27 ก.ค. เวลา 08:04 • ประวัติศาสตร์

เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

มรณกรรมของ “โกรสกือแร็ง” ฟางเส้นสุดท้ายสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
“โกรสกือแร็ง” ชาวฝรั่งเศสผู้ถูกสังหารในเหตุวิวาทกับ “พระยอดเมืองขวาง” ข้าราชการสยาม ความตายของเขาคือจุดสิ้นสุดการเจรจาเรื่องเขตแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม และเป็นชนวนเหตุสำคัญให้ฝรั่งเศสเผยความก้าวร้าวในนโยบายล่าอาณานิคม จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นช่วงเวลาที่สยามผจญกับนโยบายล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ฝรั่งเศสแสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะผนวกดินแดนลาวให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินโดจีน หลังจากพวกเขาประสบความสำเร็จในการยึดครองเวียดนาม (อันนัมกับตังเกี๋ย) และกัมพูชาไปแล้วบางส่วน
ดินแดนลาวอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยามมานาน หลังสิ้นสุดสงครามเจ้าอนุวงศ์ หัวเมืองสำคัญที่คอยกำกับดูแลดินแดนต่าง ๆ คือหลวงพระบาง แต่ฝรั่งเศสต้องการลาวทั้งหมด ซึ่งหมายถึงดินแดน 2 ฝั่งโขง ที่ปัจจุบันฝั่งซ้ายคือ สปป. ลาว และฝั่งขวาคือ แขวงไชยบุรี จำปาศักดิ์ และภาคอีสานของไทย แผนของฝรั่งเศสคือเริ่มจากต้องเอาฝั่งซ้ายก่อน โดยเรียกร้องดินแดนดังกล่าวจากสยามในนามของเวียดนาม หรือรัฐบาลที่กรุงเว้
ในขั้นต้น ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการผลักดันกองทัพสยามออกจากดินแดนสิบสองจุไทย แม้รัฐบาลกรุงเทพฯ จะอ้างว่าหลวงพระบาง (ภายใต้กำกับกรุงเทพฯ) เป็นเจ้าอธิราชของหัวเมืองสิบสองจุไทยก็ตาม
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยามกับฝรั่งเศสค่อย ๆ ทวีความระอุเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) รัฐบาลฝรั่งเศสมีมติเป็นเอกฉันท์ในการปฏิเสธความพยายามในการพูดคุยเพื่อปักปันเขตแดนลาวซึ่งสยามถือไพ่เหนือกว่าเวียดนามในด้านประวัติศาสตร์ ทหารฝรั่งเศสจากตังเกี๋ยได้รับบัญชาให้ผลักดันกำลังฝ่ายสยามออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยมีการปะทะกันเล็กน้อยตลอดแนวชายแดน
ด้านฝ่ายสยามค่อย ๆ ถอยร่นมาริมฝั่งแม่น้ำโขง สถานการณ์ส่วนใหญ่เป็นการคุมเชิงกัน กระทั่ง “พระยอดเมืองขวาง” สังหาร “โกรสกือแร็ง” ที่แก่งเกียก (Keng Kiet) ท่าทีของฝรั่งเศสจึงเปลี่ยนแปลงไป
ฝรั่งเศสอ้างความตาย “โกรสกือแร็ง” รุกฆาตสยาม สู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
ประวัติของ โกรสกือแร็ง (Grosgurin) ไม่มีบันทึกไว้มากนัก ทราบเพียงเขาเป็นผู้ตรวจการตำรวจชาวฝรั่งเศสและผู้บัญชาการกองทหารญวน ในปฏิบัติการผลักดันฝ่ายสยามให้ยอมสละที่มั่นในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ด้าน พระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพ็ชร์) เป็นขุนนางสยาม เกิดที่นครสวรรค์ ภายหลังได้รับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงถูกส่งไปเป็นเจ้าเมืองเชียงม่วน ในพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งติดต่อกับดินแดนอันนัมของเวียดนาม
ระหว่างการผลักดันสยามให้ออกจากบริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พระยอดเมืองขวางพาผู้ติดตามเป็นทหารสยาม 18 นาย ไปเจรจากับผู้นำฝ่ายฝรั่งเศส เพื่อขอให้ปล่อยตัว “ขุนอนุรักษ์” ผู้ช่วยของตนที่ถูกทางการฝรั่งเศสคุมขังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดน แต่โกรสกือแร็ง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ณ ที่นั้น ไม่อนุมัติคำขอดังกล่าว ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง
มีการลั่นไกปืนในเหตุวิวาทคราวนั้น มีทหารไทยเสียชีวิต 1 นาย ขุนวังของพระยอดเมืองขวางอีกราย ทั้ง 2 ฝ่ายยิงตอบโต้กันอุตลุด มีไฟไหม้อาคารที่พัก สุดท้ายทหารไทยเสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บ 5 นาย ฝ่ายฝรั่งเศสและญวนในอาคารนั้นเสียชีวิต 11 คน และถูกฝ่ายไทยจับเป็นเชลย 5 คน
โกรสกือแร็งถูกสังหารในที่เกิดเหตุ
ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองว่าสยามลบลู่เกียรติและศักดิ์ศรีของพวกเขาอย่างรุนแรง จากนั้นใช้มรณกรรมของผู้ตรวจการตำรวจนายนี้เป็นข้ออ้าง ส่ง “เรือปืน” ล่วงล้ำเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยา หันปากกระบอกจ่อมาที่พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ เพื่อบีบบังคับให้สยามเพิกถอนการอ้างสิทธิเหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด รวมทั้งเมืองหลวงพระบาง
แม้อังกฤษโต้แย้งพฤติกรรมดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนหลักฐานของฝ่ายสยามที่ว่า หลวงพระบางเป็นดินแดนของสยามมากว่าศตวรรษ จะมาละเมิดอย่างโจ่งแจ้งอย่างที่ฝรั่งเศสกระทำอยู่มิได้
แต่ฝรั่งเศสชี้แจงว่า ปัญหามาจากทางการสยามไม่รับฟังเหตุผล และยังสังหารนายตำรวจฝรั่งเศสอย่างเลือดเย็น พวกเขาต้องได้รับความยุติธรรมจาก “ข้อเรียกร้องอันชอบธรรมนี้” และ “ถ้าไม่ได้ก็ต้องบังคับเอา”
สถานการณ์ได้เปรียบของสยามระหว่างการเจรจา (โต้เถียง) เรื่องสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจึงกลับตาลปัตรทันที เมื่อฝรั่งเศสล้มโต๊ะเจรจา และใช้เรือรบจบข้อพิพาท
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1893 ฝรั่งเศสยื่นคำขาดว่าเวียดนามกับกัมพูชามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หากไม่ตอบภายใน 48 ชั่วโมง จะปิดปากอ่าวสยาม รัฐบาลสยามจึงยอดรับคำขาดนั้นเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม และเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของชาวสยาม ตลอดจนชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 จึงจบลงด้วยการที่สยามสละสิทธิและอำนาจเหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่เวียดนาม (ฝรั่งเศส) ส่วนวีรกรรมการต่อสู้ของพระยอดเมืองขวางได้รับการยกย่องจากรัฐไทย ดังจะเห็นอนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวาง ณ ค่ายพระยอดเมืองขวาง จังหวัดนครพนม
โฆษณา