27 ก.ค. เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ “ปารีส” จากหมู่บ้านชาวเคลต์สู่เมืองเจ้าภาพโอลิมปิก 2024

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนประจำปี 2024 ก็เพิ่งผ่านพ้นไปหมาด ๆ ซึ่งนี่ก็นับว่าเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นในกรุงปารีสแห่งนี้ ทำให้ปารีสเป็นเมืองที่สองในประวัติศาสตร์ที่จัดโอลิมปิกครบ 3 ครั้ง (เมืองแรกที่จัดครบคือลอนดอน)
ปารีสเรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่อบอวลไปด้วยวัฒนธรรมจากอดีตหลายยุคหลายสมัยที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ตลอดจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความรักสุดโรแมนติก, เมืองศิลปะ, เมืองแฟชั่น, และเมืองท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลให้เดินทางมาในทุก ๆ ปี
เป็นเมืองที่มีทุกอย่างสมดังที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่าง โธมัส เจฟเฟอร์สันเคยกล่าวเอาไว้ว่า “แค่เดินเล่นในกรุงปารีส คุณก็จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์, สุนทรียศาสตร์, และจุดมุ่งหมายของชีวิต”
1
Bnomics ในวันนี้จึงอยากจะพาทุกท่านไปย้อนรอยประวัติศาสตร์ 2500 กว่าปีของมหานครปารีส เมืองแห่งความรัก, ความงาม, และเรื่องราวที่ไม่รู้จบกัน
⭐หมู่บ้านริมน้ำของชาวเคลต์ และการพิชิตลุ่มแม่น้ำแซนของซีซาร์
การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในปารีส อันที่จริงแล้วเราสามารถย้อนกลับไปไดไกลถิ่นยุคหินกลาง อย่างไรก็ดีเรามีหลักฐานยุคประวัติศาสตร์ของปารีสในช่วงราว 250 ปีก่อนคริสตกาล โดยพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวปาริซี ซึ่งเป็นชนเผ่าย่อย ๆ ของชาวเคลต์เผ่าเซโนเนสที่ตั้งรกรากอยู่ริมแม่น้ำแซนซึ่งสืบอายุได้เก่าถึงยุคเหล็ก
อย่างไรก็ดีต่อมาชุมชนดังกล่าวถูกรุกรานโดยชาวโรมันซึ่งนำทัพโดยจูเลียส ซีซาร์ ผู้โด่งดังซึ่งได้นำทัพขึ้นเหนือเพื่อต่อสู้กับชนเผ่าเยอร์มานิก พร้อม ๆ กับผนวกชนเผ่าที่พบระหว่างทางเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรมันในช่วง 50 ปีก่อนคริสตกาล
ในตอนแรกชาวปาริซีก็ยอมโดยดี แต่ก็แอบจับมือกับชนเผ่าอื่น ๆ ในภูมิภาคกอลเพื่อก่อกบฏ ทว่าจูเลียสซีซาร์ก็สามารถมาปราบกบฏลงได้ และผนวกภูมิภาคกอลทั้งหมดให้เป็นส่วนหนึ่งของโรมันนับแต่นั้นมา
⭐ปฐมบูรพชนแห่งแฟรงก์
อาณาจักรโรมันในภูมิภาคกอลถูกโจมตีโดยกลุ่มชนเยอร์มานิกบ่อยครั้งตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 3 ทำให้อำนาจของโรมันในภูมิภาคกอลเสื่อมลงไปในทุกขณะ จนในที่สุดกลุ่มชนเยอร์มานิกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าชาวแฟรงก์ก็ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ โดยในช่วงศตวรรษที่ 6 ก็สามารถก่อสร้างอาณาจักรและขับไล่ชาวโรมันออกจากภูมิภาคกอลได้สำเร็จ และตั้งราชวงศ์แมโรวิเชียงขึ้นมา
ในสมัยราชวงศ์แมโรวิเชียง ปารีสได้กลายมาเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรจนสิ้นสุดราชวงศ์แมโรวิเฌียง สถานะของเมืองหลวงก็ถูกย้ายจากปารีสไปที่อาเคิน(ปัจจุบันอยู่เยอรมัน)แทนในสมัยราชวงศ์การอแล็งเฌียง
ปารีสไม่ได้รับการใส่ใจมากนักแต่ก็ยังเป็นเมืองสำคัญอยู่เรื่อย จนในช่วงศตวรรษที่ 9 ปารีสมักจะถูกโจมตีโดยชาวไวกิ้งอยู่บ่อยครั้งทั้งจากกลุ่มของแร็กนาร์ก็ดี หรือกลุ่มของซิกฟรีดก็ดี และเมื่อราชวงศ์การอแล็งเฌียงสิ้นสุดลงอาณาจักรแฟรงก์ก็แตกออกเป็นหลายส่วน ก่อนที่จะถูกรวมอีกครั้งโดยราชวงศ์กาเปต์ในศตวรรษที่ 10 ปารีสจึงได้กลับมาเป็นเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่ง
พร้อม ๆ กับคืนชีพให้ปารีสกลายเป็นเมืองที่รุ่งเรืองไปด้วยเศรษฐกิจและศิลปะวัฒนธรรมก่อนที่สายตระกูลวาลัวร์และบูร์บงได้ขึ้นอำนาจปกครองอาณาจักร ปารีสก็เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรตลอดมา
⭐บ้านเกิดแห่งศิลปกรรมกอธิค
ในช่วงยุคกลาง ปารีสซึ่งได้รับการดูแลเป็นอย่างดีโดยวงศ์กาเปต์ก็เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ตลอดจนเป็นเมืองคริสต์ที่มีชื่อเสียงเพราะเป็นที่ตั้งของโบสถ์และวิหารชื่อดังและเก่าแก่หลายแห่งที่ให้ชาวคริสต์จำนวนมากจากหลายที่เดินทางมาแสวงบุญ
