30 ก.ค. 2024 เวลา 14:21 • ข่าว
โรงเรียนบ้านนาดอกไม้

"วิศวกรสังคม" ม.ราชภัฏสกลนคร ทำถึง! จับมือ "น้องนักเรียน" ปั้นก้อนเห็ด

ที่โรงเรียนบ้านนาดอกไม้ ต.สามัคคีพัฒนา อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดกิจกรรมสนับสนุนห้องเรียนยุวชนสัมมาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนและใช้กระบวนการวิศวกรสังคม ด้วยการผลิตและบรรจุก้อนเห็ดนางฟ้า เพื่อตอบเป้าหมาย SDG1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เมื่อวันที่ 26 - 27 ก.ค. 2567
ตลอดทั้ง 2 วัน 2 คืนนี้ พบกับกิจกรรมที่หลากหลายทั้งองค์ความรู้ นันทนาการ ฝึกปฏิบัติจริง เริ่มต้นกล่าวต้อนรับทุกคนโดย นายบัญชา คิดโสดา ผอ.โรงเรียนบ้านนาดอกไม้ เปิดค่ายอบรมโดย ผศ.ดร.พุฑฒจักร สิทธิ คณบดีคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ ภายหลังนายอำเภออากาศอำนวย นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช มาร่วมเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ ซึ่งมีคณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านนาดอกไม้ เกษตรอำเภออากาศอำนวย สมาชิกวิสาหกิจชุมชนนาปรังมูลค่าสูง มากกว่า 100 คน เข้าร่วมเป็นจิตอาสาการเพาะเห็ด
ผศ.ดร.พุฑฒจักร สิทธิ คณบดีคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์
นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ ผู้รับผิดชอบดูแลงานกล่าวว่า การเพาะเห็ดนางฟ้าในครั้งนี้ นำโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ ที่เกิดผลกระทบจากงานวิจัยปฏิบัติการแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ ซึ่งมีกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ คือ สร้างระบบพี่เลี้ยงวิสาหกิจชุมชน (เพื่อสังคม) เคลื่อนที่ (Serve) มาถ่ายทอดทักษะการอัดและบรรจุก้อนเห็ด คือโค้งคำนับฟาร์ม โดยคุณณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร บ้านเสาวัด นอกจากองค์ความรู้แล้วระบบพี่เลี้ยงยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตด้วย (Co Technology)
เป้าหมายคือผลิตและบรรจุก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าจากวัสดุขี้เลื่อยไม้ยางพาราให้ได้อย่างน้อย 6,000 ก้อน โดยณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา ได้ถ่ายทอดทักษะการผลิตและการใช้เทคโนโลยี ได้แก่ การผสมสูตร การบรรจุก้อน การนึ่งฆ่าเชื้อ การหยอดเชื้อ และการบ่มก้อนเชื้อเห็ด อีกทั้งนักศึกษาวิศวกรสังคมร่วมสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับน้องนักเรียน ทั้งร้อง เต้น เล่นเกม ถาม-ตอบ มอบของรางวัล และจับมือน้องปั้นเพาะเห็ด พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกกำกับงานให้บรรลุตามปรารถนา
นี่คือระบบการจัดสวัสดิการ "การเรียนรู้" รูปแบบหนึ่งโดย ม.ราชภัฏสกลนคร เกิดจากผู้เรียนสนใจที่อยากจะรับรู้ จากการสร้างแรงจูงใจด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ซึ่งการพัฒนาทุนมนุษย์โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในปัจจุบัน
โฆษณา