26 ก.ค. เวลา 05:18 • กีฬา

เคยโดนด่าเละ สู่คำชื่นชน บทเรียนชีวิตของแกรนด์สปอร์ต

ชุดแข่งโอลิมปิก 2024 ของแกรนด์สปอร์ต ได้รับคำชื่นชมว่าออกแบบสวย และเลือกสตอรี่ได้ยอดเยี่ยม เอามรดกโลกบ้านเชียงมาถ่ายทอดความเป็นไทย ดูเหมาะสมกับอีเวนต์ใหญ่ระดับโลกแบบนี้
คำชมมากมายเข้ามาหาแกรนด์สปอร์ต แต่กว่าพวกเขาจะมีวันนี้ได้ ก็ "เจ็บหนัก" มาก่อนแล้ว
1
ถ้าใครจำกันได้ 3 ปีที่แล้ว ในโอลิมปิกที่โตเกียว แกรนด์สปอร์ตโดนสังคมรุมด่าเละจนหมดสภาพ
สำหรับการออกแบบเสื้อแข่งในโอลิมปิกนั้น มี 2 เรื่อง ที่ต้องโฟกัส นั่นคือ 1) ความสวยงามมีลูกเล่นน่ามอง และ 2) เสื้อแข่งต้องส่งเสริม Performance ของนักกีฬาในการแข่งขันได้ด้วย
6
แต่ในโอลิมปิกที่โตเกียว แกรนด์สปอร์ตสอบตกทั้งสองเรื่อง
ก่อนจะไปย้อนอดีตว่าสอบตกอย่างไร ข้อเท็จจริงสำคัญหนึ่งอย่าง คือทุกๆ 4 ปี คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย จะเชิญแบรนด์เสื้อกีฬาไทยมาร่วมประมูล เพื่อหาผู้ออกแบบและผลิต เสื้อแข่งให้นักกีฬาไทย ใน 1 วงรอบ
โดย 1 วงรอบ จะประกอบด้วย ซีเกมส์ 2 ครั้ง, เอเชียนเกมส์ 1 ครั้ง และ โอลิมปิก 1 ครั้ง
ในอดีตไทยเคยใช้ FBT มาก่อน แต่ฝั่งแกรนด์สปอร์ต เป็นผู้ชนะได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกฯ มา 4 วงรอบติดต่อกัน ได้แก่ โอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง, 2012 ที่ลอนดอน, 2016 ที่ริโอ และ 2020 ที่โตเกียว
ด้วยการที่ถูกเลือกติดต่อกัน 4 รอบ ส่งผลให้แกรนด์สปอร์ตมีความย่ามใจ จนละเลยเรื่องการออกแบบที่สวยงาม
1
ในโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว แกรนด์สปอร์ตใช้คอนเซ็ปต์เสื้อแข่งนักกีฬาว่า "New Wave" โดยนิยามว่า "ใช้ลวดลายกราฟฟิกเหมือนเกลียวคลื่นที่ทรงพลัง ที่ทั้งดุดัน และอ่อนช้อยในเวลาเดียวกัน"
ถ้าเราอ่านดู ก็จะเห็นว่านิยามมันกลวงๆ ไม่แข็งแรง จับต้องไม่ได้ ไม่รู้สะท้อนความเป็นไทยยังไง ไม่มีสตอรี่เบื้องหลัง แล้วการออกแบบก็ยังเชย ตัวสีเหลืองโคร่งๆ แปะธงชาติไทยอยู่บนหน้าอกแค่นั้นจบ บางคนใช้คำแรงๆ ว่า "เหมือนเสื้อโหลที่ตลาดนัด" ขนาดนั้นเลย
1
ขณะที่เรื่องการใช้งาน ก็ไม่ส่งเสริม Performance ของนักกีฬาอีกต่างหาก เสื้อขนาดใหญ่ ไม่พอดีตัว นักกีฬาต้องคอยถลกแขนเสื้อตลอดเวลาระหว่างแข่ง ขณะที่ชาติอื่นนักกีฬามีเสื้อผ้ารูปแบบหลากหลาย มีแขนกุดบ้าง สปอร์ตบราบ้าง แต่ของไทยเป็นเสื้อมีแขนตัวใหญ่ๆ จะกีฬาอะไรก็แบบพิมพ์เดียวกันเป๊ะ
