27 ก.ค. 2024 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

"หญ้าคางเลือยตะนาวศรี" พรรณไม้เกียรติประวัติไทย ไม้ล้มลุกชนิดใหม่ของโลก

"หญ้าคางเลือยตะนาวศรี" 𝘚𝘤𝘶𝘵𝘦𝘭𝘭𝘢𝘳𝘪𝘢 𝘵𝘦𝘯𝘢𝘴𝘴𝘦𝘳𝘪𝘮𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae (Labiatae)
หญ้าคางเลือยตะนาวศรี เป็นไม้ล้มลุกชนิดใหม่ของโลก ตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin เล่มที่ 71(1)-3 หน้าที่ 2 ปี 2016 โดย ดร.อลัน พาร์ตัน ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์กะเพรา แห่งสวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข 𝘚𝘶𝘥𝘥𝘦𝘦 & 𝘗𝘶𝘶𝘥𝘫𝘢𝘢 1113 เก็บจากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ (BKF) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คำระบุชนิด “𝘵𝘦𝘯𝘢𝘴𝘴𝘦𝘳𝘪𝘮𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴” หมายถึงเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเป็นแหล่งที่พบพืชชนิดนี้
ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. ลำต้นแตกกิ่งที่ส่วนโคนจำนวนมาก มีขนสั้นนุ่มปกคลุมหนาแน่น และมีขนต่อมตามแกนช่อดอก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 1.5-4.5 ซม. ยาว 2.5-5.5 ซม. ปลายแหลม โคนเว้าตื้นถึงกว้าง ขอบจักฟันเลื่อยถึงถึงหยักมน ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มปกคลุมหนาแน่น
ก้านใบยาว 0.3–1 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบ รองรับด้วยใบประดับรูปรีกว้างหรือรูปไข่ยาว 3-8 มม. กลีบเลี้ยงยาว 2-3 มม. ติดทนและแผ่ขยายออกเมื่อติดผล มีขนสั้นนุ่ม ด้านบนมีแผ่นยื่นอย่างเด่นชัด สูง 3-4 มม.
กลีบดอกสีม่วงอ่อนหรือสีชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปปากแตรโค้ง ยาว 1.5-1.8 ซม. ส่วนปลายแยกเป็นกลีบรูปปากเปิด กลีบซีกบนตั้งขึ้น แผ่แบน ยาว 5-7 มม. กลีบซีกล่างขอบโค้งพับลงด้านล่าง ส่วนโคนด้านในมีแถบสีขาว ผลแบบพูผลเปลือกแข็ง (nutlet) สีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ มีตุ่มเล็ก ๆ มีขนมีขนสั้นนุ่มที่ส่วนปลาย
นิเวศวิทยา พบทางเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ตามป่าเต็งรัง และป่าดิบเขาบนเขาหินปูนผุกร่อน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 350-950 ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา
📷 : ธีรวัฒน์ ทะนันไธสง คุณานนต์ ดาวนุไร และวิทวัส เขียวบาง
ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
#สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช #หญ้าคางเลือยตะนาวศรี #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา