29 ก.ค. เวลา 03:06 • ความคิดเห็น

ค่าตัว..นักบินคอปเตอร์ เท่าไร ?

งานบินกับเฮลิคอปเตอร์ ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่การขนส่งผู้โดยสารและลำเลียงสิ่งของแบบที่เครื่องบินแอร์ไลน์ทั่วไปเขาบินกัน แต่มันกินกว้างไปในอุตสาหกรรมอื่นที่หลากหลายมาก
ในประเทศไทยอาจยังไม่เห็นภาพเท่าต่างประเทศดังเช่นน่านฟ้าอื่นที่เขาบินกันให้ว่อน ขยายปีกกันเกลื่อนฟ้า ด้วยเพราะหลายเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนของบ้านเมืองเรา
รายงานอุตสาหกรรมตลาดแรงงานนักบินเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐอเมริกาคาดว่าตลาดงานนักบินเฮลิคอปเตอร์จะเติบโต 6% ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2028 ด้วยแรงหนุนจากหลายภาคส่วนเช่น การท่องเที่ยว บริการการแพทย์ฉุกเฉิน และการขนส่ง
อ้างอิงจากรายงานของโบอิ้งที่เคยคาดการณ์ว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่นักบินเฮลิคอปเตอร์ทั่วโลกจะขาดแคลนราว 61,000 คน ในปี 2038
แต่นั่นคือภาพรวมของโลก ขณะที่ไทยเราอาจดูเหมือนเป็นเซลล์เล็กๆที่ตลาดแรงงานเฮลิคอปเตอร์ยังไม่หวือหวาเท่าไหร่นัก แต่เพื่อให้รู้ถึงโลกข้างนอกโน้นว่างานบินกับคอปเตอร์นั้นมีสีสันฉูดฉาดขนาดไหน ต่อไปนี้คือตัวอย่างพอสังเขปที่จะเล่าสู่กันฟัง
1. Aerial Stock Mustering - 'บินต้อนสัตว์' มักพบในประเทศที่มีฟาร์มใหญ่ๆ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา บราซิล นักบินมีหน้าที่บินต้อนสัตว์ให้ไปยังสถานที่เฉพาะ เช่น คอก หรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 146,250 – 234,000 บาท/เดือน>
2. Aerial Photography and Filming - บินถ่ายภาพทางอากาศ / บินถ่ายทำภาพยนตร์  หรือถ่ายทำโฆษณาต่างๆ
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 117,000 – 204,750 บาท/เดือน>
3. Helicopter Search and Rescue (SAR) - บินค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่ที่ได้รับแจ้ง และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เช่น ตามภูเขาหรือทะเล
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 175,500 – 292,500 บาท/เดือน>
4. Powerline Surveys -  บินสำรวจตรวจสอบสายไฟฟ้าแรงสูง
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 160,875 – 248,625 บาท/เดือน>
5. Offshore (Oil Industry) Services - บินส่งผู้โดยสารไป-กลับ แท่นขุดเจาะกลางทะเล (อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ)
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 204,750 – 292,500 บาท/เดือน>
6. Helicopter Emergency Medical Service (HEMS) – บินบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อพาผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บไปส่งที่โรงพยาบาล
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 175,500 – 263,250 บาท/เดือน>
7. Firefighting - บินดับเพลิงในพื้นที่ที่ได้รับแจ้ง ส่วนใหญ่ต้องไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เช่น ไฟไหม้ป่า หรือพื้นที่บนภูเขา
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 175,500 – 277,875 บาท/เดือน>
8. Tourism and Sightseeing - บินพาผู้โดยสารท่องเที่ยว ชมสถานที่ทัศนียภาพทางอากาศ
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 117,000 – 175,500 บาท/เดือน>
9. Corporate and VIP Transport / Charter Services - บินขนส่งผู้โดยสาร / วีไอพี / บุคคลผู้มีชื่อเสียง / พนักงานองค์กร
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 204,750 – 351,000 บาท/เดือน>
10. Agricultural Spraying - บินฉีดพ่นยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช รวมถึงปุ๋ยสำหรับพืชผลทางการเกษตร
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 146,250 – 234,000 บาท/เดือน>
11. News and Traffic Reporting – บินรายงานข่าวและการจราจรทั้งแบบรายงานสด แบบเรียลไทม์
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 131,625 – 204,750 บาท/เดือน>
12. Flight Instructors – ครูการบินเฮลิคอปเตอร์ ทำหน้าที่สอนผู้ที่สนใจอยากเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้จบและสามารถสอบใบขับขี่เฮลิคอปเตอร์ได้
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 117,000 – 204,750 บาท/เดือน>
ค่าตัวที่เขียนมานี้ อ้างอิงเฉลี่ยจากประเทศใหญ่ๆที่ใช้เฮลิคอปเตอร์กันเป็นว่าเล่น (คิดอัตราค่าเงินเฉลี่ย 35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ)
ในแต่ละประเทศอาจมีราคาค่าตัวที่แตกต่างกันไป ไม่ต่างกันกับวิชาชีพอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยที่หลากหลายของแต่ละประเทศ เช่น ค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ อุปสงค์ อุปทานของตลาด แรงงาน นโยบายภาษี มาตรฐานค่าจ้าง และ การเมือง
เส้นทางวิชาชีพก็อาจเปรียบได้กับวิชาชีพแพทย์ เมื่อเรียนจบ จะต้องไปเรียนเฉพาะทางเพิ่มเติม นักบินก็เช่นกัน เมื่อก้าวย่างออกจากโรงเรียนการบิน การจะไปบินกับบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ พวกเขาจะต้องไปบินกับเฮลิคอปเตอร์แบบใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องไปเรียนเฉพาะทางกับเครื่องแบบนั้นๆก่อน
ส่วนการจะไปทำงานที่ประเทศไหน ก็ต้องศึกษากฎหมายการบินของประเทศนั้น ต้องใช้ใบอนุญาตนักบินของประเทศนั้นๆ หรือบางที่ก็ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ แล้วแต่กติกาของแต่ละที่
สำหรับคนที่เรียนบินกับโรงเรียนที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศที่มีมาตรฐาน ส่วนใหญ่สามารถใช้ใบขับขี่นักบินนั้น นำไปแปลงร่างเพื่อเทียบเคียงกับใบขับขี่ของประเทศที่จะไปทำการบินด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆว่าเขามีเงื่อนไขอย่างไร โดยมากต้องมีการสอบบางรายวิชาและมีการตรวจสอบฝีมือบินก่อน
ความก้าวหน้าในวิชาชีพก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เริ่มจากเป็นนักบินผู้ช่วยก่อน บินเก็บเกี่ยวประสบการณ์ สั่งสมชั่วโมงบิน เมื่อคุณสมบัติครบ องค์ประกอบได้ ก็ปรับเป็นนักบินผู้ช่วยอาวุโส สักพักก็เป็นกัปตัน หากใครอยากพัฒนามากขึ้น ก็ไปเป็นครู ไปเป็นนักบินผู้ตรวจสอบนักบินกันเองอีกที ระดับที่เพิ่มหมายถึงค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และค่าตอบแทนที่เพิ่มนั้น มันก็มาคู่กันกับความรับผิดชอบที่มากขึ้นนั่นเอง
มันต้องผ่านอะไรอีกเยอะสำหรับวิชาชีพนักบินนี้
ร้อยชั่วโมงแรกคือของยากที่สุด แต่มันก็น่าจดจำที่สุดเช่นกัน และมันปูทางไปสู่หลักพัน หลักหมื่นชั่วโมง เพื่อให้เหล่าคอปเตอร์ได้โลดแล่นไปบนโลกกว้าง บนเส้นทางที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม..ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย
คุณค่าของแต่ละวิชาชีพก็เช่นกัน
....
- อ้างอิงรายได้นักบิน ฮ.จากเว็บไซต์ VelvetJobs
อ่านบทความอื่นๆได้ที่ hoverinspiration.com
หรือ Facebook Page : Hovering Inspirations
โฆษณา