ความผิดพลาดจุดนี้ของแกรนด์สปอร์ต เกิดขึ้นเพราะไม่ได้ทำการฟิตติ้งนักกีฬา
ด้วยความที่เป็นช่วงโควิด ทำให้การติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างผู้ออกแบบ กับ สมาคมต่างๆ ทำได้ยาก แกรนด์สปอร์ตเลยใช้วิธี ถามแต่ละสมาคม ให้ส่งไซส์เสื้อผ้าของนักกีฬามาให้เลย แล้วเดี๋ยวแกรนด์สปอร์ตจะส่งเสื้อไปให้
1
เมื่อไม่ได้วัดตัวกันอย่างจริงจัง ไม่มีการถามนักกีฬาว่า ชอบใส่สไตล์ไหน ทำให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่เห็น นั่นคือ เสื้อแข่งดูเชย แถมยังส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการแข่งอีกต่างหาก
วันนั้นที่โตเกียว สังคมรุมถล่มแกรนด์สปอร์ตเละ ถึงขนาดมีแฟนกีฬาโทรศัพท์มาที่สำนักงานใหญ่เพื่อมาด่าพนักงานเลยด้วย บรรยากาศภายในบริษัทเต็มไปด้วยความหดหู่ใจอย่างมาก
หลายคนบอกว่าก็สมควรโดนสับแล้วนี่ เพราะโอลิมปิกมี 4 ปีครั้ง มันเป็นจุดสูงสุดของวงการกีฬาไทยแล้ว ถ้าคุณออกแบบ และผลิตชุดแข่งออกมาได้แค่นี้ มันก็ต้องรับคำด่าไป
เมื่อเกิดเหตุแล้ว ธารา พฤกษ์ชะอุ่ม ซีอีโอ และ ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม รองประธานกรรมการบริษัท ได้เรียกประชุมทีมงานทั้งหมด เพื่อมาคุยปัญหาที่เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องวิกฤติขององค์กร ถ้าหากเดินเกมไม่ดี ภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่สั่งสมมานานหลายปี อาจจะพังทลายลงไปเลยก็ได้
ธิติ เล่าว่า "ก่อนที่จะไปแก้ไขอะไรก็ตาม ผมถามทีมงานก่อนว่า 'ยอมรับมั้ย ว่าชุดแข่งที่เราทำมันมีปัญหา' ทุกคนยอมรับหมดว่ามันแย่ คือตอนน้องเมย์ รัชนกลงแข่ง แล้วต้องถกเสื้อตลอด เรายังรำคาญแทนเขาเลย"
1
"การยอมรับเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเองผิด เราจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้เลย"
1
ในการประชุมวันนั้น ได้ข้อสรุปว่า แกรนด์สปอร์ตเป็นแบรนด์กีฬาก็จริง แต่จะละเลยเรื่องแฟชั่นไม่ได้ โอลิมปิกเป็นการนำเสนอประเทศไทยไปสู่สายตาชาวโลก ดังนั้นทุกชุดที่ออกแบบต่อจากนี้ไป ต้องมีความสวยงาม และมีเรื่องราว
ส่วนเรื่องโควิดใดๆ นั้น จริงอยู่ว่า มันทำงานยากขึ้น ไปฟิตติ้งนักกีฬาก็ลำบาก แต่จะเอามาเป็นข้ออ้างไม่ได้
กลยุทธ์ของแกรนด์สปอร์ต มี 2 ข้อ ข้อแรก คือจะไม่ตอบโต้กับมวลชน ยอมรับก้อนหินแต่โดยดี โดนชาวเน็ตหรือโดนสื่อมวลชนด่า จงก้มหน้ารับไป ก็มันพลาดไปแล้วจริงๆ พวกเขาถึงขนาดมีการเปิดแบบสอบถามให้ประชาชนคอมเมนต์เลยด้วยซ้ำ ถ้าใครอยากด่า มาด่าตรงนี้ได้เลย
