Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Story Thailand
•
ติดตาม
1 ส.ค. เวลา 04:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“Food Innopolis” เชื่อมงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ยั่งยืน
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญต่อการส่งเสริมระบบนิเวศด้านนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ รวมถึงผลักดันไทยให้อยู่ในเรดาห์ที่ทั่วโลกเล็งเห็น ในฐานะศูนย์กลางพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหาร (Food Innovation Hub) อีกแห่งหนึ่งของอาเซียน
ย้อนเส้นทาง “เมืองนวัตกรรมอาหาร”
“เมื่อทำแบบเดิม จะได้แบบเดิม” โจทย์จาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการริเริ่มสิ่งใหม่ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศ จึงเสนอเรื่องฟู้ดอินโนโพลิสให้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับนักวิจัย
รวมถึงปรับเปลี่ยนมุมมองการประกอบอุตสาหกรรมให้กว้างกว่าการผลิต แรงงาน แต่ต้องมีองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น
“ย้อนกลับไปเมื่อ 5-7 ปีที่แล้วในเรื่องอุตสาหกรรมอาหารของไทย ต้องบอกว่า เราเก่งทุกอย่าง เรามีวัตถุดิบด้านอาหารที่มากทั้งปริมาณและความหลากหลาย ระบบการขนส่งสะดวก บุคลากรด้านนวัตกรรมอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งโรงงานต้นแบบ ห้องปฏิบัติการ ห้องวิเคราะห์ทดสอบ ก็มีอยู่มากตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีองค์ประกอบที่เหมาะกับการเป็นศูนย์นวัตกรรมด้านอาหาร (Food Innovation Hub)"
"แต่ไทยกลับถูกมองข้ามชนิดไม่ได้อยู่ในเรดาห์ของผู้ประกอบการอาหารด้านนวัตกรรมของโลกเลย แม้แต่งบวิจัยพัฒนายังไหลไปลงทุนในประเทศสิงคโปร์” ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการฝ่ายเมืองนวัตกรรมอาหารและผู้ร่วมสร้างเมืองตั้งแต่แรกเริ่ม กล่าว
“Food Innovation Hub” จึงเป็นสารตั้งต้นในการศึกษาโมเดลการบริหารจัดการศูนย์นวัตกรรมด้านอาหารในประเทศต่าง ๆ ควบคู่กับการศึกษาเปรียบเทียบกับองค์ประกอบที่มีภายในประเทศ นำมาผสมผสานเพื่อการออกแบบเมืองนวัตกรรมด้านอาหารของไทย
เข่น การศึกษาดูงานที่ “ฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley)” ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเน้นการทำงานแบบ Connect the dot ร่วมกับมหาวิทยาลัย Wageningen และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในการติดต่อจัดหาโซลูชันที่ธุรกิจต้องการ “อะโกรฟู้ดพาร์ค (Agro Food Park)” ประเทศเดนมาร์ก
โมเดลความร่วมมือระหว่างสหกรณ์เดนมาร์ก มหาวิทยาลัย Aarhus และองค์กรท้องถิ่น ในการพัฒนาความเป็นอุทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์ด้านอาหาร และอีโคซิสเท็มให้เติบโตไปพร้อมกับเมือง จนกลายเป็นฮับด้านไอทีเพื่อสุขภาพและอาหาร “ฟู้ดอินโนเวชันเน็ตเวิร์ก (Food Innovation Network)” ประเทศนิวซีแลนด์ โครงการจัดตั้งตามนโยบายรัฐบาล ร่วมดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย Massey และเครือข่ายที่กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ทั้งเกาะเหนือ และตอนต้นของเกาะใต้ เพื่อศึกษาโมเดลโรงงานต้นแบบ การวิจัยและพัฒนา ที่ตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่หลากหลาย
การศึกษาดูงานที่ “แคมป์เดนบีอาร์ไอ (Campden BRI)” บริษัทวิจัย พัฒนา และทดสอบด้านอาหาร ประเทศอังกฤษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหาร “วิทากอรา (Vitagora)” ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งรับบทตัวกลางเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีให้เติบโตต่างประเทศ โดยการขอทุนจากสหภาพยุโรปมาทำงาน เป็นต้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ทุกที่ ๆ ไป แม้แต่วิทากอราหรือแคมป์เดนบีอาร์ไอ ต่างมีความสัมพันธ์และทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด
