31 ก.ค. เวลา 15:45 • ปรัชญา

สารแห่งความสุข

เนื้อหาดีๆจากหนังสือ 'สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วยพีระมิดสามสุข' ถูกกลั่นกรองจากคุณชิอน คาบาซาวะ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ชาวญี่ปุ่น
หากความสุขคือผลลัพธ์ กลไกการขับความสุขออกมาสำหรับงานค้นคว้านี้คือสารเคมีในสมอง ซึ่งในสมองจะมีสารเคมีหลายตัวมาก มีมากกว่า 100 ชนิด แต่ตัวเด่นๆที่ถูกคัดสรรมาในหนังสือเล่มนี้โฟกัสไปที่ 3 ตัวได้แก่ เซโรโทนิน ออกซิโตซิน และโดพามีน เมื่อไรสาร 3 ชนิดนี้หลั่งออกมา เราจะมีความสุข
1.เซโรโทนิน - ความสุขจากการมีสุขภาพกายและใจที่ดี
2.ออกซิโตซิน - ความสุขจากความรัก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ และมิตรภาพ
3.โดพามีน - ความสุขจากการได้รับความสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย เงินทอง ชื่อเสียง และเกียรติยศ
เคล็ดลับโดยสรุปก็คือ การบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 โดยให้จัดลำดับความสำคัญให้ถูกก่อน เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกว่า ควรให้ความสำคัญกับด้านใดในชีวิตก่อน อย่างไหนค่อยตามมาทีหลัง
หากย่อสารเคมีที่ชื่อฟังดูแล้วจำยาก แล้วเปลี่ยนคำใหม่เป็น 'สุขภาพ / ความผูกพัน / ความสำเร็จ' แบบนี้จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
จากประสบการณ์กว่า 30 ปีของคุณหมอที่ผ่านการรักษา การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมคนไข้ จนตกผลึกออกมาเป็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ก็สรุปได้ว่า คนเราควรเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปน้อยดังนี้
1. สุขภาพ (เซโรโทนิน)
2. ความผูกพัน (ออกซิโตซิน)
3. ความสำเร็จ (โดพามีน)
ทำไมเอาความสำเร็จไว้ท้ายสุด เพราะจากสถิติพบว่า มนุษย์งานที่ตะเกียกตะกายหาความสำเร็จ ยิ่งมุ่งมั่นมากเกิน ส่วนใหญ่สุขภาพจะทรุดโทรม ครอบครัวจะห่างหาย แม้เดินทางมาถึงยอดพีระมิดแล้ว หันหลังกลับมาดู อาจว่างเปล่า ฐานล่างพร้อมจะโค่นเมื่อไรก็ได้
รากฐานที่ควรจะเป็นคืออะไร .. คำตอบคือ 'สุขภาพ'
หากสุขภาพจิตและกายแข็งแรง ย่อมเปรียบได้กับฐานรากที่มั่นคง และชั้นต่อจากนั้นคือฐานแห่ง 'ความผูกพัน'
เมื่อไรรับอารมณ์สุขที่เกิดจากความผูกพันได้ สารออกซิโตซิน จะหลั่งออกมา ยกตัวอย่างเช่นเวลากอด เวลาหอมลูก ความผูกพันในครอบครัว ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างเพื่อนก็รวมอยู่ในความสุขประเภทนี้ด้วย ความสุขเกิดขึ้นง่ายๆแค่นี้
ครั้นรากฐานมั่นคงแล้ว ต่อไปจะสร้างตึกกี่ชั้นก็ทำได้ตราบที่ใจอยากจะทำ พลังงานมันจะวิ่งพรวดพราดไม่มีวันหมด ต่อยอดเข้าสู่โหมด 'ความสำเร็จ' ถึงตอนนั้น โดพามีน ก็จะหลั่งออกมา
โดยสรุปคือ จัดลำดับความสำคัญของ 'สุขภาพ' 'ความผูกพัน' และ 'ความสำเร็จ' ให้ได้ แล้วสารแห่งความสุขจะทำงานผสมผสานกันอย่างสมดุล
คุณหมอเคยไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา สังเกตพฤติกรรมการทำงานของคนอเมริกันที่นั่นต่างกับคนญี่ปุ่นในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง นั่นคือคนญี่ปุ่น พนักงานจะกลับบ้านช้า เลิกงานแล้วไม่กลับบ้าน อยู่เคลียร์งานต่ออีกพักหนึ่ง ในขณะที่คนอเมริกัน เมื่อถึงเวลาเลิกงาน เก็บของกลับบ้านทันที
คุณหมอถามพนักงานชาวอเมริกันคนหนึ่งว่า
"เลิกงานปุ๊บ กลับบ้านปั๊บ ไปทำอะไรเหรอ"
พนักงานตอบ
"ถามอะไรแปลกๆ ก็ต้องไปทานมื้อค่ำกับครอบครัวสิ"
โฆษณา