30 ก.ค. 2024 เวลา 11:28 • หนังสือ

ค​ ว​ า​ ม​ รั​ ก​ ข​ อ​ ง​ วั​ ล​ ย​ า

นิยายที่มีพล็อตเรื่องเอ่ยถึงเสรีภาพและความเสมอภาค
นวนิยายเรื่อง “ความรักของวัลยา”
ผลงานประพันธ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นนวนิยายคลาสสิกเล่มหนึ่งที่เล่าถึงหญิงสาวชื่อ​ วัลยา ผู้ที่ได้รับทุนรัฐบาลไปเรียนดนตรีที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
.
ช่วงนี้คนไทยต่างสนใจติดดตามโอลิมปิกเกมส์ที่นครปารีส​ ซึ่งในพิธีเปิดการแข่งขันเมื่อ​วันที่​ ๒๖​ กรกฎาคม​ มีไฮไลต์อ้างถึงประวัติศาสตร์เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส​ พ.ศ.​๒๓๓๒ (The French Revolution ค.ศ.​1789) ด้วย​ แอดจึงขอนำเสนอนิยายที่มีพล็อตเรื่องกล่าวถึงเสรีภาพและความเสมอภาคในยุคนั้น​ ซึ่งยังมีเนื้อหาร่วมสมัยมากทีเดียวให้อ่านกันค่ะ​
.
เมื่อเห็นชื่อหนังสือ “ความรักของวัลยา” เล่มนี้ครั้งแรก ผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องราวความรักระหว่างหญิงชายของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อวัลยา ท่านอาจจะต้องผิดหวัง เพราะนวนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความรักของนักเรียนไทยในต่างแดน
.
ในเรื่องนี้ผู้เขียนใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ‘ข้าพเจ้า’ ถ่ายทอดความคิดตลอดเรื่องตั้งแต่เขาได้รู้จักกับวัลยา และกล่าวถึงมุมมองความรักจากความรู้เรื่องดนตรีและศิลปะ
.
วัลยาไม่ใช่ผู้หญิงที่มีทัศนคติต่อเรื่องความรักอย่างคนในวัยเดียวกันโดยทั่วไปที่มองว่าความรักเป็นเรื่องส่วนตัวและต้องจบลงด้วยการแต่งงาน เธอมองเรื่องความรักในเชิงอุดมคติว่า ความรักเป็นเรื่องของส่วนร่วมที่เราควรเผื่อแผ่ความรักไปให้คนอื่น ๆ ในสังคมด้วย ชีวิตของเราจึงจะมีคุณค่าและความหมายอย่างแท้จริง เช่นที่วัลยาเอ่ยกับผู้เขียนว่า
 
.
“ความรักที่เป็นเพียงความสุข หรือไม่ก็ความใคร่ของคน ๆ หนึ่ง หรืออย่างมากที่สุดสองคนเท่านั้นเป็นความรักอย่างแคบ ความรักของคนเราควรจะขยายกว้างออกไปถึงชีวิตอื่น ถึงประชาชนทั้งหลายด้วย ชีวิตของคนเราจึงจะมีคุณค่าและมีความหมาย ไม่เสียทีที่เกิดมา...
หากชีวิตเราจะมีความรัก และความรักนั้นสามารถผลักดันชีวิตของคนเราให้สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าชีวิตของสิ่งอื่น นกมันอาจจะร้องเพลงได้เมื่อมันนึกอยากจะร้อง โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของชีวิตนกอื่นๆ แต่คนเราไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น”
.
หนังสือเล่มนี้เคยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ใน "สยามสมัย" ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ และมีการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยสำนักพิมพ์รวมสาสน์ ปกฉบับนี้เป็นการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน​ หากสังเกตดูภาพบนปกจะมีฉากหนึ่งในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย
.
เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นนามปากกาของ คุณศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ อดีตนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และอดีตนักการทูต ท่านเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัล "ศรีบูรพา" ในปี ๒๕๓๑ รางวัล "ศิลปินแห่งชาติ" สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๓ รางวัล "นราธิป" ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ และรางวัลอื่น ๆ อีก
.
ผู้เขียนยังมีผลงานนวนิยายที่โดดเด่นเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น ชัยชนะของคนแพ้, ปีศาจ, ไฟเย็น, บัวบานในอะมาซอน, คนดีศรีอยุธยา, ใต้ดาวมฤตยู ฯลฯ และผลงานอื่น ในรูปของเรื่องยาว เรื่องสั้น คอลัมน์ และบทความ
.
“ความรักของวัลยา” ยังมีตัวละครอื่นที่ผู้อ่านจะได้รู้จักและได้สัมผัสถึงมุมมองเรื่องความรักและชีวิตที่แตกต่างกันด้วยทั้งของคนฝรั่งเศสและคนไทย เช่นคู่ของเตือนตา-ไพจิตร์ ซึ่งเป็นนักการทูต เขามีความทะเยอทะยานที่จะใช้ชีวิตคู่เป็นเหมือนใบเบิกทางเพื่อไต่เต้าไปสู่สถานะทางสังคมและการงานให้สูงขึ้น หรือผู้เขียนกับเพียงตา ผู้ที่อยู่เจนีวาและมองว่าชีวิตควรเป็นเรื่องของความสุข ไม่ควรจริงจังต่อชีวิตมากไป
 
.
ขณะที่ตัวละครสำคัญอีกคนคือ ยง อยู่บางยาง เป็นคนไทยที่เรียกตัวเองว่าเด็กบ้านนอกและมีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนมานาน เขาไม่ได้ทำตัวโอ่อ่าว่าได้คลุกคลีกับผู้มีฐานะในปารีส และยังปรารถนาจะกลับสู่ประเทศไทยเพื่อทำประโยชน์ให้สังคมส่วนรวม
 
.
ผู้อ่านจะได้สัมผัสกลิ่นอายของยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งสิ้นสุดลง และเยอรมนีกำลังจะถูกแบ่งแยกเป็นตะวันออกและตะวันตก แต่ละประเทศมีความกังวลต่อ ‘สันติภาพ’ ขณะที่ผู้คนในสังคมก็กังวลถึงความมั่นคงในชีวิต และบ้างก็ยังค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่
 
.
ในเรื่องนี้ วัลยาคือตัวแทนของผู้หญิงหรือคนหนุ่มสาวที่ปฏิเสธสังคมศักดินา แต่ไม่ได้ปฏิเสธความรัก เธอมีอุดมการณ์ต่อความรักที่แตกต่างไป ซึ่งเป็นความรักเพื่อส่วนรวม สิ่งนี้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในยุคนั้นที่มีการต่อต้านสังคมศักดินา
.
 
หากใครยังไม่เคยอ่านนวนิยายเรื่อง "ความรักของวัลยา" แอดขอแนะค่ะ​ แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมานานนับแต่เรื่องนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก แต่คนหนุ่มสาวอย่างวัลยาก็ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก และความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจก็ขยายกว้างมากขึ้นเช่นกัน​
.
เมื่อปี ๒๕๖๒ นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมยอดเยี่ยมในรัชกาลที่ ๙​ และยังได้รับการคัดเลือกว่าเป็นหนึ่งในนวนิยายยอดเยี่ยม ๒๐ เรื่องของไทย (The Twenty Best Novels of Thailand) และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ "Wanlaya’s Love" โดย Marcel Barang ซึ่งเป็นนักแปลวรรณกรรมจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีผลงานแปลวรรณกรรมไทยออกสู่สายตาชาวต่างชาติมากที่สุดในยุคนี้
หมายเหตุ
- บทความวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของทีมแอดมินเพจ
- หนังสือนี้มิได้รับแจกเป็นบรรณาการจากสำนักพิมพ์ และเพจมิได้รับค่าตอบแทนในบทวิจารณ์แต่อย่างใด
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #ความรักของวัลยา #เสนีย์เสาวพงศ์ #วรรณกรรมยอดเยี่ยมรัชกาลที่๙ #โอลิมปิกเกมส์2024 #ปารีส2024
โฆษณา