1
และกลยุทธ์ข้อสอง คือในการออกแบบครั้งต่อไป แกรนด์สปอร์ตจะตั้งใจทำงานมากกว่านี้ เตรียมตัวให้หนักกว่านี้ ไม่เปิดช่องให้ความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นอีกแล้ว
หลังจบโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว ทัวร์นาเมนต์แรกที่แกรนด์สปอร์ตต้องทำเสื้อผ้านักกีฬา คือซีเกมส์ 2021 ที่เวียดนาม
ในตอนแรกทีมดีไซเนอร์ก็ออกแบบไว้แล้ว แต่เป็นแบบธรรมดาไม่โดดเด่น ปรากฎว่า ธารา พฤกษ์ชะอุ่ม โละการออกแบบทั้งหมด แล้วให้ดีไซน์ใหม่ตั้งแต่แรกเลย แกรนด์สปอร์ตต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีให้เร็วที่สุด นั่นเป็นที่มาของเสื้อ Tracksuit ลวดลายแปลกตา สีแดงครึ่ง สีน้ำเงินครึ่ง แขนซ้าย-ขวาเป็นสีขาว
1
จากซีเกมส์ที่เวียดนาม แกรนด์สปอร์ตทำเสื้อซีเกมส์ 2023 ที่กัมพูชา ด้วยคอนเซ็ปต์รีไซเคิลจากขวดพลาสติกมาใช้ในการผลิต จากนั้นใน เอเชียนเกมส์ 2023 ที่จีน ก็เอาพวกอาหารไทย, ผลไม้, สถาปัตยกรรม ใส่ลวดลายลงไปในเสื้อแข่ง พยายามทำให้มันน่าสนใจ
ในซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์ พวกเขาผ่านพ้นมาได้ โดยไม่โดนตำหนิ แต่นั่นเป็นเพียงด่านซ้อม เพราะบททดสอบที่แท้จริง ที่คนไทยจับตารอดูทั้งประเทศคือโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีสอีกต่างหาก
1
เมื่อเป็นสเกลระดับโอลิมปิก คนที่สนใจเรื่องเสื้อผ้านักกีฬา ไม่ใช่คนในวงการกีฬาอย่างเดียวอีกแล้ว แต่เป็นคนทุกๆ คอมมิวนิตี้ในประเทศ
และแกรนด์สปอร์ตยอมไม่ได้ ที่จะโดนด่าสองโอลิมปิกติดกัน
ธิติ เล่าว่า "การจะแก้ไขในความผิดพลาดเมื่อ 3 ปีก่อน คือเราต้องทำให้ดีที่สุดในโอลิมปิกครั้งนี้ สังคมจับตาดูเราอยู่ว่าจะพลาดซ้ำเดิมหรือไม่"
"คราวนี้เราแค่ดีไซน์เฉยๆ ไม่ได้ แต่เราต้องเอาตัวเองไปอยู่ในใจของผู้บริโภคด้วย ต้องคิดตามเขาว่า คนทั่วไปอยากจะเห็นชุดนักกีฬาไทยเป็นแบบไหน"
กระบวนการออกแบบ เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2023 แกรนด์สปอร์ตจะมีดีไซเนอร์ของบริษัทอยู่ราวๆ 10 คน โดยผู้บริหาร ให้โจทย์ว่า "สิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นไทย" จากนั้นให้ดีไซเนอร์แต่ละคน ไปคิดมาแล้วมานำเสนอ โดยไม่ตีกรอบว่าความเป็นไทยคืออะไร
ทีมดีไซเนอร์ ออกไอเดียมา 5 แบบ แล้วมาขึ้นโต๊ะเพื่อ Brainstorm ก่อนจะตัดเหลือ 3 ชอยส์ มีการทำตัวอย่างเพื่อเอามาพิจารณากันอย่างละเอียด
ทีมงานตัดเหลือ 2 แบบสุดท้าย เพื่อส่งให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้คัดเลือก นั่นคือ "ผ้าไทย" และ "มรดกโลกบ้านเชียง"
และ คณะกรรมการโอลิมปิกฯ ตัดสินใจเลือกคอนเซ็ปต์ มรดกโลกบ้านเชียง
สำหรับไอเดียเรื่องบ้านเชียงนั้น ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบตีความว่า ความเป็นไทยในมุมของเขา คือประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ เรามีมรดกโลก (World Heritage Site) มากถึง 7 แห่ง
ดังนั้นการเอา แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง 1 ใน 7 มรดกโลก มาเล่าเรื่อง ก็น่าสนใจดี นอกจากนั้นลวดลายเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง มีความสวยแปลกตา แถมคนที่เห็นก็รับรู้ได้ทันทีว่า อ๋อ นี่ไงลายสไตล์บ้านเชียง
และนี่เป็นการทำให้เห็นว่า ความเป็นไทยไม่ได้มีแต่ในกระแสเมนสตรีมอย่างเดียว ไม่ใช่มีแค่วัดพระแก้ว ข้าวเหนียวมะม่วง หรือรถตุ๊กตุ๊ก แต่มีหลายรูปแบบ ที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของคนทั่วประเทศ
เมื่อสรุปจบว่าไอเดียนี้ได้รับเลือก ทีมงานก็ลงพื้นที่ทันที ด้วยการไปที่อุดรธานี ไปปรึกษา ผช.ดร.ธีระยุทธ์ เพ็งชัย ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้า และสิ่งทอ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ว่าประยุกต์อย่างไรถึงจะเข้ากับชุดนักกีฬาโดยไม่ล้าสมัย คู่สีแบบไหน ที่จะเหมาะกับลายสไตล์บ้านเชียง
ตามด้วยไปปรึกษา กนกวลี สุริยะธรรม ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบ้านเชียง ซึ่งก็ได้ข้อมูลมาว่า ถ้าอยากทำลวดลายแบบนี้ ก็ให้ไปปรึกษาชาวบ้านคนนี้
ทีมงานลงพื้นที่หลายรอบ ไปขอความรู้กับชาวบ้านที่ทำงานด้านนี้โดยตรง ค่อยๆ ศึกษาศิลปะบ้านเชียง ที่มีทั้งเครื่องปั้นดินเผา และ ผ้าทอ ว่ามีลวดลายรูปแบบไหนบ้าง
แก้ไขแล้ว แก้ไขอีกหลายรอบ ในที่สุดทีมดีไซน์ ก็เอาลวดลายสไตล์บ้านเชียง มาประยุกต์กับเสื้อของทีมชาติไทยได้สำเร็จ นับจากวันแรกที่ออกแบบ จนถึงวันที่ทุกอย่างลุล่วง ก็กินเวลา ราว 9 เดือนเต็ม
แกรนด์สปอร์ต ออกแบบเสื้อแขนยาว 3 รูปแบบคือ แจ๊กเกต, Tracksuit และ เสื้อวอร์ม นอกจากนั้นยังมี เสื้อแขนสั้น, เสื้อซ้อม และ ชุดแข่งขันจริง โดยทั้งหมดจะมีลวดลายประยุกต์ศิลปะบ้านเชียงสอดแทรกอยู่ ลายก้นหอยบ้าง ลายขดเชือกบ้าง ดูโดดเด่นแปลกตาเป็นอย่างมาก