โดยความรุ่งเรืองของศาสนาและศิลปกรรมที่อยู่คู่กันอย่างเห็นได้ชัดก็เช่นการถือกำเนิดของสถาปัตยกรรมกอธิคโดยบาทหลวงซูเฌ ผ่านการบูรณะมหาวิหารแซงต์เดอนีส์และการก่อสร้างมหาวิหารนอร์ทเทอร์ดามราวศตวรรษที่ 13
⭐ละครโรงใหญ่ของสุริยกษัตริย์ และคาเฟ่ปัญญาชน
1
ในศตวรรษที่ 16 ปารีสได้กลายเป็นสมรภูมิของสงครามศาสนาในช่วงการปฏิรูปศาสนาทำให้เกิดความเสียหายมากมาย แต่ก็ถูกบูรณะใหม่โดยพระเจ้าอองรีที่ 4 ในช่วงเวลานี้เกิดสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่ ๆ มากมายหลายชิ้น และมีการต่อเติมของเก่าเพิ่มเป็นจำนวนมากในกรุงปารีส จนกาลเวลาล่วงเข้าสู่รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ในกลางศตวรรษที่ 17
ปารีสกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 400,000 คนในปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 พอเข้าสู่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ปารีสก็มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในฐานะของเมืองแห่งศิลปะวัฒนธรรมตามนโยบายสุริยกษัตริย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีโรงละครสุดทันสมัยและสนามเทนนิสขนาดใหญ่ และมีประชากรมากขึ้น เริ่มมีตึกแถวสูงใหญ่อยู่แออัดตามท้องถนนกรุงปารีส ทำให้เหล่าชนชั้นสูงที่อยากหลีกหนีความเคร่งเครียดของสงสัยเมื่อ พากันไปพักผ่อนที่แวร์ซายน์กันจนมีการขยายเมืองในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15
ในช่วงศตวรรษที่ 18 ปารีสก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของยุคเรืองปัญญาที่มีนักคิดนักเขียนหลายคนอาศัยอยู่ เกิดคาเฟ่และซาล็องซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนสำหรับการพูดคุยสนทนาทำให้ความรู้และสำนึกทางการเมืองถูกแพร่ขยายอย่างรวดเร็วจนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมา และปารีสกลายเป็นเมืองแห่งเสรีภาพและการเมืองไปโดยปริยาย
⭐ศูนย์กลางแห่งศิลปะวัฒนธรรมในยุคสวยงาม
เสถียรภาพทางการเมืองฝรั่งเศสและกรุงปารีสไม่ได้มั่นคงยาวนานนัก โดยในช่วงศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันอยู่หลายครั้ง ซึ่งก็ส่งผลต่อความสงบสุขในปารีสบ้างจนกระทั่งการสิ้นสุดของระบอบจักรวรรดิที่ 2 และการเกิดขึ้นของสาธารณรัฐที่ 3 ปารีสก็ได้เข้าสู่ยุค Belle Époque ที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญหลาย ๆ อย่างทั้งแฟชั่น, ศิลปะ, วรรณกรรม, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยในส่วนของเศรษฐกิจนี้มีความรุ่งเรืองพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในปลายทศวรรษที่ 1890s ไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1
⭐ปารีสในปัจุบันสมัย
ในปัจจุบันปารีสยังคงภาพลักษณ์ของการเป็นเมืองแห่งศิลปะวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่นหลังจากฟื้นตัวหลังสงครามโลก ตลอดจนในศตวรรษที่ 21 ปารีสก็ได้กลายเป็นเมืองที่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจและเป็นเมืองที่มีอิทธิพลต่อโลกในระดับที่ใคร ๆ ก็รู้จักชื่อเมืองนี้ โดยอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับปารีสก็หนีไม่พ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นเมืองของแบรนด์หรูแบรนด์ดังต่าง ๆ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาจับจ่ายใช้สอย
ในส่วนของด้านวัฒนธรรม ปารีสก็เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เก่าแก่อย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ซึ่งเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีคนเข้ามากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตลอดจนในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2024 นี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่จะทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปยังปารีสมากขึ้นกว่าเดิมโดยจะกระตุ้นเศรษฐกิจของปารีสและฝรั่งเศสให้แพร่สะพัด โดยคาดการณ์ตัวเลขไว้ที่ราว ๆ 2.6 พันล้านยูโร เลยทีเดียว
โฆษณา