31 ก.ค. 2024 เวลา 23:50 • ประวัติศาสตร์

เครื่องบินดำทิ้งระเบิด

ในอดีตกาลก่อนที่จรวดมิสไซล์หรือระเบิดจะมีระบบนำทางอัจฉริยะพุ่งเข้าหาเป้าหมายเองนั้น การทิ้งระเบิดให้โดนเป้าหมายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เครื่องบินจะต้องบินเข้าใกล้เป้าหมายให้มากที่สุดก่อนจะปล่อยระเบิดหรือจรวด ยิ่งเข้าใกล้มากก็ยิ่งเล็งได้ง่าย นั่นคือที่มาของเครื่องบินดำทิ้งระเบิด
เครื่องบินเริ่มมีบทบาททางทหารอย่างจริงจังในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยหน้าที่หลักของเครื่องบินคือการถ่ายภาพ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามนำเครื่องบินมาใช้ในเชิงรุกเช่นการไล่ยิงเครื่องบินข้าศึกและทิ้งระเบิดอีกด้วย
การทิ้งระเบิดจากเครื่องบินยุคแรกคือการที่นักบินนำระเบิดชนิดต่างๆที่ใช้บนพื้นดินเช่น ลูกระเบิดขว้าง กระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด(ลูกปืนค.) ขึ้นไปกับเครื่องบินแล้วก็หย่อนลงมาโดยกะด้วยสายตาล้วนๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องถามหาความแม่นยำ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ล้วนๆ และการจะบินเอาระเบิดไปทิ้งก็ต้องบินในระดับความสูงต่ำ ทำให้ตกเป็นเป้าของบรรดาปืนกลและปืนเล็กยาวที่รอยิงอยู่บนพื้นดิน
การทิ้งระเบิดในยุคแรกที่นักบินต้องหยิบระเบิดมาทิ้งด้วยมือ
เครื่องบินปีกสองชั้นในยุคแรกๆนั้นมีข้อจำกัดด้านสมรรถนะไม่ว่าจะเป็นความเร็วหรือความคล่องตัว ทำให้การบินโฉบเข้าไปทิ้งระเบิดและเชิดหน้าหนีขึ้นมาจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ด้วยความที่เครื่องบินยังถือเป็น "ของเล่นใหม่" ทำให้นายทหารหัวโบราณหลายคนไม่ค่อยให้ความสนใจสักเท่าไหร่ กว่าจะมีการพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดอย่างจริงจังก็ใกล้จบสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเต็มที
พันเอก Billy Mitchell นายทหารอเมริกันผู้คุมกองบินได้เดินทางมายังฝรั่งเศสเพื่อทำสงครามหลังจากอเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมัน เขาได้เห็นเครื่องบินอังกฤษและฝรั่งเศสบินทิ้งระเบิดใส่เยอรมัน หลังจบสงครามเขาจึงได้นำวิธีการทิ้งระเบิดนี้ไปศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ในที่สุดก็นำไปใช้กับเครื่องบินทิ้งระเบิดทางทะเลเพื่อทิ้งระเบิดใส่ดาดฟ้าเรืออันเป็นจุดบอบบางของเรือรบ
พันเอก Billy Mitchell ผู้เห็นความสำคัญของเครื่องบินทิ้งระเบิด
เทคนิคการดำทิ้งระเบิดคือการที่เครื่องบินบินมาที่ระดับความสูงปกติ เมื่อเห็นเป้าหมายก็จะลดระดับเพดานบินและพุ่งเข้าหาเป้าหมายโดยทำมุมตั้งแต่ 45° ไปจนถึง 80° ระหว่างนั้นนักบินก็จะพยายามจัดแนวเครื่องให้ตรงกับเป้าหมายมากที่สุด จากนั้นก็ปล่อยระเบิดแล้วเชิดหน้าเครื่องบินขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วบินหนีออกไป
เทคนิคการดำทิ้งระเบิดของโดยบินหาเป้าหมายที่ความสูง 10,000ฟุต และปล่อยระเบิดที่ความสูง 1,500ฟุต
สิ่งสำคัญคือทั้งนักบินและเครื่องบินต้องทนต่อแรงจีอันมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างการพุ่งเข้าหาเป้าหมายตามทิศทางของแรงโน้มถ่วง ลองนึกภาพเวลารถออกตัวแรงๆแล้วตัวเราหลังติดเบาะ นั่นแหละคือสิ่งที่นักบินต้องเจอ แต่มันรุนแรงกว่านั้นเยอะ
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เทคนิคการทิ้งระเบิดแบบนี้ก็แพร่หลายไปทั่วโลก ประเทศต่างๆเริ่มซื้อหรือพัฒนาเครื่องบินดำทิ้งระเบิดมาประจำการเพื่อใช้โจมตีเรือรบและเป้าหมายภาคพื้นดิน เมื่อเกิดสงครามโลกอีกครั้งขึ้น เครื่องบินเหล่านี้จึงได้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการโจมตี โดยเฉพาะยุทธวิธีการรบแบบสงครามสายฟ้าแลบของเยอรมันที่ต้องพึ่งพาเครื่องบินแบบนี้อย่างมาก
เครื่องบินดำทิ้งระเบิด ju 87 stuka ของเยอรมันที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการติดไซเรนอันเป็นเอกลักษณ์เพื่อข่มขวัญศัตรู
เครื่องบินดำทิ้งระเบิดมีความแม่นยำในการทิ้งระเบิดมากกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่มากมายนัก สามารถทำลายเป้าหมายหลักเช่นเรือรบ บังเกอร์ หรือที่ตั้งปืนใหญ่ต่างๆได้ดี และที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการสร้างต่อลำก็ถูกกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่หลายเท่าตัว ทั้งยังเล็กและคล่องตัวทำให้ตกเป็นเป้าของเครื่องบินขับไล่ได้ยากกว่าเครื่องบินลำใหญ่ที่เชื่องช้า
หลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้มีการพัฒนาระบบเล็งเป้าและระบบนำวิถีมาใช้กับอาวุธปล่อยทั้งหลายที่เครื่องบินมี ทั้งจรวดและระเบิดต่างก็สามารถพุ่งเข้าหาเป้าหมายได้เองทำให้ไม่ต้องบินโฉบเข้าทิ้งระเบิดใกล้ๆอีกแล้ว เครื่องบินดำทิ้งระเบิดจึงค่อยๆหมดความสำคัญไปในที่สุด เท่าที่ทราบเครื่องบินดำทิ้งระเบิดรุ่นสุดท้ายน่าจะเป็น A6 intruder ของอเมริกาที่เข้าประจำการในปี 1963 และปลดประจำการในปี 1997
เครื่องบิน A6 intruder ที่ออกแบบมาให้สามารถทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ได้ด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา