26 ก.ค. เวลา 12:30 • ธุรกิจ

เปิดประวัติ Louis Vuitton แบรนด์กระเป๋าหรู 170 ปี ในเครือ LVMH

ผู้เปลี่ยนโฉมโลกบรรจุภัณฑ์ด้วยผ้าแคนวาส จนกลายเป็น ‘ของมันต้องมี’ ของคนทั่วโลก
ถ้าพูดถึงกระเป๋าแบรนด์เนมที่มีราคาหลักหมื่นหลักแสนแล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จัก Louis Vuitton ที่อยู่ภายใต้การบริหารของเครือ LVMH ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2024 บริษัทนี้มี Market Cap อยู่ที่ $451,160 ล้านดอลลาร์
Louis Vuitton เป็นแบรนด์เก่าแก่ ก่อตั้งแต่ปี 1854 (170 ปีก่อน) แต่กว่า Louis Vuitton จะกลายมาเป็นแบรนด์ดังระดับโลกได้ถึงขนาดนี้ ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ซึ่งเราจะมาเปิดหลังม่านดูที่มาที่ไปของแบรนด์นี้กัน
🚶[[ #เส้นทางสู่ปารีสด้วยวัย_13_ปี ]]
ต้นกำเนิดของแบรนด์ดังระดับโลกนี้ มาจากผู้ชายที่ชื่อว่า หลุยส์ วิตตอง เกิดในปี 1821 ซึ่งในช่วงเวลานั้นประเทศฝรั่งเศสพึ่งผ่านความวุ่นวายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789-1799 ตามมาด้วยสงครามนโปเลียนในปี 1804-1815
ในช่วงเวลานั้นคนฝรั่งเศสจำนวนมากยากจน หลายครอบครัวถูกผลกระทบจากสงครามจนล้มละลาย ครอบครัวของ หลุยส์ วิตตอง ก็เช่นกัน
หลุยส์ วิตตองเกิดในครอบครัวที่ฐานะไม่ได้ดีนัก พ่อเขาเป็นเกษตรกร ส่วนแม่เป็นช่างทำหมวก
แม่เสียชีวิตลงตั้งแต่เขาเด็ก ต่อมาพ่อแต่งงานใหม่และไม่นานก็เสียชีวิตลง หลุยส์ วิตตองต้องอยู่กับแม่เลี้ยงที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกันเท่าไหร่
ในปี 1835 ซึ่งในเวลานั้นเขามีอายุเพียง 13 ปี จึงตัดสินใจออกจากบ้าน เพื่อเดินทางอันแสนไกลถึง 470 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายคือเมืองใหญ่อย่างปารีส
การเดินทางของเด็กอายุ 13 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เขาได้เดินเท้าไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็รับงานต่างๆทำไปด้วยเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพให้ชีวิตตัวเองอยู่รอด และได้พัฒนาตัวเองในงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้และทักษะในงานผ้า ไม้ เหล็ก หิน ซึ่งงานเหล่านั้นจะกลายมาเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาและสร้างให้เขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคต
ในปี 1837 เขาเดินทางมาถึงปารีสด้วยวัยเพียง 15-16 ปีเท่านั้น ฝรั่งเศสอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่คนจะเดินทางสัญจรกันมากขึ้นเมื่อนวัตกรรมใหม่อย่างรถไฟ ถูกนำมาใช้งานในฝรั่งเศส ดังนั้นคนฝรั่งเศสเองก็มีความต้องการหีบบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้ในการเดินทางที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ขนของสำคัญๆได้อย่างปลอดภัย
หลุยส์ วิตตองมีโอกาสได้ทำงานกับ มงซิเออร์ มาร์คเซิล (Monsieur Maréchal) และเรียนรู้วิธีการทำหีบบรรจุสัมภาระถึง 17 ปี ด้วยความขยันและหมั่นพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ วิตตองได้สั่งสมชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องแฟชั่น
เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต) ขึ้นครองราชย์ในปี 1852 และได้อภิเษกสมรสกับ จักรพรรดินีเออเฌนี เดอ มอนตีโค (Eugenie de Montijo) แน่นอนว่าสังคมก็ได้จับตาดูว่าพระจักรพรรดินีคนนี้มีรสนิยมในด้านแฟชั่นอย่างไร
พระองค์เองก็ไม่ได้ทำให้สังคมผิดหวังทั้งในเรื่องการวางตัว แฟชั่นและการแต่งตัวที่มีความสวยงาม หรูหรา น่าทึ่งเวลาออกงาน จากการที่พระองค์มีความสนพระทัยในประวัติของพระนางมารีอังตัวเน็ท รวมถึงศิลปะแบบนีโอคลาสสิกในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงทำให้ การแต่งตัว เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ของพระองค์ต้องมีความปราณีต หรูหรา ผู้ที่จะเป็นดีไซเนอร์และช่างออกแบบต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูง
1
พระนางเออเฌนี เดอ มอนตีโค ได้รู้จักความโด่งดังและฝีมือของ หลุยส์ วิตตอง และมอบหมายให้เขาเป็นผู้สร้างหีบบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวของพระองค์
นี่คือโอกาสครั้งใหญ่ที่จะทำให้เขาได้เข้าถึงลูกค้าที่เป็นบุคคลชนชั้นสูงในสังคมฝรั่งเศส หลังจากนั้นหลุยส์ วิตตองได้ตัดสินใจเปิดร้านของเขาเองที่ บ้านเลขที่ 4 Rue Neuve-des-Capucines โดยหน้าร้านจะเขียนไว้ว่า “บรรจุสิ่งของที่แตกง่ายอย่างปลอดภัย เชี่ยวชาญในแฟชั่นบรรจุภัณฑ์”
การเปิดร้านของหลุยส์ วิตตองนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มคนชั้นสูงและคนรวยในปารีส
😲[[ #นวัตกรรมใหม่ของโลกบรรจุภัณฑ์ด้วยผ้าแคนวาส ]]
หนึ่งในปัญหาที่หลุยส์ วิตตองเห็นคือ เดิมทีหีบบรรจุภัณฑ์นั้นจะทำด้วยหนัง รูปร่างเป็นวงรีและฝาเปิดจะเป็นรูปร่างโค้ง คล้ายๆโดม เมื่อเวลาฝนตกน้ำฝนจะได้ไหลลงออกจากฝาและกล่องได้ง่ายก่อนที่หนังจะเปียกน้ำ พอเป็นเช่นนี้แล้วหีบสมัยก่อนจะไม่สามารถวางซ้อนกันได้ เวลาโหลดสัมภาระในการเดินทางก็มักจะมีปัญหา หลุยส์ วิตตองจึงใช้ความสามารถและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เปลี่ยนมาตรฐานอุตสาหกรรมในโลกบรรจุภัณฑ์ไปเลย โดยการใช้ผ้าแคนวาส
ผ้าแคนวาส มีคุณสมบัติเบา ทนทาน ดูแลรักษาง่าย และสามารถกันน้ำได้ การใช้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ผ้าแคนวาสกันน้ำและฝาแบนกลายเป็นสินค้าที่ทันสมัย ซึ่งหลุยส์ วิตตองได้เปิดตัวสินค้าใหม่นี้ในปี 1858 ความนิยมและความคลั่งไคล้ในสินค้าของ หลุยส์ วิตตอง สูงขึ้นเรื่อยๆคล้ายกับวลีที่ว่า “ของมันต้องมี”
ธุรกิจของหลุยส์ วิตตอง ก้าวไปสู่ขาขึ้นและทำให้เขาได้มองหาโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่าง กระเป๋าถือ ซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมของคนฝรั่งเศสเท่าไหร่ ที่มีอยู่ในท้องตลาดก็มีความเทอะทะ ไม่สวย ไม่ประณีต และไม่มีความหรูหรา
หลุยส์ วิตตอง เห็นโอกาสว่าจะทำกระเป๋าผ้าแคนวาสและออกแบบรูปทรงต่างๆให้เหมาะกับการใช้งานตามโอกาสต่างๆ เมื่อกระเป๋าแคนวาสออกสู่ตลาด ก็ขายดิบขายดี จนหลุยส์ วิตตองต้องให้ จอร์จ วิตตอง ลูกชายของเขามาช่วยธุรกิจ
ในช่วงที่จอร์จ วิตตองเข้ามานั้น เขาได้เข้ามาต่อยอดความคิดใหม่ๆในการทำกระเป๋า ตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนหีบบรรจุภัณฑ์นั้นมีการล็อกกุญแจแบบง่ายๆ ซึ่งทำให้โจรสามารถเปิดกระเป๋าเพื่อขโมยของได้อย่างไม่ยาก จอร์จจึงนำ Tumber lock มาใส่ในกระเป๋าเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้นด้วย นอกจากความสวยงาม ความทนทานแล้ว ยังมีความปลอดภัยในการใช้งานอีกด้วย
1
👜[[ #กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังสงคราม ]]
