Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นครพนมโฟกัส
•
ติดตาม
25 ก.ค. เวลา 14:26 • ข่าว
นักวิชาการ ม.นครพนม แนะ ปชช. ไม่ตื่นตระหนก มั่นใจ “ปลาหมอคางดำ” ยังไม่พบในอีสาน เสริมแนวทางป้องกัน
ยังคงเป็นประเด็นร้อนตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” มีนักวิชาการหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายในมุมต่าง ๆ เกิดเป็นกระแสร้อนแรงในวงกว้าง แม้ขณะนี้ภาครัฐมีหลายมาตรการเพื่อที่จะกำจัดปลาหมอคางดำ (เอเลี่ยน สปีชีส์) ที่กำลังระบาดหนัก
ความหมาย “เอเลี่ยน สปีชีส์” คืออะไร ?
เอเลี่ยน สปีชีส์ (Alien Species) คือ สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศดั้งเดิม โดยเอเลี่ยน สปีชีส์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทไม่รุกราน (Non-Invasive Alien Species) สิ่งมีชีวิตประเภทนี้หากมีอยู่จะไม่มีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศ หรือสร้างอันตรายในท้องถิ่นนั้น
ส่วนประเภทที่รุกราน (Invasive Alien Species) สิ่งมีชีวิตประเภทนี้หากมีอยู่จะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศโดยตรง และสร้างอันตรายในท้องถิ่นนั้น ซึ่ง “ปลาหมอคางดำ” ถูกจัดอยู่ในประเภทที่รุกราน
ลักษณะของปลาหมอคางดำ
หากพูดถึงรายละเอียดที่ไปที่มาของ “ปลาหมอคางดำ” ทุกคนคงทราบกันดี และเชื่อว่าข้อมูลที่อยู่บนโลกออนไลน์ ณ ขณะนี้มีมากและเพียงพอแล้ว ฉะนั้นจะเล่าถึงปลาหมอคางดำในส่วนที่สำคัญ ๆ เท่านั้น ปลาหมอคางดำ อยู่ในตระกูลปลานิล มีลักษณะคล้ายกันมาก ตระกูลนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือ ปลานิล ปลาหมอเทศ ปลานิลทับทิม (ปลานิลแดง) หรือ ปลานิลหมัน ที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ระหว่างปลานิลกับปลาหมอเทศ
“ปลาหมอคางดำ” เป็นสัตว์น้ำนำเข้าที่ต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาตะวันตก จนกระทั่งพบการแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดในน้ำจืด น้ำกร่อย ป่าชายเลนที่ใกล้กับทะเล ตัวโตมีขนาดลำตัวยาวถึง 8 นิ้ว หรือ 16 เซนติเมตร บริเวณแผ่นปิดเหงือกตรงแก้มจะมีสีดำ ลักษณะตัวจะไม่มีลวดลายเหมือนปลานิล ส่วนที่มีการเรียกว่า “ปลาหมอคางดำ” น่าจะเป็นเพราะมาจากต่างประเทศของ “ปลาหมอเทศ” นั่นเอง
การสืบพันธุ์ และการขยายพันธุ์
มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว อายุประมาณ 2-3 เดือน สามารถเจริญพันธุ์และวางไข่ได้ทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง จึงทำให้เกิดจำนวนของประชากรปลาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปลาหมอคางดำก้านครีบมีลักษณะแข็ง หัวใหญ่กว่าตัว จึงทำให้ปลาชนิดอื่น (ผู้ล่า) ไม่สามารถกินหรือล่าเหยื่อได้ ปลาหมอคางดำสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี การผสมพันธุ์และการวางไข่จะลดลงในช่วงที่มีฝนตกหนัก กระแสน้ำที่ไหลแรง
พฤติกรรมการวางไข่ฟักไข่
สามารถวางไข่ได้รวดเร็ว 1 ตัว วางไข่ได้ 50-300 ฟอง หรือ 50-900 ฟอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา ส่วนการฟักไข่ใช้ระยะเวลา 4-6 วัน โดยตัวผู้จะดูแลลูกปลาด้วยการอมไข่ไว้ในปากประมาณ 2-3 สัปดาห์ แตกต่างจากปลานิลที่ส่วนใหญ่ตัวเมียจะอมไข่ไว้ในปากแทน จึงไม่แปลกว่าทำไมปลานิลตัวผู้ถึงตัวโตกว่าปลานิลตัวเมีย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิเทพชัยย์การณ์ ภาชนะวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประมง คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ได้แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวจากข้อมูลที่ปรากฎผ่านสื่อหลายสำนักว่า การปรับตัวของปลาหมอคางดำในสภาพแวดล้อมขณะนี้น่ากลัวมาก จากจุดเริ่มต้นที่พบมีเพียงไม่กี่บ่อจนแพร่ระบาดตามบ่อและคลองต่าง ๆ อีกทั้งปลาชนิดนี้ยังสามารถอาศัยได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย หากไม่มีการจัดการหรือควบคุมอย่างเด็ดขาดเชื่อว่าประชากรของจำนวนปลาชนิดนี้จะเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งปลาหมอคางดำสามารถทนความเค็มของน้ำได้ถึง 40 ppt (Parts Per Thousand) ซึ่งหมายความว่า ความเค็มของน้ำ 1,000 ส่วน ปลาหมอคางดำสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ที่ระดับ 40 ส่วน และถ้าหากมีจำนวนปริมาณเยอะขึ้น ปลาชนิดนี้อาจมีการปรับตัวและอยู่ได้ดีตามสภาพแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งจะยากต่อการควบคุมในอนาคต เพราะโดยธรรมชาติของสัตว์น้ำจะมีการปรับตัวให้เข้ากับแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดความสมดุลกับสภาพร่างกาย หรือที่เรียกว่า ออสโมเรกูเลชั่น (Osmoregulation)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิเทพชัยย์การณ์ ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า “ปลาหมอคางดำ” มีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวมากถึง 4 เท่า ซึ่งความยาวนี้จะบ่งบอกถึงลักษณะการกินอาหารของสัตว์ในแต่ละประเภท หากสัตว์ชนิดใดมีลำไส้สั้น จะเป็นจำพวกที่กินอาหารประเภทเนื้อ และหากสัตว์ชนิดใดที่มีลำไส้ยาว จะเป็นจำพวกที่กินอาหารประเภทพืช เนื่องจากจะต้องใช้ระยะเวลาในการหมัก จึงทำให้พื้นท้องของสัตว์ชนิดนั้นมีสีดำ
ด้วยความยาวของลำไส้ที่มีมากถึง 4 เท่า จึงทำให้ปลาหมอคางดำสามารถกินอาหารได้ตลอดเวลา และมีระบบการย่อยอาหารที่มีประสิทธิภาพ สามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลา 30 นาที จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาชนิดนี้มีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยการกินอาหารค่อนข้างดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาหมอเทศ
แนวทางการแก้ไขปัญหาในมุมมองนักวิชาการ
ปฏิบัติและให้ความร่วมมือกับนโยบาย หรือแนวทางการป้องกันของรัฐบาล นอกจากการรณรงค์กำจัดให้เป็นศูนย์ (0) จะต้องใช้หลักวิชาการทางด้านพันธุศาสตร์เข้ามาช่วย ด้วยการทำให้ปลาชนิดนี้เป็นหมันและไม่สามารถขยายพันธุ์หรือวางไข่ได้อีก เป็นการลดปริมาณประชากรของปลาหมอคางดำได้ในอนาคต และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การไม่ตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุในพื้นที่ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด และร่วมสร้างจิตสำนึกให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากว่าประโยชน์ส่วนตน
การแพร่ระบาดในพื้นที่ภาคอีสาน
หากพูดถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ (อีสาน) นายกฤษณุพันธ์ โกเมนไปรรินทร์ ประมงจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ขณะนี้ใน 20 จังหวัดของภาคอีสาน ยังไม่มีรายงานการพบเจอหรือการแพร่ระบาด และมีความเป็นไปได้ยากมากที่จะพบปลาชนิดนี้ เนื่องจากพื้นที่ภาคอีสานไม่มีปากแม่น้ำที่อยู่ติดกับทะเล แนวโน้มการพบเจอแทบจะไม่มี
นอกจากจะมีคนบางกลุ่มที่แอบลักลอบนำเข้ามาในพื้นที่แล้วปล่อยสู่แหล่งน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมาย เช่น การเพาะเลี้ยง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบมีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าว
การศึกษา
นครพนม
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย