ เรทติ้งส์
เป็นต้นทุนสินค้า/บริการ 27 บาท
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 39 บาท
และเหลือเป็นกำไร 34 บาท
ที่ทั้ง 2 รายนั้น มีอัตรากำไรสุทธิ ที่สูงกว่า 30% เป็นเพราะว่า ต้นทุนหลัก ๆ ของธุรกิจ จะมาจากเงินเดือนพนักงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนใน R&D อาคาร เครื่องจักร หรือโรงงานหนัก ๆ
แถมด้วยความที่มีเพียง 2 รายในประเทศไทย ตัวธุรกิจจึงค่อนข้างมีอำนาจที่สูง ในการกำหนดราคาของการให้บริการ นั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในการออกตราสารหนี้ บางบริษัทอาจเลือกไม่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งตราสารหนี้ที่ออกก็จะถูกจัดเป็น “Non-Rated Bond”
ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทน (จ่ายดอกเบี้ย) ในอัตราที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงผิดนัดชำระ ที่สูงมากเช่นกัน
โดย Non-Rated Bond จะถูกจำกัดการลงทุนเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง หรือที่เรียกว่า Accredited Investor
ประกอบไปด้วยธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งนักลงทุนรายบุคคล ที่มีความมั่งคั่งตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป
แต่นักลงทุนทั่วไป จะไม่สามารถลงทุนได้..
โฆษณา