นับว่าเป็นทศวรรษที่เฟื่องฟูของหลุยส์ วิตตอง แต่แล้วธุรกิจก็ต้องหยุดชะงักเมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงนำประเทศเข้าสู่สงครามเพื่อรบกับกองทัพเยอรมัน ในสงคราม Franco-Prussian war ใน ปี 1870
สงครามครั้งนี้แม้จะกินเวลาไม่ถึง 1 ปี แต่กลับสร้างความเสียหายให้กับฝรั่งเศสสูงมาก
พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ก็ถูกจับในสนามรบ กองทัพเยอรมันบุกล้อมปารีส ความวุ่นวายสับสนเต็มไปทุกแห่งหน แน่นอนว่าฝรั่งเศสคือผู้แพ้สงครามในครั้งนี้
ในช่วงเวลานั้นหลุยส์ วิตตอง ต้องถูกให้ออกจากบ้านไปอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย หลังสงครามเขาได้กลับไปดูทรัพย์สินของเขาอีกครั้งและพบว่าข้าวของถูกขโมย โรงงานของเขาก็ถูกทำลาย แถมลูกน้องที่เคยทำงานด้วยกันก็หนีภัยสงครามกันคนละทิศคนละทาง
หลุยส์ วิตตองใช้เงินเก็บที่เขามีอยู่ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่และหาทำเลในการสร้างร้านค้าแห่งใหม่ของเขา แต่ในความโชคร้ายก็ทำให้เขามีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินในปารีสมีราคาลดลง หลุยส์ วิตตองสามารถเปิดร้านในทำเลที่ดีในย่าน Rue Scribe ซึ่งเป็นย่านหรูใจกลางกรุงปารีส
หลังจากการเปิดร้านใหม่ไม่นาน ทุกอย่างก็กลับมาคึกคักอีกครั้งและธุรกิจของเขาก็ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย
ในเวลานั้นสินค้าของหลุยส์ วิตตองมีออร์เดอร์จากทั่วโลกแถมยังได้รับความนิยมจากชนชั้นสูงในต่างประเทศ และในช่วงเวลานั้น เทคโนโลยีการพิมพ์มีการพัฒนาขึ้นมาก จึงทำให้เขาสามารถพิมพ์ลวดลายในผ้าแคนวาสได้ทำให้คนต้องมาตามอัปเดตว่าสินค้าเป็นอย่างไร เขาได้ขยายกิจการของเขาโดยเปิดสาขาในย่านการค้าที่โด่งดังอย่าง Oxford Street ใจกลางลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ในปี 1888 จอร์จ วิตตองได้คิดลาย Damier Canvas ขึ้น ซึ่งคำว่า Damier มีความหมายว่าตารางหมากรุก ซึ่งยังเป็นลายที่ยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน และป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบด้วยการพิมพ์ว่า Marque L. Vuitton déposée หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Registered L.Vuitton Trademark
หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 1892 ก็มีการจัดทำแค็ตตาล็อกของสินค้า แต่ในปีเดียวกันนี้ หลุยส์ วิตตอง ส่งมอบภารกิจให้กับจอร์จ วิตตอง ลูกชายให้สืบสานธุรกิจต่อ
🗻[[ #สู่ยุคสมัยใหม่ของ_Louis_Vuitton ]]
จอร์จ วิตตองเป็นผู้ที่มุ่งมั่นในการทำธุรกิจและพยายามหาโอกาสในการจำหน่ายสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา
ในปี 1893 เขาได้ไปร่วมงาน World's Columbian Exposition 1893 และได้พบกับ จอห์น วอนนาเมกเกอร์ ซึ่งได้แนะนำแนวคิดของห้างสรรพสินค้าและการใช้ป้ายราคา หลังจากนั้นจอร์จ วิตตองได้ส่งกระเป๋าไปขายในห้างสรรพสินค้าในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นในปี 1896 จอร์จ ได้สร้างลาย Monogram ที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์ LV ที่วางซ้อนกันไว้และดอกไม้ที่แรงบันดาลใจจากสัญลักษณ์ประจำตระกูลของคนญี่ปุ่นและศิลปะแบบอาร์ตนูโว
ลายโมโนแกรมนี้กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายวงการแฟชั่นอีกครั้ง จากเดิมที่คนส่วนใหญ่จะนำชื่อตัวเองไปเขียนไว้ในกระเป๋าเพื่อบอกว่าใครเป็นเจ้าของ ได้เปลี่ยนเป็นลวดลายที่บ่งบอกว่ากระเป๋าใบนี้มาจากแบรนด์อะไร
