6 ส.ค. 2024 เวลา 01:30 • ไลฟ์สไตล์

หลายคนเป็นศรีทนได้

งานเหนื่อยงานหนักแค่ไหน ใจก็ยังสู้เพื่อค่ากินค่าอยู่และหนี้สินที่ผูกรัดมัดตัว แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่ทน “ถ้างานมันแย่..ก็แค่ลาออก” จะปล่อยให้คุณภาพชีวิตผูกติดกับงานร้ายๆ ไปทำไม 😅
ยิ่งถ้าเราเป็นคนที่มีสกิลหรือทักษะพิเศษซึ่งน้อยคนทำแทนได้ หรือเป็นแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะทาง การมูฟไปที่ทำงานใหม่อาจมาจากแรงจูงใจด้านอื่นร่วมด้วย เช่น ได้ปรับฐานเงินเดือน มีค่าตอบแทนพิเศษ ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือแม้แต่ได้เจองานที่ท้าทายความสามารถมากกว่าเดิม ฯลฯ ฉะนั้น การเดินหน้าเพื่อหาสิ่งใหม่ที่ดีกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแย่ๆ เสมอไป
แล้วถ้าที่ทำงานเดิมมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 💰 ให้เราอยู่ล่ะ จะทำยังไงดี ? วันนี้ THEE PLANS 🦌 ชวนมาหาทางออกเตรียมไว้ก่อน เผื่อถึงเวลาย้ายจะได้ไม่ต้องวุ่นวายหาคำตอบนะครับ
สมมติที่ทำงานเดิม เราเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) อยู่แล้ว ในกรณีนี้ เราต้องรู้และเข้าใจสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขของสินค้าการเงินตัวนี้กันก่อนครับ
สิทธิประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ ช่องทางเก็บออมสะสมของลูกจ้างผ่านกองทุนรวมที่นายจ้างมีหน้าที่สมทบให้ตามนโยบายกองทุนฯ ที่กำหนดไว้ และระหว่างนั้น เงินที่สะสมและสมทบก็ได้ทำงานผ่านกองทุนรวมที่เราเลือกแผนลงทุนไว้ พร้อมกับได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในหมวดสินค้าการเงินเพื่อการเกษียณในแต่ละปี
ทีนี้ จะได้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ก็ต้องเข้าเงื่อนไขหลักของการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นั่นคือ เป็นสมาชิกฯ ต่อเนื่องเกินกว่า 5️⃣ ปี และลาออกจากสมาชิกฯ เพื่อรับเงินคืนได้เมื่ออายุครบ 5️⃣5️⃣ ปีขึ้นไป ฟังไปฟังมาคล้าย RMF เลยใช่ไหมครับ 😊 ทั้งนี้ เพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพนั่นเองครับ
แล้วหากเราออกจากที่ทำงานเดิมก่อนจะครบเกณฑ์จำนวนปีดังกล่าวล่ะ จะมีทางเลือกยังไงได้บ้าง❓
1️⃣ ทางเลือกแรกครับ จำเป็นต้องใช้เงินมาก ถอนมันออกมาเลย วิธีการนี้มีข้อเสีย คือ เราจะไม่ได้เก็บออมลงทุนเพื่อการเกษียณต่อ และเงินที่เราได้รับทั้ง 3 ส่วนยกเว้นเงินสะสมของเราเองจะต้องถูกนำไปคำนวณภาษีด้วย ถ้าฝากครบ 5 ปี สามารถแยกคำนวณได้โดยไม่ต้องนำมารวมกับเงินได้ประเภทอื่น
2️⃣ ขอนายจ้างคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม โดยทั้งลูกจ้างที่เป็นสมาชิกและนายจ้างเดิม ไม่ต้องเติมเงินเข้าไปแล้ว เสมือนฟรีซเงินต่อไว้ที่เดิม สิ่งที่ต้องคำนึงกรณีนี้คือ ค่าใช้จ่ายการคงเงินไว้ต้องเสียเท่าไหร่ และ ระยะเวลาที่สามารถคงเงินไว้ได้นานเท่าไหร่ สองข้อนี้อาจต้องเช็คหน้างานดูอีกทีเพราะแต่ละกองมีนโยบายไม่เหมือนกัน
3️⃣ หากนายจ้างใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนกัน ง่ายเลยครับกรณีนี้ โอนย้ายไปกองใหม่ได้เลย ซึ่งนับอายุสมาชิกต่อเนื่องจากกองเดิมที่เราย้ายมาด้วยครับ
4️⃣ สุดท้าย ถ้าทั้ง 3 วิธีแรกไม่สามารถทำได้และเราก็ไม่อยากเสียภาษีจากเงินที่ได้รับออกมา ก็ให้ย้ายเงินของเราไปเข้า “RMF for PVD” ได้ครับ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีและที่สำคัญ เป็นการเก็บออมเพื่อใช้หลังเกษียณต่อเนื่อง ข้อจำกัดนึงของวิธีนี้ คือ เมื่อย้ายไปเข้ากอง RMF for PVD แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกได้ นอกจากนี้ การนับระยะเวลายังคงหลักเกณฑ์เดิม คือ ต้องอายุครบ 55 ปี และลงทุนอย่างน้อย 5 ปี โดยสามารถนับเวลาต่อเนื่องได้จากกองเดิมที่เราย้ายมา
ไม่ว่าจะวิธีไหนก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ เลือกที่เหมาะกับความจำเป็นของเรา แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้เงินก้อนในตอนนี้ THEE PLANS 🦌 ก็อยากสนับสนุนให้เก็บเงินก้อนนี้ไว้ใช้ยามแก่ตัวกันนะครับ 💋
#PVD #กสล #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
#วางแผนเกษียณ #มนุษย์เงินเดือน
#วางแผนการเงิน #วางแผนชีวิต
#RetirementPlanning
#THEEPLANS
#FinancialSolutions
#STANDbyYOU
โฆษณา