26 ก.ค. เวลา 14:30 • การตลาด

กลยุทธ์ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” ดัน E-Commerce โตสวนเศรษฐกิจ

เข้าถึงง่าย แต่อาจกลายเป็น ‘กับดักหนี้’ ของกลุ่มรายได้เปราะบางที่ขาดความรู้เรื่องการเงิน
ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย ตามรายงานของ Momentum Works "Ecommerce in Southeast Asia 2024" ระบุว่ามูลค่ารวมของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.14 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 เติบโต 15% จากปีก่อนหน้า
#เวียดนามและไทยโตไวที่สุด
ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจกล่าวว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์รวม (GMV: Gross Merchandise Volume) ของเวียดนามและไทยเพิ่มขึ้นเป็น 52.9% และ 34.1% ตามลำดับ ส่งผลให้เวียดนามแซงหน้าฟิลิปปินส์ขึ้นเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซอันดับ 3 ของภูมิภาค โดยมีอินโดนีเซียครองแชมป์ตลาดใหญ่ที่สุดด้วยส่วนแบ่ง 46.9%
ในประเทศไทย แม้จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย แต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลับเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ดูได้จากผลประกอบการปี 2566 Shopee มีรายได้เฉียด 3 หมื่นล้านบาท กำไร 2 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ปีนี้ Shopee กำไรลดลงจาก 2,380 ล้าน เป็น 2,165 ล้านแต่ก็ยังทำกำไร ส่วน Lazada มีรายได้ 2.1 หมื่นล้านบาท กำไร 600 กว่าล้านบาท เทียบกับปี 2565 Lazada เติบโตขึ้นทั้งรายได้ และกำไร มากถึง 46% (ข้อมูลจาก creden data, กรุงเทพธุรกิจ)
#การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ทวีความเข้มข้น
TikTok Shop กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญ และสามารถแซงหน้า Lazada ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนได้ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 28.4% และมียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากปีก่อนหน้าคิดจากยอดขายของ Tiktok Shop และ Tokopedia (แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียที่ติ๊กต็อกถือหุ้นใหญ่)
อย่างไรก็ตาม Shopee ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 48% ตามมาด้วย TikTok และ Tokopedia ที่มีส่วนแบ่งรวมกัน 28.4% และ Lazada 16.4%
คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Creden.co, PaySolutions ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่าช่วงเวลานี้ผู้เล่นรายหลักในตลาดอีคอมเมิร์ซ (Shopee, Lazada, Tiktok) ต่างอยู่ในช่วงทำกำไร เพราะคนไทยเริ่มคุ้นชินกับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ออนไลน์มากขึ้น
#กลยุทธ์การขายที่ต้องตอบโจทย์ลูกค้าในวันที่ต้องประหยัด
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือการปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการ “ความคุ้มค่าและสะดวกสบาย”
Shopee เน้นสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งผ่านแนวคิด 3S - Surprise, Saving และ Success สร้างฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ แคมเปญและกิจกรรมที่คุ้มค่า สร้างร้านค้าออนไลน์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะได้รับประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อแบบที่หน้าร้านก็ให้ไม่ได้ ขณะเดียวกันก็พยายามมองหาบริการต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกเพิ่ม เช่น บริการ SPayLater ช่วยให้การทำธุรกรรมออนไลน์ราบรื่น ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
Lazada มุ่งเน้นการขายแบบ "ลูกค้าเป็นที่หนึ่ง" พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สร้างข้อเสนอที่น่าดึงดูด มอบส่วนลดมากถึง 6 ต่อในบางหมวดหมู่ และการการันตีราคาถูก พร้อมจัดแคมเปญการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกกลุ่มและสร้างยอดขายอย่างผ่านแพลตฟอร์มได้อย่างเป็นรูปธรรม
#ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หมัดเด็ดอีคอมเมิร์ซ
ทั้ง Shopee และ Lazada ต่างมีระบบ Buy Now Pay Later (BNPL) หรือระบบบริการสินเชื่อ ณ จุดขายที่ให้สินเชื่อวงเงินสูง อนุมัติได้ภายในเวลาอันสั้น เพื่อนํามาใช้ชําระค่าสินค้าบนแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องใช้หลักประกันใด ๆ
Buy Now Pay Later กลายเป็นหนึ่งจุดขายและเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ตัดสินใจซื้อสินค้าง่ายขึ้นเพราะยังไม่ต้องจ่ายเงิน สามารถผ่อนชำระได้ ประกอบกับความสะดวกสบายในการสมัครที่ทำผ่านแพลตฟอร์มได้เลย ไม่ได้มีขั้นตอนสมัครยุ่งยากและซับซ้อน ใช้เพียงเอกสารยืนยันตัวตนหรือการตรวจสอบประวัติทางการเงินเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
#BNPLถ้าใช้อย่างไม่ระวัง การเงินพังแน่
LexisNexis Risk Solutions บริษัทข้อมูลและการวิเคราะห์ระดับโลกพบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่ใช้บริการ BNPL มากที่สุด คือคนกลุ่มอายุ 35 ปีและต่ำกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในด้านของรายได้และความรู้ในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งมีงานวิจัยจากหลายที่ ที่พบว่าผู้ใช้บริการ BNPL มีแนวโน้มจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 176 ดอลลาร์ หรือราว 6 พันบาท/ต่อปี หลังการใช้งาน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้รวมถึงค่าธรรมเนียมเบิกเกินบัญชี ดอกเบี้ยบัตรเครดิต และค่าธรรมเนียมการชำระล่าช้า
ในด้านที่ดีบริการ BNPL ก็คือผู้ซื้อสินค้าเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ความเสี่ยงในการโอนเงินระหว่างระบบลดลง (เพราะยืมเงินของแพลตฟอร์มไปจ่ายในแพลตฟอร์มโดยไม่ผ่านตัวกลาง) แต่ในทางกลับหากผู้ใช้ไม่มีวินัยทางการเงินก็จะสามารถเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น ต้องเสียค่าทำเนียมผิดนัดชำระและอาจมีปัญหาทางกฎหมายหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
#อีคอมเมิร์ซโตไวส่งผลกระทบอะไรหรือเปล่า
การเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซย่อมมีผลกระทบหลายด้าน ทั้งในด้านบวกและด้านลบ
ด้านดีก็คือร้านค้าปลีกออนไลน์จะยิ่งโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจแย่ข้าวของรอบตัวราคาแพงขึ้น ได้รับบริการที่มีความสะดวกสบาย เข้าถึงได้ง่าย ผู้ประกอบการไม่ต้องมีหน้าร้านก็สามารถขายของได้
ทว่าในแง่หนึ่งการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอาจกลายเป็นช่องทางผูกขาด ร้านค้ารายย่อยหรือร้านเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัดจะอยู่ยากขึ้น สมรภูมิการแข่งขันด้านราคาดุเดือดขึ้นทำให้บางร้านยิ่งขายยิ่งขาดทุน และเป็นช่องทางหลักที่สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามา
#aomMONEY #การเงิน #กับดักหนี้ #ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง
โฆษณา