ในยุคของจอร์จ วิตตอง และลูกชายของเขา แกสตง วิตตอง สินค้าต่างๆได้ถูกพัฒนาเป็นงานดีไซน์หลายรูปแบบ เช่นกระเป๋า Keepall, Speedy, The Noé, The Alma ซึ่งหลายๆรุ่นก็ยังเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามในปี 1936 จอร์ต วิตตองได้เสียชีวิตลง และมอบภารกิจต่อให้กับ แกสตง วิตตอง
การรับช่วงต่อของแกสตอง วิตตอง ไม่ได้เป็นช่วงที่ดีนัก เพราะในไม่กี่ปีต่อมาประเทศฝรั่งเศสต้องเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาต้องตัดสินใจปิดโรงงานและร้านค้าหลายที่ทั่วโลกในช่วงที่กองทัพเยอรมันเข้ายึดประเทศฝรั่งเศส
หลังสงครามจบลงแกสตง วิตตองได้กลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง จนถึงปี 1970 เขาก็ได้เสียชีวิต และธุรกิจก็ถูกสืบทอดไปยังลูกเขยของเขาที่ชื่อ อองเร แรคาเมียร์ (Henry Racamier) ซึ่งเป็นนักธุรกิจค้าเหล็กที่กำลังจะเกษียณในช่วงเวลานั้น
อองเร แรคาเมียร์ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจจากการเป็นผู้ค้าส่ง มาเป็นผู้ค้าปลีก
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เขาได้มองเห็นว่าในช่วงเวลานั้นคนรวยนั้นกระจายอยู่ทั่วโลก ดังนั้นความต้องการของสินค้าแบรนด์เนมก็จะมากขึ้นด้วย ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันก็เป็นยุคทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ภาพยนตร์ การ์ตูน เพลง แฟชั่น และเทคโนโลยีต่างๆ
อองเร จึงเปิดสาขา Louis Vuitton แห่งแรกในโตเกียว ในปี 1978 และทยอยเปิดสาขาในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นที่ไต้หวันและเกาหลีใต้
ภายในระยะเวลา 6 ปี ยอดขายของบริษัทนั้นก็พุ่งขึ้นไปจาก $20 ล้านดอลลาร์ไปเป็น $260 ล้านดอลลาร์โดยอ้างอิงจากมูลค่าเงินดอลลาห์สหรัฐในปัจจุบัน ถ้าเทียบเป็นเงินไทยง่ายๆก็เหมือนกระโดดจากประมาณ 60 ล้านบาทไปเป็น 8,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
ในปี 1984 อองเร ได้นำบริษัท Louis Vuitton เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมายาวนานทำให้หุ้นของบริษัท Louis Vuitton ถูกจับจองอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามในช่วงแรกๆ หุ้นของบริษัทมีความผันผวนสูงมาก และนักวิเคราะห์หุ้นต่างก็มีความเห็นว่า สินค้าลอกเลียนแบบนั้นมีอยู่มากในตลาด ซึ่งสร้างผลเชิงลบของราคาหุ้นในตลาด
อย่างไรก็ตาม อองเร ได้เร่งเปิดสาขาไปทั่วโลกและพิสูจน์ให้เห็นว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ผิด ในช่วงปี 1987 Louis Vuitton ได้ทำสถิติรายได้ที่สูงถึง $1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท
ความสำเร็จของ Louis Vuitton นั้น ทำให้นักลงทุนฝรั่งเศสชื่อดังอย่าง แบร์นาร์ อาร์โน มีแนวคิดที่จะสร้างกลุ่มบริษัทที่นำเสนอสินค้า Luxury Brand จึงมีการพูดคุยกับทาง Louis Vuitton และ Moët Hennessy เพื่อควบรวมกิจการเป็น LVMH โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้แบรนด์ต่างๆของฝรั่งเศสถูกกิจการต่างประเทศซื้อไป
แต่ในขณะเดียวกันศึกภายในของ LVMH ก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อาร์โน ได้ทยอยซื้อหุ้นของ LVMH มากขึ้นเรื่อยๆและได้ร่วมกับทาง Moët Hennessy จนสามารถควบคุมกิจการได้และมีการปลด อองเร แรคาเมียร์ ออกจากบอร์ดของบริษัทในปี 1990 และมีการแต่งตั้ง อีฟส์ การ์เซอแล (Yves Carcelle) ขึ้นมาบริหารงานแทน
ทำให้ Louis Vuitton ก้าวสู่ยุคใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวอีกต่อไป และมีการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจโดยมีความร่วมมือกับดีไซเนอร์ระดับโลกในการรังสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ในปี 1997 มาร์ค จาคอบส์ (Marc Jacobs) ถูกแต่งตั้งเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของ Louis Vuitton เป็นคนแรกและเขาได้นำแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่นี้เข้าสู่โลกแฟชั่น โดยการสร้างสินค้าประเภทเสื้อผ้า Ready-to-wear และร่วมมือกับศิลปินต่างๆเพื่อสร้างคอลเลกชันใหม่ๆออกสู่ตลาด
รวมถึงการสร้างไลน์ผลิตภัณฑ์อื่นๆไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา เครื่องประดับ แว่นตากันแดด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Louis Vuitton ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ที่ชื่นชอบ และแบรนด์นี้ก็ได้มีการเล่าเรื่องต่อมาเรื่อยๆจากครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนต่อมาอย่าง นีกอลา แฌ็สเกียร์ (Nicolas Ghesquiere) เวอร์จิล แอบโล (Virgil Abloh) และ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ (Pharrell Williams)
ในปัจจุบันหุ้นของบริษัท LVMH ที่เป็นบริษัทแม่ของแบรนด์หรูอย่าง Louis Vuitton ยังมีแบรนด์ต่างๆที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนอีกมากมาย เช่น ซึ่งแบรนด์ที่เรารู้จักกันดี คุ้นเคยกันมากเวลาเดินตามห้าง เช่น
เครื่องหนังต่างๆอย่าง Louis Vuitton, Loewe, Burluti, Rimowa, Loro Piana, Celine, Fendi, Chirstian Dior, Givenchy, Kenzo, Marc Jacob
เครื่องประดับและนาฬิกา Chumet, Tiffany & Co., Tag Heuer, Bulgari, Hublot, Fred และร้านเครื่องสำอางชื่อดังอย่าง Sephora
💶 จากข้อมูลของ Yahoo Finance ผลการดำเนินงานย้อนหลังของ LVMH เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปี ดังนี้
ในปี 2023 รายได้ €86.15 พันล้านยูโร กำไร €15.17 พันล้านยูโร
ในปี 2022 รายได้ €79.18 พันล้านยูโร กำไร €14.08 พันล้านยูโร
ในปี 2021 รายได้ €64.22 พันล้านยูโร กำไร €12.04 พันล้านยูโร
ในปี 2020 รายได้ €44.65 พันล้านยูโร กำไร €4.7พันล้านยูโร
ในกรณีที่เราอยากลงทุนใน LVMH สามารถทำได้หลายรูปแบบ
1. ลงทุนผ่าน DR ของ บล.บัวหลวงได้ (ชื่อ: LVMH01) ซื้อผ่าน Streaming ได้เลย
2. ลงทุนผ่าน ETF ต่างประเทศ ผ่าน App DIME เช่นพวก ETF Luxury, ETF France
3. หากใครอยากลงทุนผ่านกองทุนรวมก็มีพวกกองไทยที่ไปลง Master Fund ต่างประเทศ อย่างพวกกองทุน Premium Brand
หากใครสนใจเกี่ยวกับการลงทุนหุ้นต่างประเทศ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “ลงทุนรวยในตลาดหุ้นต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก” ของพี่ต้าร์ กวิน กูรู aomMONEY ออกแล้วนะ สามารถซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำ Se-ed Book, B2S, ร้านนายอินทร์, ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และสามารถซื้อทางออนไลน์ได้เลย
=================
เขียนและเรียบเรียงโดย : ต้าร์-กวิน​ สุวรรณตระกูล
เจ้าของเพจ Tarkawin : https://www.facebook.com/me.tarkawin
=================
#aomMONEY #แบรนด์เนม #LouisVuitton #หลุยส์วิตตอง
โฆษณา