ดร.เอกอนงค์ กล่าวว่า ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ คือ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการทดสอบ การทดลองผลิต เช่น ในมหาวิทยาลัยยังขาดความพร้อมทั้งเรื่องของมาตรฐานและสเกล แนวคิดแรกจึงเลือกผสมผสานโมเดลของแคมป์เดนบีอาร์ไอและโมเดลของนิวซีแลนด์ กับสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยของไทยมีอยู่ มาพัฒนาให้ดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น
ซึ่งการดำเนินงานช่วงต้น จำเป็นต้องใช้การขับเคลื่อนด้านนโยบายสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส การทำความเข้าใและหน่วยงานในอีโคซิสเท็ม การชักชวนมหาวิทยาลัยมาร่วมงาน โดยต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ฟู้ดอินโนโพลิสไม่ใช่หน่วยงานให้ทุน
“ตอนยื่นเรื่องเข้ามติครม. เราของบประมาณไปถึง 3 พันล้านบาท สำหรับการดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี แต่ทุกวันนี้เราได้รับงบประมาณเฉลี่ย 40-50 ล้านบาทต่อปี”
แม้ว่าเดิมเป้าประสงค์ของรัฐบาลต้องการให้ฟู้ดอินโนโพลิสเป็นเครื่องมือทางนโยบาย (Policy Tools) ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอาหารของประเทศ แต่ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของต้นสังกัด คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำให้ฟู้ดอินโนโพลิส ณ ปัจจุบัน ถูกกระชับบทบาทในการทำหน้าที่ connect the dot เป็นตัวกลางบูรณาการองค์ความรู้ งานวิจัย นักวิจัย
เครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ออกแบบและพัฒนาให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มกลางในการให้บริการผู้ประกอบการด้านอาหารแบบวันสต็อปเซอร์วิสในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์การบริโภคที่หลากหลาย รวมถึงต่อยอดเครือข่ายนวัตกรรมด้านอาหาร (FI Network) ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ
ฟู้ดอินโนโพลิส ในวันที่ภูมิทัศน์ด้านอาหารเปลี่ยน
ทุกวันนี้ “มนุษย์” ซึ่งเป็นตัวแปรหลักของธุรกิจอาหาร มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปด้วยเงื่อนไขของกาลเวลา สภาพแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจ วิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น สงคราม โรคระบาด เกิดความต้องการอาหารสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เฉพาะโรคมากขึ้น ธุรกิจอาหารจึงต้องเปลี่ยนตาม รวมถึงยังมีประเด็นของความมั่นคงยั่งยืนทางอาหาร ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาติ เพื่อให้การผลิตอาหารเพียงพอต่อมนุษย์ทุกวัย ทั่วโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ท่ามกลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มิติที่ฟู้ดอินโนโพลิสจะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้แช่งขันได้ คือ การเติมเต็มปัจจัยด้านความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) การจัดการของเสีย (Waste Management) และการจัดการสีเขียว (Green)
ให้เกิดขึ้นภายใต้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีหากต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความได้เปรียบทางการแข่งขัน ไม่เช่นนั้นไทยจะกลายเป็นเพียงประเทศผู้ผลิตอาหารแบบเดิม ๆ และล้าหลังไปในที่สุด
เมื่อดูตัวเลของค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารไทยซึ่งมีจำนวนเกินหลักล้านแห่ง พบว่าเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 95-98% ที่เหลือราว 5% เป็นบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ ส่วนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพยังมีน้อยมาก ส่วนในแง่มูลค่าธุรกิจ อุตสาหกรรมอาหารติดอันดับท็อป 5 ของมูลค่าการส่งออกของไทย แต่อยู่ในอันดับที่ 12 ของการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารของโลก
ดังนั้น หากต้องการไต่อันดับให้สูงขึ้น ต้องส่งออกในมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง การจำหน่ายข้าวชั่งน้ำหนักเป็นตันตามวิถีเดิม เพิ่มเติมด้วยการจำหน่ายข้าวแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า การเร่งพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต
เช่น อาหารฟังก์ชันที่เพิ่มองค์ประกอบด้านโภชนาการมากกว่าอาหารทั่วไป อาหารที่มีมูลค่าสูง อาหารทางเลือก เช่น อาหารโปรตีนที่ทำจากพืช อาหารออร์แกนิก อาหารสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอีต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถเพื่อสร้างรายได้เพิ่มจากกลุ่มอาหารอนาคตเหล่านี้ โดยรัฐให้การสนับสนุน
“นี่คือเหตุผลว่า ทำไมไทยต้องหันมาให้ความสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีกลิ่นรส (Flavor) การพัฒนาส่วนประกอบของอาหาร (Food Ingredient) การพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ด้านอาหาร เพื่อไปตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โลกที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น มีความต้องการอาหารที่หลากหลายและปลอดภัย การพัฒนากระบวนการแปรรูปอาหารไม่ให้เกิดของเสียเหลือทิ้ง หรือสามารถหมุนเวียนไปทำประโยชน์อย่างอื่น ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการจำหน่ายวัตถุดิบด้านอาหารอย่างที่ผ่านมา” ดร.เอกอนงค์ กล่าว
เร่งกลไกขับเคลื่อนเอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ
ด้วยเหตุนี้ ฟู้ดอินโนโพลิสได้วางเป้าหมายในการทำงานร่วมกับเครือข่าย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ผ่านแพลตฟอร์มการบริการต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น โครงการที่เกิดจากการทำงานผ่านแพลตฟอร์ม Food Innovation Accelerator ได้แก่
โครงการกลุ่ม “ผัดไทย (Program to accelerate and develop Thai food SME)” เริ่มต้นในปี 2561 เป็นการจัดอบรมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบบเข้มข้น 5 วัน ในการทำ Product Innovation โดยมีเรื่อง Business Innovation มาช่วยปรับมุมมองทางธุรกิจแบบองค์รวม
เช่น การสร้างและพัฒนาโมเดลธุรกิจ (BMC) การพัฒนาและปรับปรุงแบรนด์ การตลาด ระบบซัพพลายเชน ทรัพย์สินทางปัญญา และดูแลกันต่อไปในอีโคซิสเท็ม ปัจจุบัน จัดการอบรมไปแล้ว 11 รุ่น รุ่นละ 15-20 บริษัท และมีบริษัทซึ่งอยู่ในอีโคซิสเท็มและยังทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องรวม 300 แห่ง
โครงการกลุ่ม “FOREFOOD Business Accelerator” แพลตฟอร์มเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจ โดยได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 4 ปี โดยใน 2 ปีแรก เน้นส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) ไอโอที และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ ถัดมาในปีที่ 3 จนถึงปัจจุบัน เน้นการพัฒนาเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีด้านอาหารเพียงอย่างเดียว โดบจัดอบรมปีละ 1 รุ่น รุ่นละ 12-15 บริษัท มีกิจกรรมบูตแคมป์ 3 ครั้ง ใช้ระยะเวลาอบรม 6-7 เดือน
ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนักวิจัยที่อยากเติบโตในสายธุรกิจและสตาร์ตอัพด้านฟู้ดเทค จำนวนครึ่งต่อครึ่ง การคัดเลือกพิจารณาจากความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technology Readiness Level-TRL) ที่ระดับ 5 หมายถึง มีต้นแบบแต่ยังไม่ได้ทดสอบตลาด
ซึ่งตลอดการดำเนินโครงการที่ผ่านมา สามารถยกระดับความพร้อมของผู้เข้าร่วมโครงการขึ้นไปได้อีก 2-3 ระดับ เช่น จากระดับ 5 สู่ระดับ 7 คือ เริ่มคุยกับลูกค้า ทดสอบต้นแบบ นำผลิตภัณฑ์ออกภาคสนามให้เกิดการทดลองใช้จริง หรือหากพัฒนาได้ถึงระดับ 9 คือ นำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด สู่ผู้ใช้งานจริง หรือขยายตลาดได้มากขึ้น เป็นต้น
“เราเป็น Accelerator รายเดียวใน 11 ราย ที่ได้ทุน บพข. แล้วตั้งธงให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถออกไปจัดตั้งบริษัทได้เมื่อจบการอบรม Accelerator อื่นโดยส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นด้าน Technology Accelerator ขณะที่เราเน้นด้าน Business Accelerator ที่มีความเชี่ยวชาญหลัก คือ คอร์เทค”
ส่วนการสนับสนุน ได้แก่ การทำแผนธุรกิจ การคิดโมเดลธุรกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การประเมินความสามารถของคอร์เทค ซีรีส์ของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากคอร์เทคนั้น ๆ การออกแบบซัพพลายเชน การจัดตั้งทีมงาน การบริหารจัดการการเงินและกระแสเงินสด การระดมทุน การตรวจสอบด้านกฎหมาย การเชื่อมโยงเข้ากับอีโคซิสเท็ม การพบปะหน่วยงานที่จะมาช่วยเรื่องการผลิต การวิจัยและพัฒนา การจัดงานประชุม โรดโชว์ไปที่ต่าง ๆ จนจบที่งาน Demo Day เพื่อให้มีโอกาสพบปะนักลงทุนและเสนอไอเดีย
“โครงการผัดไทยเน้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ส่วนผู้ร่วมโครงการ FOREFOOD เป็นกลุ่มนักวิจัย สตาร์ตอัพด้านฟู้ดเทค ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร หรือมีเทคโนโลยีหลักที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เคยมีความพยายามนำกลุ่มเอสเอ็มอีเข้ามาในโครงการ FOREFOOD แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสตาร์ตอัพกับเอสเอ็มอีมีวิถีการเติบโตทางธุรกิจที่แตกต่างกัน สตาร์ตอัพโตด้วยเงินลงทุนของคนอื่น แต่เอสเอ็มอีโตด้วยเงินของตัวเอง จึงมีความเป็นเจ้าของและมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน”
สุดท้าย คือ โครงการกลุ่ม “Innovation Driven Enterprise (IDE)” ที่ได้ทุนสนับสนุนจาก บพข. ในการทำงานกับ IDE หมายถึง องค์กรธุรกิจที่มีรายได้ 100 ล้านบาทขึ้นไปตามนิยามของ บพข. รวมถึงสตาร์ตอัพอีก 2 ราย ที่แม้รายได้ไม่เข้านิยาม IDE แต่ระดมทุนได้แล้ว และมีมูลค่ากิจการสูงถึง 100 ล้านบาท
เป้าหมาย คือ ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น 20% จากฐานรายได้เดิมเมื่อเข้าโครงการภายใน 3 ปี เป็นการทำงานกับเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการขนาดกลางที่แข็งแรงมาก ๆ ในเรื่อง Business Innovation เพื่อช่วยปรับในเรื่องแบรนด์ การปรับปรุงพอร์ตด้านการเงินในแต่ละราย อย่างไรก็ตาม การทำให้รายได้โต 20% อาจต้องขยายไปตลาดตางประเทศ จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องในการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถดำเนินการได้เพียงกลุ่มละ 5-6 ราย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยสะดวกทั้งด้าน Food Maker Space พื้นที่ในการนำไอเดียมาทดลองปฏิบัติจริง Future Food Lab บริการห้องปฏิบัติการสำหรับอาหารแห่งอนาคต และ Pilot Plant บริการโรงงานต้นแบบในการทดลองผลิต ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ขายได้มากขึ้น หรือถูกปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยจะถูกมองเห็นมากขึ้น (Visibility) ผู้ประกอบการเข้าถึงการใช้บริการได้มากขึ้น (Accessibility) รวมถึงเกิดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง (Connectivity)
“นอกเหนือจากการทำงานเป็นแพลตฟอร์ม และการบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งในและต่างประเทศแล้ว เรายังต้องการเป็นพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม (Professional RDI Partner) ที่พร้อมให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย”
ปักธงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านธุรกิจอาหาร
“หน่วยงานของเราได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่สามารถ Connect the dot ได้เพียง 150 ราย บางรายต้องคัดออกเพราะไม่ตรงกับพื้นที่เป้าหมายที่ดูแล แต่จะดำเนินการส่งต่อไปแครือข่ายหรือหน่วยงานสนับสนุนอื่น”
ดร.เอกอนงค์ กล่าวว่า ฟู้ดอินโนโพลิสยังเดินหน้าการทำงานในรูปแบบวันสต็อปเซอร์วิสให้ลึกขึ้น การขยายบริการวันสต็อปเซอร์วิสสู่เครือข่าย FI Network เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยผลักดันผู้ประกอบการในการทำ Product Innovation ให้มากขึ้น ยกตัวอย่างโครงการเมล็ดบัว ที่ได้เข้าไปส่วนร่วมกับเครือข่าย เพื่อช่วยผู้ประกอบการพัฒนาโครงการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ร่วมแนะนำแผนการขายและการตลาด เป็นต้น
การให้ความสำคัญกับพื้นที่พิเศษ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง การพัฒนาเทคโนโลยีกลิ่นรส การพัฒนาส่วนประกอบของอาหารฟังก์ชัน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย และปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการนำงานวิจัยด้านเกษตรและอาหารของมหาวิทยาลัยออกสู่ตลาดให้มากยิ่งกว่าเดิม
นอกจากนี้ ฟู้ดอินโนโพลิสยังเลือกให้ความสำคัญกับการแปรรูปอาหาร (Food Processing) ปัจจัยด้านผลผลิตที่จำเป็นสำคัญต่อภาพรวมของระบบอาหารทั้งหมด แม้ว่าผู้ประกอบการที่ทำงานด้วยจะยังติดกรอบอยู่เฉพาะการผลิตอาหารสำเร็จรูป ขณะเดียวกัน ต้องพยายามผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัพด้านฟู้ดเทค (Food Tech Startups) ในการพัฒนานวัตกรรมและวิธิการใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนระบบอาหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ตอนที่ได้ทุน บพข. มา เราวางตำแหน่งให้ชัดว่า ฟู้ดอินโนโพลิสเป็นที่เดียวที่ทำเรื่องอาหาร และเมื่อมาที่นี่ เป้าหมายปลายทาง คือ ต้องได้ธุรกิจ ต้องตั้งบริษัทได้ ไม่ใช่จบแบบเป็น Project-based แล้วหายไป เราแจ้งกับมหาวิทยาลัยในอีโคซิสเท็มที่ทำ Incubation หรือ Acceleration ว่า หากเป็นเรื่องของอาหารให้ส่งมาที่นี่ เพราะเราเชื่อว่า เรามีความถนัดมากกว่า โดยเฉพาะการติดต่อกับต่างประเทศ องค์กรธุรกิจ นักลงทุน หรือบุคคลอื่นในอีโคซิสเท็ม”
ก้าวข้ามข้อจำกัด ปั้นอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ทันกระแสโลก
ปัจจุบัน ฟู้ดอินโนโพลิสมีมหาวิทยาลัยภายใต้เครือข่าย FI Network รวม 18 แห่ง มีแพลตฟอร์มบริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส 10 แพลตฟอร์ม ให้บริการผู้ประกอบการได้ 150-180 รายต่อปี และมีลูกค้าผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นเฉลี่ย 20-30%
การดำเนินงานได้รับเงินสนับสนุนจากแผนงบประมาณประจำปี แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ งบประมาณประจำปีจากแผนบูรณาการอุตสาหกรรมอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านลงมาที่ต้นสังกัด คือ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติงาน การให้บริการในแต่ละแพลตฟอร์ม และกิจกรรมส่งเสริมด้านต่าง ๆ เช่น การจัดสัมมนาออนไลน์ จัดเวิร์กชอป เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ ให้คำปรึกษาเฉพาะเรื่องในเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น
ส่วนที่สอง เป็นงบจาก บพข. เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาบุคลากรและความเชี่ยวชาญด้านกลิ่นรส (Flavor Academy) รวม 30-40 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี และได้รับงบต่อเนื่องอีกกว่า 20 ล้าน ในการขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 2 ปี ส่วนโครงการ FOREFOOD และโครงการ IDE ได้งบสนับสนุนโครงการละ 10 ล้านบาทต่อปี
ดร.เอกอนงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าได้เข้าไปอยู่ในเรดาห์ของอาเซียน เป็นประเทศซึ่งหน่วยงาน Food Innovation Hub ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือองค์กรธุรกิจอย่างเนสท์เล่ให้ความสนใจ แต่ในเชิงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการ ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ เพราะปัจจัยความสำเร็จที่ประเทศอื่นมีแต่ไทยไม่มี เรื่องแรก คือ นโยบายรัฐบาล และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ มาบริหารกลไกทางนโยบาย เรื่องที่สอง คือ งบประมาณที่ไม่เพียงพอ
“เคยพูดเล่น ๆ กับทีมงานว่า ตอนขึ้นรูปฟู้ดอินโนโพลิส เราเหมือนปลาที่ว่ายในน่านน้ำเปิด แต่ทุกวันนี้เราเหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในตู้ ถึงกระนั้น ตัวโครงสร้างของแบรนด์ แบรนด์ดีเอ็นเอของฟู้ดอินโนโพลิสไม่ได้หายไปไหน ยังคงฝังอยู่ในตัวทีมงาน ที่ถึงแม้จะมีคนทำงานอยู่เพียง 15 คน แต่การเปลี่ยนงานก็น้อยเช่นกัน”
แม้ว่าภาพของฟู้ดอินโนโพลิสจะไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจในตอนเริ่มต้น แต่ดร.เอกอนงค์และทีมงานยังคงทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานที่เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยไม่จำเป็นต้องคิดสร้างใหม่ทั้งหมด
หากเป็นการสร้างใหม่บางสิ่ง เพิ่มเติมบางอย่างที่ขาดหายไปให้ครบถ้วน ปรับลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และอุดช่องโหว่ให้หมดจดด้วยการนำงานวิจัย บุคลากรวิจัย สิ่งอำนวยความสะดวกจากมหาวิทยาลัยที่เคยเข้าไม่ถึงหรือถูกเก็บซ่อน นำออกมาส่งให้ถึงมือผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้แข็งแกร่ง สามารถทัดเทียมและเท่าทันความเป็นไปของอุตสาหกรรมอาหารโลกให้ดีที่สุด
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย