27 ก.ค. เวลา 00:46 • หนังสือ

ธุรกิจที่ทำด้วยหัวใจมีจริงๆ

ปกติเวลาเราลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่าง
เราทำไปเพื่ออะไร?
บ้างก็ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ
บ้างก็ทำเพื่อแสวงหาผลกำไร
บ้างก็ทำเพื่อความก้าวหน้า
บ้างก็ทำเพื่อดึงดูดให้มีคนมาลงทุน
1
แต่มีบริษัท ร้านค้า และโรงงานบางแห่งในญี่ปุ่นที่เขามองต่างออกไป พวกเขาไม่ได้คิดว่าธุรกิจคือการทำให้ได้ตัวเลขผลกำไรเป็นหลัก แต่มันคือการใส่ใจ ความจริงใจในการทำธุรกิจ และทำอย่างไรในการหาวิธีแก้ปัญหาของคนในชุมชน โดยที่ธุรกิจของพวกเขาก็อยู่รอดไปด้วยได้
ผมได้อ่านหนังสือ Makoto Marketing
หลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น
ของสำนักพิมพ์ the cloud
ที่เขียนโดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ
เป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำการตลาดที่ไม่เหมือนกับเล่มไหนๆ ด้วยเพราะเนื้อหาและตัวอย่างเคสที่ทาง ดร.กฤตินี หยิบมาเขียนเล่าเรื่องมันเป็นการทำธุรกิจที่แต่ละกิจการไม่ได้เน้นยอดขาย ไม่ได้โฟกัสไปที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ทุกกิจการจะใช้แนวคิดความจริงใจ
ในการสร้างคุณค่าและความสุขให้กับผู้ที่มาใช้สินค้า
ตัวอย่างธุรกิจที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วประทับใจมีมากมายหลากหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็น
-แบรนด์รองเท้าที่ผลิตรองเท้าให้ผู้สูงอายุสวมใส่ง่าย
เดินได้สะดวกไม่ปวดเท้าและไม่สะดุดล้มซึ่งผู้ผลิตรองเท้ารายอื่นๆ
ไม่ยอมทำเพราะมันมีดีเทลรายละเอียดเยอะ
รวมทั้งขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยาก แต่แบรนด์รองเท้านี้กลับเต็มใจทำ
และถึงขั้นยอมเสี่ยงจะขาดทุนเพียงเผื่อที่จะผลิตรองเท้าข้างละไซส์
ให้กับผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่เท้าแต่ละข้างจะมีขนาดไม่เท่ากันให้สวมใส่เดินได้สบาย
2
-ร้านหนังสือที่มีบริการเลือกหนังสือที่เหมาะกับเราในงบ 10,000 เยน
ทางร้านจะส่งแบบสอบถามให้คนใช้บริการกรอกข้อมูลบอกประวัติตัวเองอย่างคร่าวๆ
ซึ่งในคำถามเหล่านี้มันจะแสดงถึงตัวตน ทัศนคติของเราออกมา
และบางทีตัวเราเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตกำลังตามหาอะไร และขาดอะไรอยู่
เมื่อคนใช้บริการได้รับหนังสือจึงประทับใจและรู้สึกเซอร์ไพรส์กับหนังสือที่ได้รับ
1
-ร้านช็อกโกแลตที่จะผลิตช็อกโกแลตขึ้นตามวิถีชีวิตของคนในแต่ละวัน
โดยช็อกโกแลตตอนเช้าจะมีรสเปรี้ยวทำให้ตาสว่าง
และสามารถเริ่มต้นวันด้วยความสดใส
ในช่วงเย็นหลังเลิกงานช็อกโกแลตก็จะเป็นอีกรสหนึ่ง
เพื่อให้เราผ่อนคลายเตรียมตัวพักผ่อน
หรือจะกินกับวิสกี้ก็จะเป็นช็อกโกแลตอีกรสหนึ่ง
เพื่อความกลมกล่อมในการนั่งกินอยู่ที่บาร์
เป็นร้านช็อคโกแลตที่สร้างวัฒนธรรมการกินให้เข้ากับไลฟสไตล์ของคนในสังคม
1
-ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พนักงานไปคอยช่วยเหลือลูกค้าตามบ้านตลอดเวลา
เป็นการใส่ใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้มีเวลาพูดคุยกับลูกค้า
ทำให้รู้ว่าลูกค้าแต่ละบ้านใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบไหน รุ่นอะไร
ซื้อประมาณปีไหน และมีปัญหาการใช้งานยังไง
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้ทางร้านรู้ได้ว่า
จะสามารถหาทางช่วยเหลือลูกค้าในอนาคตได้อย่างไรบ้าง
-ร้านอาหารที่ไม่ต้องการให้วัตถุดิบต้องเหลือทิ้ง จึงไม่มีเมนูในร้าน ทางร้านจะติดเมนูประจำวันวันละหนึ่งเมนู
ใครที่อยากกินเมนูนี้ก็เข้ามานั่งในร้านได้เลย
สำหรับใครที่อยากกินเมนูอื่นก็ดูที่กระดานดำ
ซึ่งทางร้านจะเขียนบอกว่าวันนี้มีวัตถุดิบเหลือในตู้เย็นอะไรบ้าง ลูกค้าสามารถสั่งเมนูอื่นตามใจตัวเองโดยใช้วัตถุดิบเหล่านี้ได้
เจ้าของร้านจะชวนพูดคุยเพื่อคิดหาเมนูที่เหมาะกับแต่ละคนโดยใช้วัตถุดิบที่มี จึงเกิดความอบอุ่น ความใกล้ชิดในร้านแห่งนี้ คนมาทานได้กินเมนูโปรดของตัวเอง
ทางร้านก็ได้ความผูกพันของลูกค้าจนกลายเป็นลูกค้าประจำ แถมยังไม่ต้องมีวัตถุดิบเหลือทิ้งให้ต้องเสียดายอีกด้วย
ธุรกิจเหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ในหนังสือ
Makoto Marketing ได้พูดถึง
มันทำให้เรารู้ว่าการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว
ทำให้เราได้เห็นว่าการทำธุรกิจที่ใช้หัวใจ ใส่ความใส่ใจ ใส่ความจริงใจ
จะทำให้ลูกค้ามีความสุขและคนทำธุรกิจเองก็มีความสุขตามไปด้วย
กลายเป็นความผูกพันจนเกิดธุรกิจที่ยั่งยืนขึ้นมา
1
คนทำธุรกิจ คนทำการตลาด จึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้
เพื่อเรียนรู้แนวคิดการทำธุรกิจด้วยความจริงใจ
ส่วนลูกค้า คนธรรมดาที่ไม่ได้ทำธุรกิจยิ่งควรอ่าน
เพราะมันจะทำให้รู้ว่า ธุรกิจที่ทำด้วยหัวใจ
มันมีอยู่บนโลกใบนี้จริงๆ ครับ
2
โฆษณา