26 ก.ค. เวลา 10:04 • สิ่งแวดล้อม

การเดินทางเสมือนจริงและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ดิจิทัล

[#CarbonFootprint]: เป็นที่รู้กันดีว่าการปรับตัวจากผลกระทบของโควิด และการเข้ามาของเมตาเวิร์สทำให้คนส่วนใหญ่หันไปใช้ชีวิตอยู่บ้านและทำงานทางออนไลน์มากขึ้น ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราเดินทางกันน้อยลง ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างฝุ่นควันจากการเดินทางก็ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เราอาจไม่ทันนึกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้านเมื่อคนหันไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์
มีงานวิจัยตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดระบุว่า ภายในปี 2030 เทคโนโลยีเกี่ยวกับข้อมูลและการสื่อสารจะใช้พลังงานเป็นสัดส่วนถึง 20% ของพลังงานที่ใช้ทั้งโลก โดยจะใช้ไฟฟ้าเทียบเท่ากับ 1% ของความต้องการพลังงานทั่วโลก ซึ่งมากกว่าความต้องการพลังงานในหลายประเทศ
โดยในปัจจุบันยังพบว่า ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) หรือค่าที่รายงานปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากเทคโนโลยีในกลุ่มดังกล่าวก็ได้พุ่งทะยานจนคิดเป็น 3.7% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกแล้ว
หากในอนาคตคนจะหันมาใช้งานข้อมูลจาก Artificial intelligence (AI) มากขึ้น ก็จะยิ่งเกิดความต้องการข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ต้องมีทั้งความหลากหลายและความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นไปอีก
จากการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ลองให้ AI โดยทั่วไปฝึกวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล พบว่าแค่การฝึก AI เพียงตัวเดียวก็สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากถึง 626,000 ปอนด์ (ประมาณ 284 ตัน) ซึ่งเกือบเท่ากับปริมาณมลพิษที่รถยนต์ทั่วสหรัฐอเมริกาปล่อยออกมาตลอดอายุการใช้งานรวมกันถึง 5 เท่า
เมื่อทั่วทั้งโลกก้าวเข้าสู่ยุคเมตาเวิร์ส เทคโนโลยีอย่าง Virtual reality (VR) และ AI จะกลายเป็นสิ่งสำคัญ เช่น สำหรับการใช้ Deep Neural Network เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของมือผู้ใช้งาน หรือ Deep Learning ที่ใช้สำหรับติดตามการสั่งการด้วยการเคลื่อนไหวของดวงตา จะเห็นได้ว่ามนุษย์โลกจะต้องใช้พลังงานและปล่อยมลภาวะออกมาเพิ่มขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น รายงานของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ในปี 2020 ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 อาจมีเกมเมอร์ (ที่แต่เดิมเล่นเกมคอนโซล) ถึง 30% จะย้ายไปสตรีมเกมบนแพลตฟอร์มคลาวด์ (Cloud) ที่ให้ทั้งภาพและคุณภาพเสียงประกอบที่ชัดมากกว่า จากปัจจุบันที่เราเคยชินกับภาพความละเอียดสูงที่ 730p หรือ 1080p แต่ความละเอียดภาพและสีของเกมบนคลาวด์จะถูกแสดงผลออกมาในระดับ 4K
และแน่นอนว่าเทคโนโลยีคลาวด์เองก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเมตาเวิร์สด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า แค่เรื่องความละเอียดภาพของจอแสดงผลที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวก็อาจส่งผลให้มีการปล่อยมลพิษคาร์บอนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 30% แล้ว
จากนี้ไปเราอาจจะเห็นการเดินทางในโลกกายภาพลดลงก็จริง แต่หากพิจารณาในมิติของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนแล้ว การเดินทางในโลกเสมือนและกิจกรรมบนโลกเมตาเวิร์สที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จุดนี้เองก็เป็นประเด็นที่เราต้องจับตามองและศึกษาต่อไป
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต
- บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ที่ช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลภาวะคาร์บอนอย่างจริงจังตั้งแต่กระบวนการออกแบบไปจนถึงกระบวนการกำจัดเมื่อสินค้าเสื่อมสภาพ
- ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofMobility #Metaverse #MQDC
โฆษณา