26 ก.ค. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดชื่อ 16 แบงก์ทุ่มวงเงิน 100,000 ล้านบาท จับมือปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

เปิดชื่อ 16 แบงก์ทุ่มวงเงิน 100,000 ล้านบาท จับมือปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 3.5% ต่อปี สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก-รายย่อย เข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up สำหรับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เติบโต สามารถก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคได้อย่างเข้มแข็ง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
โดยนายพิชัย เปิดเผยว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันธุรกิจ SMEs ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งภาระต้นทุนธุรกิจสูง สภาพคล่องที่จำกัด และความต้องการแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ธุรกิจ SMEs และเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการขยายตัวต่อ GDP ของประเทศต่อไป
สำหรับ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up มีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ รวม 16 แห่ง ได้แก่
1. ธนาคารกรุงไทย
2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
3. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
6. ธนาคารกรุงเทพ
7. ธนาคารกสิกรไทย
8. ธนาคารไทยพาณิชย์
9. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
10. ธนาคารทหารไทยธนชาต
11. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
12. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
13. ธนาคารยูโอบี
14. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)
15. ธนาคารทิสโก้
16. ธนาคารไทยเครดิต
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้สั่งการให้ธนาคารออมสินเข้าช่วยเหลือ SMEs ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ และเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน จึงเกิดโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 100,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ให้แก่สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ
เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ ที่ไม่ใช่การรีไฟแนนซ์ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายรวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับลงทุนและเสริมสภาพคล่องในกิจการ ติดต่อยื่นขอสินเชื่อได้ที่สถาบันการเงิน ที่เข้าร่วมโครงการฯ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
ไม่หวั่นการเมืองกระทบแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
เมื่อถามว่า ปัญหาทางการเมืองรวมถึงคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะส่งผลต่อการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หรือไม่ นายพิชัย ระบุว่า ไม่กังวล โครงการยังต้องเดินหน้าต่อไปไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร ทั้งยังบอกว่า ตั้งแต่ตนเป็นเด็กจนโตมา ไม่เคยมีช่วงไหนการเมืองนิ่ง มีปัญหาการเมืองเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ ก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้ปัญหาการเมืองเดินไป ไม่ว่าการเมืองไปทางไหน ใครมาใครไป เราก็ต้องทำในสิ่งที่เราต้องทำ
ส่วนสาเหตุที่ยังไม่สามารถกำหนดวันในการใช้จ่ายได้ นายพิชัย บอกว่า ถ้าได้เห็นข้อมูลจริงๆว่าคนสนใจเท่าไหร่ มาลงทะเบียนเท่าไหร่ เป็นใครอยู่เขตไหนเท่าไหร่ เมื่อข้อมูลที่ครบถ้วนน่าจะทำให้มองภาพได้ชัดเจนขึ้น
ส่วนกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งยกร่างกฎหมายใหม่ใช้แทน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน เพื่อดูแลราคาน้ำมันในประเทศ นายพิชัยระบุว่า ประเทศไทยต้องนำเช้าน้ำมันมากกว่า 90% และน้ำมันในตลาดโลกมีราคาผันผวนมาโดยตลอด การจัดตั้งกองทุนน้ำมันก็เพื่อทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศมีเสถียรภาพ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่ผู้ที่ดูแลทางด้านภาษีต้องเก็บไปคิดเป็นการบ้าน
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา