26 ก.ค. เวลา 14:12 • ความคิดเห็น

ตายก่อนแก่ อาจจะไม่ใช่โชคร้าย ..

มีบทความของคุณนิ้วกลมจากเฟซบุ๊ค​มาฝากค่ะ
ก่อนฝากแบบหยอดๆไว้ก่อนว่า...
ตัวเองเป็นคนที่มีลำดับการใช้ชีวิต และลำดับการคิดอาจไม่เหมือนคนอื่น เพราะเหตุผลของชะตาชีวิต มันเหวี่ยงเรื่องทั้งหลายที่ร้ายๆมาแบบไม่คาดคิด
ชีวิตเริ่มต้นด้วยการที่ว่า ตัวเองรู้ว่าตัวเอยากทำงานอะไร ต้องการทำอะไรเพื่ออะไร ตั้งแต่เล็กๆ เล็กแค่ไหน แม่บอกว่าตั้งแต่สามขวบ แม่ถามว่าอยากจะทำอะไร ก็ตอบแม่ชัดตั้งแต่วันนั้น แล้วก็ไม่เคยเปลี่ยนเลย
ไม่เคยเปลี่ยนใจเลยว่าจะทำงานอะไร จนอาจจะทำให้เป็นคนไม่ใช้ชีวิตหลากหลาย เพื่อค้นหา ไม่ได้ทดลอง ไม่ทดสอบว่าใช่ไหม ชอบไหม เพราะเห็นเป้า แล้วก็มุ่งที่เป้านั้นอย่าเดียว ชีวิตแบบนี้จะว่าดีก็ดี จะว่าทำให้ดูไม่น่าตื่นเต้น ไม่ได้ค้นหาตัวเองสำหรับบางคนก็อาจจะบอกว่าใช่ แต่สำหรับตัวเอง.. นี่คือพอดีแล้วของเรา เราพอใจ และมีความสุขที่เห็นเป้า รู้ และลงมือทำ แล้วก็โชคดี ที่รักแรก เป็นรักแท้... ชอบและรักอาชีพนี้จริงๆ
ชีวิตก็ดี๊ดีไปหมด ตำแหน่งหน้าที่การงาน ใครๆเรียกมั่นคง
โลกคงกลัวเราเข้าใจผิดแบบนั้น เลยส่งบททดสอบ
ในช่วงเวลาดีๆของชีวิต ชะตาเหวี่ยงให้ใกล้ตายตอนอายุแค่ 26 ปี จากที่เคยไขว่คว้า ปีนป่ายเรื่องเรียน เรื่องงาน ทำในสิ่งที่รักและสนใจ เรื่องหน้าที่การงาน ทุ่มเทสุดกำลังไปตามวัยเหมือนคนอื่น....
กลายเป็น อนิจาโลกไม่เที่ยง เราตายตอนไหนก็ได้
เราเห็นความตายของผู้คนมาเท่าไหร่ แต่เรายังไม่ได้ฝึกเตรียมตัวตายเลย เห็นสภาพตัวเองว่า.... ตายไม่เป็น เราจะตายอย่างงดงามได้อย่างไร
เมื่อตระหนักดังนั้นแล้ว หญิงสาวอายุแค่ 26 ปี เริ่มค้นหาคำตอบที่อยากรู้และสงสัย เราทุกข์ได้อย่างไร แล้วจะออกจากมันได้อย่าไร ทุกข์นั้นจะดับอย่างไร คำถามพวกนี้ผุดขึ้นในหัวซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่อาจตอบตัวเองได้เลน คนที่สอนเรื่องเหล่านี้ คือใคร ท่านสอนอะไร.... เรียนรู้ถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่ทุกอย่างคือข้อมูล การฝึกฝน การทดสอบ ....
ตอนอายุยี่สิบกว่าคิดแค่ว่า เราจะตายเมื่อไหร่ตอบไม่ได้เลย ใช้ชีวิตแบยเดินทางสะสมเสบียงเตรียมตาย
ผ่านไปจนอายุสี่สิบต้นๆ อ้าว เวรกรรม ไม่ตาย ท่าทางจะได้แก่ ช่วยด้วย เตรียมเงินเกษียณ​ด่วนๆ 😂....
แต่ละคน มีชีวิตของตัวเอง ไม่มีใครซ้ำใคร ขอให้ใช้มันเพื่อพัฒนาและเรียนรู้อย่างคุ้มค่า
ก่อนตาย จิตวิญญาณ​เราควรจะได้เติบโต
ลองอ่านบทความของคุณนิ้วกลมดูค่ะ น่าสนใจดี
แต่ส่วนตัว ไม่ได้คิดไปตามลำดับของบทความนี้เท่าไหร่หรอกนะคะ เพราะบอกแล้วว่า
คิดว่าตัวเองจะตายตั้งแต่อายุ 26 ปี ตอนนั้นแทนที่จะอยู่เอาหน้าที่การงาน เอารวย เอาความสนุกสนานตามวัย กลายเป็นอยู่แบบจะต้องตายก็ตาย ตายแล้วจะตัดใจจากพ่อแม่ยังไง คนที่เตรียมตัวตายตั้งแต่ตอนนั้น อยู่เพื่แที่จะเรียนรู้และฝึกมัน ... การคิดอาจจะไม่ได้เป็นลำดับเหมือนที่เคยคิดในช่วงก่อน
1
เพราะอย่างน้อย วันนั้นชีวิตก็ได้รู้ว่า
การอกหักจากโลกนี้มันเป็นยังไง เอาอะไรเป็นแก่นสารจากมันไม่ได้ เชื่ออะไรไม่ได้ แปรปรวน ผันเปลี่ยน ควบคุมไม่ได้
ที่แน่ๆ อยู่ไปอยู่มา อ้าว.... สี่สิบยังไม่ตายแม้จะเจอเรื่องหนักๆอีกสารพัดก็ยังไม่ตาย
แต่การเตรียมตัว ย่อมดีกว่าการไม่เคยเตรียมตัว
สุดท้าย.....สบถเบาๆ เตรียมเกษียณ​ด่วน 😂😂😂 ท่าทางจะได้แก่ก่อนตายซะแล้ว ....
โชคดี ชีวิตที่คิดว่าจะตายตลอด มันไม่ทำเราติดหรูหรือฟุ่มเฟือย แต่เราก็ต้อวมีวิธีบริหาร จัดการเรื่องเงินใหม่ค่ะ
แต่ก็ถามตัวเองเสมอว่า ในวัยหนุ่มสาว อายุราวยี่สิบกว่า เสียเวลาและโอกาสไหม
ตอนอายุยี่สิบกว่า ไม่ดิ้นรนกับหน้าที่การงาน ตำแหน่ง และเงินทอง โอกาสทางโลกมากมาย
บอกตัวเองได้ว่า โชคดีมากที่ตอนอายุ ยี่สิบกว่าเราดิ้นรน แสวงหาและสะสมสิ่งอื่นที่คนวัยเดียวกันเขาไม่สนใจ เพราะสิ่งที่หาไว้ตั้งแต่วันนั้น เป็นของมีค่าได้ใช้มาจนปัจจุบันและจะใช้ต่อจนวันตาย และตามติดไปเมื่อตายไปแล้ว แม้จะเจอสภาพภาวะใดๆ การวางใจตัวเองให้ไม่ทุกข์ หรือทุกข์ให้น้อยได้คือที่ๆสบายที่สุด เราโชคดีที่ได้เรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย.... ได้เรียนรู้ก็ใช่ว่าจะทำได้ ทำเป็น งานของใจเป็นเรื่องละเอียด
ทำจนวันตาย
ช่วงนี้ต้องเตรียมเกษียณ​เราก็ต้องหาความรู้ ฟังนู้นฟังนี่บ่อยๆ สิ่งที่จะได้ยินเสมอคือ ถ้ารู้อย่างนี้ เก็บเงินเตรียมเกษียณ​ตั้งแต่อายุน้อยๆ เริ่มทำงานใหม่ๆแล้ว
เราก็อยากจะบอกน้องๆทุกๆคนว่า ให้เตรียมฝึกใจตนให้เรียนรู้ธรรมชาติ หรือจะเรียกกันว่าธรรมะหรือจะอะไรก็ได้ตามภาษาที่เรียกกันไป แต่นั้นคือการเรียนรู้สัจจธรรม​ความจริง เรียนรู้กายและใจตน ให้ฝึก ให้เรียนตั้งแต่อายุน้อย แก่ไปจะได้นอนหลับ ไม่ต้องกินยาซึมเศร้า หรือเครียดจนหาทางอแกไม่เป็น...
จิตฝึกได้ แค่ต้องฝึก
ที่สำคัญ ฝึกกับคนที่รู้จริง เข้าถึง รู้แจ้ง นั่นคือกัลยาณมิตร​
วิบากกรรมของมนุษย์ยุคนี้
---
จากโพสต์เมื่อวานเรื่องความกังวลของคนวัย 40 ที่มองเห็นภาพอนาคตของตัวเองในวัย 60 ว่าเสี่ยงต่อการ 'เกษียณไม่ได้ ไปต่อไม่ถูก' คือยังต้องมีชีวิตอีก 20-30 ปี แต่การงานไม่ค่อยมีทำ คิดอะไรก็ไม่ค่อยไปกับโลกสมัยใหม่แล้ว ว่าง่ายๆ คือ "ยังต้องมีชีวิต แต่ไม่มีเงิน" แล้วไล่อ่านคอมเมนต์ ทำให้เห็นภาพคร่าวๆ ถึงความกังวลในช่วงวัยที่ต่างกันประมาณนี้...
.
:: วัย 20-30 ปี ::
กังวลกับการหางาน พยายามปีนป่ายในวิชาชีพ ห่วงว่าตัวเองไม่เก่งพอ ไม่ก้าวหน้าพอ มีรายได้น้อยไป หรือยังไม่บรรลุเป้า (กี่สิบล้านก็ว่าไป) บางคนมองไกลถึงวัยเกษียณว่าจะต้องมีเงินแค่ไหน โดยมีความกังวลเรื่องความเก่งกาจของเทคโนโลยีหลอนอยู่ห่างๆ
แต่ยังพอเข้าใจมัน ขณะเดียวกันก็มีความห่วงว่าตัวเองจะเก่งน้อยกว่าคนรุ่นที่ตามหลังมาด้วย จึงต้องรีบถีบตัวเองขึ้นไปอยู่ในจุดที่ 'รอด' มิฉะนั้นอาจจมหายไปในกระแสธารของ 'คนธรรมดาๆ' ซึ่งเสี่ยงต่อการไม่ถูกเลือก คือไม่ได้งานดี ไม่ได้เงินดี ไม่มียอดไลก์ยอดวิว ภารกิจของชีวิตช่วงนี้คือถีบเต็มแรง ต้องเก่งให้ได้ ต้องถูกยอมรับในวิชาชีพของตน
.
:: วัย 30-40 ปี::
ทำงานมาสักระยะ ถ้าเป็นแต่ก่อนจะอยู่ในช่วงสนุก คือเข้าฝัก เริ่มอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้บริหาร เป็นช่วงสุกงอม แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ นี่คือช่วงเวลาที่น่าหวาดหวั่น ความรับผิดชอบที่มากขึ้นตามมาด้วยความคาดหวังที่สูงขึ้นด้วย หากยังไม่สามารถเร่งตัวเองให้ 'เก๋า' ได้ ทักษะต่างๆ ที่สะสมมามีโอกาส 'ตกยุค' อย่างรวดเร็ว มีคนเจนใหม่ที่เข้าใจเทคโนโลยีดีกว่าเสียบแทน เราจะได้เห็นคนยี่สิบกว่าขึ้นเป็นหัวหน้าเร็วขึ้น คนรุ่นสี่
สิบจะรู้สึกตัวว่าแก่อย่างไว ความยากคือคนวัยนี้ไม่ได้เรียนรู้เร็วเหมือนตอนยี่สิบต้นแล้ว ภาระชีวิตก็มากขึ้น เวลาเหลือให้การเรียนรู้น้อยลง เป็นหัวหน้าคนก็ไม่ง่าย เพราะนอกจากคนรุ่นใหม่รู้เยอะแล้ว culture และทัศนคติก็ต่างไป ฉะนั้น คนเป็นหัวหน้าถ้าบริหารคนได้ไม่ดี นอกจากปวดหัวแล้วก็ยังเสี่ยงต่อการถูกปลดด้วย
.
:: วัย 40-50 ปี ::
เรารู้สึกแก่แบบโดนบังคับ คือยังไม่อยากแก่ แต่มันแก่เพราะเทคโนโลยีดันหลังบอกว่า "แกไม่เข้าใจฉันแล้ว" หันหลังไปเห็นลูกคลื่นอีกมากมายที่ทันโลกกว่าเรา ทำสิ่งต่างๆ ได้เร็ว ง่าย ถูก และดีกว่า เริ่มต้องมองหา 'ชีวิตใหม่' ซึ่งกินความตั้งแต่ งานใหม่ ลู่ทางใหม่ ไลฟ์สไตล์ใหม่ ต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น บางคนที่ไหวก็ตะกายขึ้นลูกคลื่นเทคโนโลยี บางคนที่หมดแรงแล้ว
ก็หันหลังให้ พอกันที แล้วมองหาพื้นที่ที่พอจะเอาชีวิตรอดได้ ลดความต้องการในชีวิตลง ใครอยู่ในระบบจะต้องออกแรงมหาศาลเพื่อไม่ให้ถูกขนานนามเป็น Deadwood คุณอาจมีคนอายุยี่สิบกว่าเป็นหัวหน้า และรู้สึกว่าประสบการณ์ที่สั่งสมมามีค่าน้อยกว่าที่เคยเข้าใจ นี่คือจุดทางแยกระหว่างการอยู่ในระบบต่อไปกับการเดินออกจากระบบที่คุ้นเคย หรือวันหนึ่งอาจถูกขอร้องให้ออก
.
:: วัย 50-60 ปี ::
น่าจะเหลือคนจำนวนน้อยที่ 'รอด' ในระบบ หากไม่ใช่พวกสมองปราดเปรื่องสุดๆ ก็คงเป็นคนที่พยายามอย่างยิ่งหรือขยันโคตรๆ โลกทุกวันนี้แทบไม่มีที่ยืนให้คนวัยนี้แล้ว ต้องออกมาหาทางรอดด้วยตัวเอง หากสะสมไว้มากก็โชคดี มีทางเลือกมากหน่อย หากสะสมไว้น้อย นี่คือช่วงท้าทาย มีโอกาสกลับด้าน กลายเป็นคนที่สนใจสิ่งเรียบง่าย ใช้ของราคาไม่แพง ความสนใจ
เรื่องธรรมะ ศาสนา จิตวิญญาณจะสอดเข้ามาเยียวยาความรู้สึกสับสนกับคุณค่าของตัวเอง มองไปข้างหน้าก็ยังอีกไกล ต้องอยู่ไปอีก 30-40 ปี (นานมาก) หันมองเงินในบัญชี มองทักษะที่มี นี่คือช่วงเวลาที่แรงยังพอเหลือ หากใครมีกิจการก็ยังเซ็ตระบบให้คนรุ่นใหม่ๆ ช่วยบริหารได้ แต่ถ้าตัวคนเดียวก็ต้องหาลู่ทางใหม่ๆ ที่ต่างจากทักษะเดิมไปเลย ต้องคลอดตัวตนที่สองออกมา ออกแรงเยอะ เหนื่อยอีกรอบ คลำทางถูกๆ ผิดๆ เหมือนกลับไปอยู่ในวัย 'ก่อนเริ่มงาน' อีกหน
.
:: วัย 60-70 ปี ::
ถ้ารวยก็รอดไป ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ในวัยเกษียณ แต่ถ้าไม่รวย นี่คือช่วงท้าทายยิ่ง หากไม่มีลูกหลานดูแล นี่คือเวลาที่ต้องยืนบนลำแข้งตัวเองโดยไม่มีองค์กรบริษัทซัพพอร์ต ไม่ต้องนับสวัสดิการรัฐ นี่คือช่วงวัยที่ความเจ็บป่วยจะสำแดงออก ใช้เงินกับการรักษาพยาบาล พาร่างตัวเองไปโรงพยาบาล
ใครดูแลสุขภาพมาดีก็ทุ่นภาระไปได้ แต่ศักยภาพต่างๆ อาจไม่เต็มร้อยเหมือนเดิม ช้าลงทั้งกายและสมอง เรี่ยวแรงถดถอย ที่จริงเป็นวัยที่ควรพักและแบ่งปันประสบการณ์กับคนรุ่นหลัง แต่โลกวันนี้ไม่อนุญาตให้พัก เทรนด์ยืดอายุเกษียณมีแต่จะยาวขึ้น คนเกิดน้อย คนแก่ต้องทำงานต่อ ถ้าหาลู่ทางหรือก่อร่างความมั่นคงไม่ได้ในวัย 50 กว่า นี่คือเวลาที่ต้องปรับตัวปรับใจมหาศาล เงื่อนไขชีวิตมิได้เอื้อให้กินอยู่ตามใจแบบเดิมแล้ว ความหวาดหวั่นคือ เราอาจต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 20 ปี ด้วยศักยภาพการหาเงินที่ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ
.
:: วัย 70-80 ปี ::
ปู่ย่าตายายในอีก 20 ปีข้างหน้าจะแตกต่างจากวันนี้มาก มีคนแก่มากมายที่โดดเดี่ยว ไร้ลูกหลาน คู่ชีวิตจากไปก่อน พึ่งพาตัวเอง ไม่เข้าใจโลก เสี่ยงถูกหลอกจากมิจฉาชีพที่แปลงร่างมาสารพัดแบบ ในตอนนั้นเราไม่ได้เป็น 'ทรัพยากร' ที่ใครต้องการอีกต่อไป อาจถูกมองเป็น 'ภาระสังคม' ด้วยซ้ำ ข่าวสารจะบอกว่ารัฐต้องใช้งบดูแลคนสูงอายุแบบเราปีละกี่ล้าน โดยเราไม่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้แล้ว การถามถึง
คุณค่าของการมีชีวิตอยู่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่มีเพื่อน ไม่มีลูก ไม่มีประโยชน์ อะไรคือสิ่งยึดเหนี่ยว นี่คือโจทย์ที่สังคมต้องลงทุนอีกมากเพื่อหล่อเลี้ยงคนวัย 80 ปีไม่เพียงทางกาย แต่รวมทางใจด้วย สังคมที่ไม่เป็นชุมชนจะยิ่งขับเน้นความโดดเดี่ยวเช่นนี้มากขึ้นไปอีก เชื่อว่าเอไอและหุ่นยนต์จะมาตอบโจทย์ตลาดกลุ่มนี้ (ซึ่งแก้ไขได้เฉพาะกลุ่มที่มีเงินจ่าย)
.
:: วัย 80-90 ปี ::
ใช้เงินที่สะสมมาพาตัวเองไปอยู่ศูนย์ดูแล ซึ่งคงมีหลายระดับ ตั้งแต่ของรัฐ ไล่มาราคาถูก ไปจนถึงไฮโซ ขึ้นอยู่กับว่าสั่งสมกันมาอย่างไร ในตอนนั้นจะนั่งนึกว่าตอนพูดจาคล่องแคล่วกว่านี้น่าเรียกร้องกฎหมายการุณยฆาตให้คลอดออกมา
คือสามารถเลือกตายได้เอง ในตอนที่ไม่มีเหตุผลจะอยู่ต่อไปในสภาพที่ทุกข์ทรมานกายใจ มีคนจำนวนหนึ่งที่อาจมีชีวิตเป็นสุขในบั้นปลาย แต่คนจำนวนไม่น้อยจะต้องเผชิญโจทย์ท้าทายในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ขับเขาออกจากระบบ เร่งให้เครียด บีบให้เก่ง อันส่งผลต่อสุขภาพที่ผุพังและเงินเก็บที่ไม่มากพอ ชีวิตช่วงก่อนตายกลายเป็นช่วงเวลาที่ต้องอาศัยจิตใจที่เข้มแข็งเพื่อรับมือความโดดเดี่ยว ความป่วยไข้ และความรู้สึกไร้ค่า ตรงนี้วัดกันที่ระดับจิตวิญญาณที่บ่มเพาะมาในชีวิต
.
โดยสรุป โลกที่เทคโนโลยีเร่งเร็ว ขณะที่คนอายุยืนขึ้น เกิดน้อยลง น่าจะเป็นโลกที่คนรุ่นใหม่โถมทับทดแทนคนรุ่นเก่าไวขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีเจนไหนปลอดภัย เพราะเสี่ยงต่อการตกยุคกันหมด ในสังคมที่ไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดี เหลื่อมล้ำสูง พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ย่อมพบความวิตกกังวลแผ่ลามไปทั่ว เรารู้สึกเหมือนพื้นที่ยืนอยู่วันนี้พร้อมจะสลายไปในปีหน้า และไม่รู้ว่าจะไปยังไงต่อ ยิ่งมองไกลออกไปยิ่งกังวลว่าจะเอาตัวรอดยังไงกับศักยภาพที่มีแต่จะลดลงไปเรื่อยๆ แข่งขันได้น้อยลง ฉลาดน้อยลง ทันสมัยน้อยลง เรี่ยวแรงน้อยลง
แน่นอน ในโลกแบบนี้มี 'ผู้รอด' แต่ผู้รอดในสังคมที่ไม่เกลี่ยโอกาสให้เท่าเทียมกันนั้นมีเพียงหยิบมือ ที่เหลือจะกลายเป็น 'ผู้ตะเกียกตะกาย' ซึ่งการอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วย 'ผู้ตะเกียกตะกาย' ย่อมสัมผัสได้ถึงการแข่งขันแย่งชิง เหนื่อยล้าหมดไฟ เป็น toxic ใส่กัน
ดูคล้ายว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยแบบนั้น
ทั้งหมดที่ว่ามาไม่ใช่จะฉุดให้เศร้า แต่คิดว่าเป็นโจทย์​ใหญ่ของสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐ ที่ต้องหาวิธีประคับประคอง​และสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่สร้างโลกและระบบที่ผลิตความวิตกกังวลแบบที่เป็นอยู่
หากใครมองเห็นอะไรต่างไป ลองแชร์กันดูนะครับ อยากได้มุมมองที่หลากหลายต่อเรื่องนี้
โฆษณา