28 ก.ค. 2024 เวลา 06:34 • ศิลปะ & ออกแบบ

โลกสีน้ำเงินของอีฟส์ ไคลน์

ไคลน์ต้องการสร้างสิ่งที่ไม่มีสาระสำคัญ และนำพลัง ความรัก หรือแม้แต่พระเจ้ามาสู่งานศิลปะ
Rotraut Klein-Moquay (ภรรยา)
อีฟส์ ไคลน์ เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศส เขาเกิดที่เมืองนีซ และอาศัยอยู่ที่ปารีส ไคลน์เป็นผู้มีอิทธิพลในแวดวงศิลปะยุโรปหลังสงคราม เป็นศิลปินแนวหน้าของการเคลื่อนไหวทางศิลปะของ Nouveau Réalisme ในฝรั่งเศส
แม้ไคลน์จะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากแต่ตัวเขากลับไม่เคยเรียนวาดภาพอย่างจริง ๆ จัง ๆ เลยสักครั้ง เขาเรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วไป และสนใจในกีฬายูโดมากถึงกับบินไปเรียนที่ญี่ปุ่น และยังได้สายดำอีกด้วย ความชอบ และรสนิยมทางศิลปะของเขานั้นได้มาจากการเติบโตในครอบครัวที่ทั้งพ่อแม่เป็นศิลปิน ผลงานศิลปะส่วนใหญ่ของเขาจึงเป็นงานประเภทประติมากรรม ศิลปะการแสดงสด ศิลปะจัดวาง และภาพสีโมโนโทน
ไคลน์ชอบสีน้ำเงินบริสุทธิ์มาก เช่น สีท้องฟ้ากลางวันที่ไม่มีเมฆ สีน้ำเงินซึ่งเกิดจากแสงของดวงอาทิตย์ที่ถูกหักเหโดยชั้นบรรยากาศของโลกของเรา จากบันทึกเขากล่าวว่าในปี 1946 เขานอนมองท้องฟ้าอันโปร่งใสไร้ก้อนเมฆมาบดบังอยู่บนชายหาดเมืองนีซ ทันใดนั้นก็มีนกบินเข้ามาในระยะสายตาของเขา เขาอารมณ์เสียมากที่มีจุดดำ ๆ มาปนเปื้อนผืนผ้าใบสีน้ำเงินบริสุทธิ์ และมีความคิดที่อยากจะกำจัดนกเหล่านั้นให้สิ้นซากเพราะนกเหล่านั้นได้ทำลายภาพแห่งความว่างเปล่าที่จะนำเขาสู่ภาวะอนันต์
อย่างไรก็ตามก่อนที่ไคลน์จะหันมาทำงานศิลปะที่ใช้เเค่สีน้ำเงิน เขาเริ่มใช้สีทอง น้ําเงิน และชมพูมาก่อน เขาคิดว่าสีทั้งสามสีนี้เปรียบเสมือนความเชื่อมโยงกันของโลกวัตถุ กับสภาวะของจิตวิญญาณ เปรียบได้กับสามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (trinity) โดยสีน้ำเงิน (Monoblue) เป็นตัวแทนของจิตวิญญาณ สีทอง (Monogold) เป็นตัวแทนของสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด และ สีชมพู (Monopink) เป็นตัวแทนของความรัก
1
International Klein Blue
ในปี 1957 ไคลน์ได้คิดค้นสี “International Klein Blue” หรือ “IKB” ขึ้นโดยความร่วมมือกับ เอ็ดเวิร์ด อดัม (Edouard Adam) ซัพพลายเออร์ชาวปารีส และนักเคมีจากบริษัท Rhone-Poulenc เพื่อสร้างสารยึดเกาะในผงสีอัลตรามารีนทำให้สีของเขามีความบริสุทธิ์ที่สุดจนสามารถเรืองแสงออกมาได้โดยไร้ปัจจัยรบกวน และการค้นพบเม็ดสีน้ําเงินบริสุทธิ์ของไคลน์ (International Klein Blue) นี้เองที่ทําให้เกิด "ยุคสีน้ำเงิน" ขึ้น
(International Klein Blue 191, 1962) ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/International_Klein_Blue
ในเดือนพฤษภาคมปี 1957 เขาเฉลิมฉลองการมาถึงของ "ยุคสีน้ำเงิน" โดยการจัดงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาที่ Parisian Gallery Iris Clert และอีกหนึ่งนิทรรศการที่ Galerie Colette Allendy ในปารีส โดยการในงานเปิดนิทรรศการที่ Iris Clert เขาได้โชว์ประติมากรรมลอยฟ้า (Sculpture aérostatique) โดยการปล่อยลูกโป่งสีน้ำเงิน 1,001 ลูกให้ล่องลอยไปบนฟ้า
Sculpture aérostatique, 1957 ที่มาภาพ: https://www.yvesklein.com/fr/ressources/index?rt[]=324&p[]=1954-1957&sb=_created&sd=desc&rt[]=320#/fr/ressources/view/artwork/645/sculpture-aerostatique?rt[]=324&rt[]=320&p[]=1954-1957&sb=_created&sd=desc
อีฟส์ ไคลน์เป็นที่รู้จักจากผลงานมาสเตอร์พีซที่ชื่อว่า “The Anthropométries” ศิลปะการแสดงสดที่ตัวเขาเองทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ โดยเริ่มจากการให้หญิงสาวเปลือยร่างแล้วละเลงสีลงบนร่างกายของเธอ จากนั้นพวกเธอก็จะขยับตัว และทำตามคำสั่งของเขา ทั้งหมุน หยุด ลาก และกลิ้ง เพื่อประทับร่างกายลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่
ระหว่างนั้นจะมีนักดนตีบรรเลงเพลง “Monotone Symphony” เพลงที่มีเพียงโน๊ตตัวเดียว 20 นาที และปล่อยให้เงียบอีก 20 นาที จนได้เป็นภาพพิมพ์จากเรือนร่างสีน้ำเงินอย่างที่เขาชอบ ผลงานนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็นศิลปินคนแรก ๆ ที่เป็นผู้บุกเบิกศิลปะแบบ Performance Art ในฝรั่งเศส
The Anthropométries, 1960 ที่มาภาพ: https://www.yvesklein.com/en/ressources/index?sb=serie&sd=asc&rt[]=322#/en/ressources/view/artwork/595/anthropometrie-de-l-epoque-bleue-anthropometry-of-the-blue-period?rt[]=322&sb=serie&sd=asc
“The Anthropométries” ได้รับการวิจารณ์อย่างหนัก หลายคนคิดว่าการใช้หญิงเปลือยกายทำตัวเป็นพู่กันนั้นเป็นการลดทอนคุณค่าของสตรี อย่างไรก็ตามนักแสดงหญิงหนึ่งในนั้นได้กล่าวว่าเธอเองไม่ได้รู้สึกถึงการลดทอนคุณค่าในตัวเธอแต่อย่างใด แต่เธอนั้นกลับภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานนี้ ผลงานการแสดงสดครั้งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินอีกหลายคน รวมถึงศิลปินสายเฟมินิสต์ที่เริ่มใช้ร่างกายของตัวเองสร้างผลงานศิลปะเพื่อเรียกร้องสิทธิ และเสรีภาพของสตรี
จะเห็นได้ว่าผลงานของไคลน์นั้นมีความทะเยอทะยานมากเขาพยายามสร้างงานศิลปะที่จะกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดโดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับ ภาพ เส้น ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ เขาต้องการใช้สีเพียงสีเดียวเพื่อจะอธิบาย “ปรัชญาแห่งความว่างเปล่า” เขาพยายามพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ก้าวล้ําซึ่งทําลายขอบเขตระหว่างศิลปะแนวความคิด ประติมากรรม จิตรกรรม และการแสดง เพราะเขาเชื่อว่าความงามนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่งหน้าที่ของเขาคือจับภาพความงามนั้นมาไว้ในผลงานศิลปะ
ไคลน์ได้เดินทางไปสู่ความว่างเปล่าของเขาด้วยอาการหัวใจวายซึ่งคาดว่าเกิดจากการใช้ยาบ้าขณะที่เขาอายุ 34 ปี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1962 เขาถูกฝังไว้ข้างแม่ และป้าของเขาที่สุสานที่ La Colle-sur-Loup ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
-ซับศิลป์-
ที่มา
โฆษณา