เมื่อเปิดตัวออกมา ฟีดแบ็กของคอนเซ็ปต์ "New Wave" เมื่อ 3 ปีก่อน กับ "บ้านเชียง" ในปีนี้ ต่างกันคนละเรื่อง
ผลงานมันสะท้อนมาจากความตั้งใจ ครั้งนี้ประชาชนดูออกว่าแกรนด์สปอร์ตตั้งใจทำ มีการสร้าง Storytelling ขึ้นมา ไม่ได้ออกแบบมาอย่างส่งเดช แต่มีแรงบันดาลใจจากความเป็นไทยรูปแบบหนึ่งจริงๆ
สำหรับพรีเซนเตอร์หลักที่โฆษณาชุดบ้านเชียงของแกรนด์สปอร์ต คือปอป้อ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันทีมชาติ ซึ่งบังเอิญที่ปอป้อ เกิดที่อุดรธานีพอดี เวลาใส่ชุดที่มีความเป็นบ้านเชียงอยู่ ก็เลยมีความเข้ากันอย่างบอกไม่ถูกเลยทีเดียว
เรื่องความสวยงาม สอบผ่านแล้ว แต่อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ Performance ของนักกีฬา
เมื่อ 3 ปีก่อน แกรนด์สปอร์ตทำพลาด เมื่อไม่ไปฟิตติ้งนักกีฬา แต่ให้ส่งไซส์เสื้อมาเลย คราวนี้พวกเขาไม่พลาดซ้ำเดิมอีกแล้ว
ธิติเล่าว่า "ทีมงานแกรนด์สปอร์ต เราเดินทางไปยังทุกสมาคม ที่มีนักกีฬาได้สิทธิ์โอลิมปิก ไปวัดไซส์กันให้ละเอียดตรงนั้นเลย แล้วคราวนี้เราถามนักกีฬาแต่ละคนว่า เขาอยากใส่ชุดแบบไหน อย่าง เมย์ รัชนก เรามีชอยส์ให้เขาเลือกเลย ว่าจะเอาแขนกุด มีแขน กระโปรง ขาสั้น จะเอาเป็นเสื้อผ้าสองชิ้น หรือเอาเป็นเดรส คืออยากใส่อะไรบอกทีมงานได้เลย ซึ่งเมย์เขาเลือกแขนกุด กับ กระโปรง เราก็ได้เลย มาวัดตัวกัน คือให้เขาเลือกชุดที่ตัวเองจะถนัดที่สุดตอนแข่ง"
"ถ้าเขาอยาก Customize ปรับแต่งตรงไหน เราก็จะทำให้เขา เพราะนี่คือ 51 คน ที่ได้สิทธิ์ไปแข่งขันในมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราก็อยากทำให้มันดีที่สุดไปเลย"
1
"พวกแจ๊กเกตเราจะให้นักกีฬาเลือกไซส์ แต่ถ้าเป็นชุดแข่งที่ส่งผลต่อฟอร์มในสนาม เราต้องละเอียดมากที่สุดครับ"
เมื่อเตรียมการทุกอย่างเป็นอย่างดี 17 กรกฎาคม 2024 วันที่เปิดตัวชุดมรดกโลกบ้านเชียง จึงได้รับคำชมอย่างมาก ว่าออกแบบได้ดี มีเรื่องเล่า ขณะที่ชุดแข่งก็ดูเข้ากับนักกีฬาทุกคน เพราะมีการฟิตติ้ง และนักกีฬาก็เลือกแบบที่ชอบเอง
ไม่ใช่แค่ชาวเน็ตเท่านั้น แม้แต่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ยังออกมากล่าวชื่นชมด้วยอีกคน
1
สิ่งที่แกรนด์สปอร์ตได้เป็นโบนัสพิเศษจากความตั้งใจครั้งนี้ คือ พิธีเปิด-ปิด โอลิมปิกที่ปารีส ด้วยความที่มีดราม่าเรื่องชุดพิธีการ ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ตัดสินใจเลือกใช้เสื้อแขนยาวสไตล์บ้านเชียงแทน สำหรับให้นักกีฬาลงเรือในพิธีเปิด
2
แกรนด์สปอร์ตเลยได้ส้มหล่น ถูกมองเห็นจากสายตาของคนทั้งโลกในช่วงพิธีเปิด นี่เป็นสิ่งที่ทีมงานภูมิใจอย่างมาก
แล้วพอเป็น Talk of the town ยอดขายเสื้อดีไซน์บ้านเชียงก็พุ่งทะยาน ผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมดเท่านั้น กลายเป็นของ Rare ไปแบบงงๆ
และในทางอ้อม เมื่อเรื่องบ้านเชียงกลายเป็นกระแส ก็ส่งผลดีต่อท้องถิ่นด้วย และคนบ้านเชียงที่ทำงานศิลปะส่วนหนึ่งก็มีรายได้เพิ่ม จากยอดสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย
ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม รองประธานกรรมการบริษัท กล่าวทิ้งท้ายว่า "ในอดีตเสื้อแข่งกีฬา ก็จะสนใจแต่เรื่อง Performance อย่างเดียว แต่ในปัจจุบันมันไม่ได้แล้ว ความสวยงามก็เป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกัน ยิ่งประเทศไทย มีดีไซเนอร์เก่งๆ เยอะมากแบบนี้ด้วยแล้วล่ะก็ ความสวยงามจึงมองข้ามไม่ได้"
1
"ดังนั้นเมื่อเราได้โอกาสออกแบบให้ตัวแทนทีมชาติใส่ เราก็จะดีไซน์ให้มันสวยที่สุดเท่าที่ทำได้ และใส่เรื่องราวเข้าไป ไม่ใช่แค่ออกแบบไปเฉยๆ"
"แต่ความยากของแบรนด์กีฬา คือออกแบบอย่างไร ไม่ให้เชยเกินไป แต่จะแฟชั่นจ๋าเลยก็ไม่ได้ โดยที่เรื่อง Performance ของนักกีฬาก็ยังต้องมีประสิทธิภาพดีด้วย การหาสมดุลให้เจอ คืองานของเราครับ"
1
"ส่วนเรื่องคำชมที่ได้รับจากประชาชนในวันนี้ ก็ยอมรับว่าดีใจครับ พนักงานทุกคนในบริษัทเราก็มีความสุขกันหมด คือเราตั้งใจมากจริงๆ ไม่อยากให้พลาดอีกแล้ว"
1
"แต่ก็แน่นอนว่าจากนี้ไป ก็จะเป็นงานยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อเราทำได้ดีแล้วครั้งหนึ่ง สังคมก็จะคาดหวังให้ทำดีขึ้นไปเรื่อยๆ เอาเป็นว่า เราจะพยายามอย่างเต็มที่นะครับ"
1
สิ่งที่ทำให้แกรนด์สปอร์ตพลิกจากการโดนด่า มาถูกชมได้ในวันนี้ คือการ "ยอมรับความจริง"
ถ้าเหตุการณ์ที่โตเกียวเมื่อ 3 ปีก่อน เจ้าของแบรนด์ และทีมงานยังหลอกตัวเองว่า "เฮ้ย เราออกแบบดีแล้ว แต่สังคมไม่ยอมรับเอง" รับรองได้ว่า การพัฒนาอย่างแท้จริงก็คงไม่เกิดขึ้น
แต่ถ้าเลือกจะยอมรับ และตัดสินใจแก้ไขในความผิดพลาดโดยทันที ทำงานให้หนักเป็นการพิสูจน์ตัวเอง สักวันหนึ่ง ประชาชนก็พร้อมจะเปิดใจและยื่นดอกไม้ให้คุณได้เช่นกันครับ
1
#RepresentThailand
โฆษณา