Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
30 ก.ค. เวลา 02:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เหตุผลที่พันธบัตรรัฐบาลอเมริกามีแนวโน้มขึ้นราคาในช่วงการลดดอกเบี้ย
ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ในเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเหลือ 3.0% หรืออัตราการจ้างงานที่ลดลงมาอยู่ที่ 206,000 ตำแหน่ง (แผนภูมิ 1) หรืออัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2021 ที่ 4.1% ต่างก็ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเริ่มอ่อนแอลง นี่ทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้มีสูงขึ้นไปอีก
อย่าง Chicago Mercantile Exchange (CME) ก็มองว่าในปัจจุบัน โอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนกันยายนนี้มีสูงถึง 90% ซึ่งมุมมองดังกล่าวทำให้นักลงทุนมากมายเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์จากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในอนาคต นี่ส่งผลให้ดัชนี S&P500 แตะระดับสูงสุดใหม่ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แต่แม้คนมากมายจะนึกถึงตลาดหุ้นเมื่อนึกถึงวงจรการลดดอกเบี้ย ยังคงมีเหตุผลบางประการที่พันธบัตร โดยเฉพาะ พันธบัตรรัฐบาล จะเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจในช่วงนโยบายการเงินผ่อนคลาย
เหตุผลแรกก็เพราะ การลดดอกเบี้ยโดยเฟดนั้นสะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจ โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็ต่อเมื่อพวกเขาเห็นถึงปัญหาในเศรษฐกิจและต้องการจะกระตุ้นการใช้จ่าย ดังนั้นการที่เฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยก็แปลว่าพวกเขาเห็นความเปราะบางบางอย่างในเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเมื่อความเปราะบางเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและการเติบโตของเศรษฐกิจ รายได้ของภาคธุรกิจก็มักจะถูกกระทบไปด้วย ซึ่งผลกำไรที่น้อยลงจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทมากมายร่วงลงไปด้วย
แถมในปัจจุบัน ดัชนีทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็อาจกำลังชี้ถึงแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น อัตราการจ้างงานล่าสุดในเดือนมิถุนายน ที่แม้จะไม่ได้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเท่าไร แต่ถ้านับที่ตัวเลขในสองเดือนก่อนหน้าที่ถูกปรับลงแล้ว (ตัวเลขเดือนพฤษภาคมถูกปรับจาก 272,000 เหลือ 218,000 และตัวเลขเดือนเมษายนถูกปรับจาก 165,000 เหลือ 108,000) ก็แปลว่ามีคนถูกจ้างงานน้อยกว่าที่เคยประกาศไว้ถึง 111,000 คน
นี่ทำให้ค่าเฉลี่ยในไตรมาส 2 อยู่ที่ 177,000 ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 269,000 ในไตรมาสแรกอย่างมาก
นอกจากนี้ แม้อัตราการว่างงานจะไม่ได้เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อไรก็ตามที่ตลาดแรงงานเริ่มอ่อนแอ มันมักจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จากรายงานใน Axios อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนนั้นเกือบจะเข้าข่ายของ Sahm Rule ที่กล่าวไว้ว่า เมื่อส่วนต่างของอัตราการว่างงานเฉลี่ยในสามเดือนปัจจุบันกับอัตราการว่างงานเฉลี่ยในช่วงสามเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า มีค่ามากกว่า 0.5% แปลว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาแล้ว
ซึ่งในปัจจุบัน ส่วนต่างนี้อยู่ที่ 0.4% นี่อาจแปลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้ภาวะซบเซาที่สามารถส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นแล้ว
นอกจากนี้ นโบบายการเงิน ไม่ว่าจะแบบผ่อนคลายหรือตึงตัว ก็ไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทันทีด้วย การวิจัยของธนาคารกลางออสเตรเลียพบว่าการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางการเงินโดยธนาคารกลางใช้เวลาราวๆ 1-2 ปี กว่าที่จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ นี่เป็นเพราะครัวเรือนและธุรกิจต่างก็ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ดังนั้น การลดดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะเห็นถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในทันที โดยอาจจะมีช่วงที่รู้สึกได้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจอยู่บ้างในตอนที่ธนาคารเริ่มประกาศลดดอกเบี้ย ซึ่งช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอเช่นนี้แหละ ที่จะทำให้ราคาหุ้นลดลงและทำให้พันธบัตรรัฐบาลเป็นที่ต้องการมากขึ้น
เหตุผลถัดมา เป็นเพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมักจะไปในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายอยู่บ่อยๆ ในอดีตที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี กับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ (Federal Funds Rate) ค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกัน (แผนภูมิ 2) หนึ่งในคำอธิบายของปรากฏการณ์นี้ก็คือ แม้ปกติเฟดจะคุมดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนในระยะสั้นอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวอัตราผลตอบแทนก็มักจะสะท้อนถึงมุมมองที่ตลาดมีต่อเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งคาดเดามาจากการตัดสินใจของธนาคารกลางนั่นแหละ
เช่น เมื่อธนาคารกลางตัดสินใจลดดอกเบี้ยในปัจจุบัน ผู้คนอาจมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเพราะเศรษฐกิจมีความอ่อนแอ และถ้าเศรษฐกิจอ่อนแอก็จะทำให้ธนาคารกลางต้องลดดอกเบี้ยต่อไปในอนาคต นี่ก็ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวต่ำลงไปด้วย และเนื่องจากราคาพันธบัตรนั้นจะไปสวนทางกับอัตราผลตอบแทนเสมอ การลดดอกเบี้ยโดยเฟด (ซึ่งมักทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงด้วย) ก็จะทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้นนั่นเอง
โดยสรุปแล้ว สาเหตุหลักที่อาจทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลราคาขึ้นในช่วงวงจรการลดดอกเบี้ย ก็มาจากการที่เศรษฐกิจอ่อนแออาจทำให้ราคาหุ้นตกลงเมื่อเทียบกับราคาพันธบัตรรับบาล และการลดดอกเบี้ยนโยบายก็มีแนวโน้มทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลง ส่งผลให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้เขียนมาเพื่อชักจูงให้ผู้อ่านตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใด แต่เพียงแค่ต้องการนำเสนออีกมุมมองที่น่าสนใจให้ผู้อ่านได้นำกลับไปพิเคราะห์กัน
Sources:
https://www.investing.com/analysis/fed-rate-cuts--a-signal-to-sell-stocks-and-buy-bonds-200650024
https://edition.cnn.com/2024/07/11/economy/us-cpi-consumer-inflation-june/index.html
https://www.rba.gov.au/education/resources/explainers/the-transmission-of-monetary-policy.html#:~:text=Some%20estimates%20suggest%20that%20it,time%2C%20and%20economic%20conditions%20vary
.
https://www.axios.com/2024/07/05/job-market-economy-unemployment-inflation
ข่าวรอบโลก
เศรษฐกิจ
สหรัฐอเมริกา
3 บันทึก
8
4
3
8
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย