2 ส.ค. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ลาจากไป เพราะขยะพลาสติก

นี่คืออีกหนึ่งบทเรียนที่เกิดขึ้นจากปัญหาขยะพลาสติก
เมื่อพบว่ามี ‘ลา’ หลายชีวิต บนเกาะลามู ประเทศเคนยา กำลังทยอยลาจากโลกนี้ไปด้วยการกินขยะพลาสติก
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิถีการเลี้ยงลาของคนบนเกาะที่ปล่อยให้ลาหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ
เนื่องจากคนเลี้ยงลาบนเกาะส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้ดี จึงจำต้องเลี้ยงโดยปล่อยให้สัตว์หาอาหารกินเอง ไม่สามารถซื้อหญ้าอาหารมาป้อนให้กับลาได้
แต่เมื่อพืชหญ้า แหล่งอาหารในธรรมชาติมีน้อย เหตุการณ์ชวนเศร้าจึงบังเกิด เมื่อลากลับเลือกกินขยะแบบต่างๆ เป็นอาหารแทน
ไม่ว่าจะเป็นลังกระดาษ เสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง ตลอดจนพลาสติกแบบต่างๆ
ซึ่งขยะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในกระเพาะอาหารของสัตว์
โดยการศึกษาและรักษาโดย The Donkey Sanctuary พบว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ของลาบนเกาะเจ็บป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษจากการกินขยะพลาสติก ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
ลาบางตัวได้รับยาปลูกถ่าย พบขยะพลาสติกขดเป็นปมยาวกว่า 30 ซม. ออกมาจากการขับถ่าย
โดยในแต่ละเดือนจะมีลาอย่างน้อย 3 ตัว ตายเพราะการกินพลาสติกเข้า และเกิดอาการจุกเสียดอุดตันลำไส้
แต่ในความเป็นจริงอาจมีลาตายมากกว่า 3 ตัว เพราะผู้เลี้ยงไม่รู้ และไม่ได้ส่งไปรักษา
หรือแม้แต่การส่งตัวลาไปรักษา ส่วนใหญ่ก็พบว่าอยู่ในสถานะที่ช่วยเหลืออะไรไม่ได้แล้ว
ความเจ็บปวดจากการกินขยะพลาสติกเข้าไป ถูกแสดงออกให้เห็นผ่านอาการดิ้นทุรนทุรายหายใจลำบาก หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
นอกจากลาแล้วในเกาะลามู ยังพบว่าปัญหานี้ยังผลกระทบต่อคนวัวที่เลี้ยงไว้อีกด้วย
เพียงแต่ปัจจุบันยังไม่พบผลกระทบรุนแรงในวัวมากเท่ากับลา
แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เตือนว่าไม่ควรประมาทกับปัญหานี้
โดยเฉพาะผลกระทบที่ส่งผลมาถึงคน
เนื่องจากมีการศึกษาที่ยืนยันได้ว่า พลาสติกที่สัตว์กินเข้าไปนั้น สามารถกลายเป็นไมโครพลาสติกปนปื้อนได้เนื้อและนมได้
ในเนื้ออาจเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ในนมการันตีว่าเจอแน่ๆ
และเมื่อมนุษย์ทานเข้าไป เราก็จะเป็นผู้รับมลพิษจากพลาสติกไว้เสียเอง
รวมถึงนี่อาจกลายเป็นการทำลายวัฒนธรรมบนเกาะ เพราะผู้คนบนเกาะลามูอาศัยใช้ลาเป็นพาหนะในการเดินทางต่างรถยนต์ รวมถึงยังใช้ในการขนส่งสินค้าเครื่องใช้ภายในเมือง
วัฒนธรรมนี้ดำเนินสืบต่อเรื่อยมากว่า 700 ปี จากพ่อส่งต่อทรัพย์สมบัติที่เรียกว่าลาสู่คนรุ่นลูก เป็นมรดกตกทอดเช่นนี้มาช้านาน ก็คงสิ้นสูญไปในอนาคต
ตามข้อมูลมีลาอาศัยอยู่บนเกาะนี้ราวๆ 3,000 ตัว
แต่จากนี้ หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จำนวนลาบนเกาะคงลดลงเรื่อยๆ
การศึกษาถึงปัญหาทั้งลาและวัวกินขยะพลาสติกนั้นถูกพูดถึงเป็นข่าวใหญ่มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2023
และนักวิจัยเรื่องปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกับการกินอาหารของสัตว์ในพื้นที่เกาะลามูก็เคยออกมาเตือนถึงอันตรายนี้ไปแล้ว
แต่ด้วยบทบาทของนักวิจัย ก็ทำได้เพียงศึกษาวิจัยและเผยแพร่เรื่องราวออกมาเท่านั้น
ครั้นจะลงไปจัดการต้นตอของปัญหาก็ทำได้ยาก เพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ ไม่ได้เป็นนักรณรงค์ ตลอดจนไม่มีทุนรอนสำหรับส่วนงานด้านนั้น
สิ่งที่พูดได้ ก็พูดไปแล้ว กระตุ้นเตือนไปแล้ว ส่งต่อรายละเอียดต้นตอปัญหาต่างๆ ไปแล้ว แต่การลงมือทำ เพื่อจัดการกับปัญหายังไม่ถูกขยับมากพอ
ในส่วนของประชาชนก็มีความตื่นตัวไปในทางที่ดี ช่วยเหลือในเรื่องการจัดการขยะด้วยดี แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตลอด เพราะต่างคนต่างก็มีภาระหน้าที่งานประจำของตัวเอง
การช่วยเหลือเรื่องการเก็บขยะ หรือนำขยะจากหลุมฝังกลบไปรีไซเคิล ทำลายจึงเป็นได้แค่งานอาสาสมัคร ทำได้ชั่วครั้งชั่วคราวไป
ไม่นับว่ายังมีประชาชนอีกไม่น้อย ที่ไม่ได้สนใจปัญหานี้ ยังคงทิ้งขยะเรี่ยราด ไม่จัดการให้ดี จนกลายเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างลาหรือวัวไปโดยปริยาย
แต่ก็น่าสนใจว่า ปัญหาการตายเพราะขยะพลาสติกเพิ่งมารุนแรงในทศวรรษนี้ มันเกิดขึ้นเพราะอะไร
ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปจะพบว่า เพราะอาหารมีน้อยลง ลาจึงมีตัวเลือกในการยังชีพไม่มาก
ประเด็นนี้ที่ยังไม่ถูกกล่าวถึง และไม่ได้รับการศึกาาในเชิงความสัมพันธ์ที่อาจมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์เป็นผู้ก่อเข้ามาซ้อนทับอีกอย่าง
แม้ยังมีการศึกษาว่าทำไมพืชอาหารของลาจึงน้อยลง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า ภัยแล้งในเคนยา อาจเป็นหนึ่งสิ่งเร่งเร้าของปัญหานี้
ในการศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย พบว่า เกาะลามู เป็นอีกสถานที่ที่เผชิญกับวิกฤตภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมลดลง เพราะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ก็อาจเป็นหนึ่งความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของเรื่องนี้ ที่ทางแก้อาจต้องมีมากกว่าหนึ่งอย่าง
แค่จัดการกับปัญหาขยะพลาสติกคงยังไม่พอ
อาจต้องมองถึงปัญหาอื่นๆ พ่วงรวมไปด้วย
นอกจากเรื่องราวของลาในเคนยาแล้ว ปัญหาขยะพลาสติกที่พรากชีวิตสัตว์เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายเหตุการณ์
ย้อนอ่านเรื่องราว พลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอื่นๆ ได้จากเรื่องราวต่อไปนี้
พลาสติกในอึแรด อีกหนึ่งภัยคุกคามแรดในเนปาล : https://shorturl.asia/GY8ls
ปัญหาขยะพลาสติก คุกคามชีวิตช้างในประเทศศรีลังกา : https://shorturl.asia/3mHXU
ระบบนิเวศอันผิดเพี้ยน ปูเสฉวนใช้ขยะพลาสติกเป็นบ้านแทนเปลือกหอย : https://shorturl.asia/S5WFd
เต่ากับพลาสติก ไม่ใช่ของคู่กัน : https://shorturl.asia/ElCId
พบพลาสติกในปลากว่า 200 ชนิดที่มนุษย์นำมาประกอบอาหาร https://shorturl.asia/wf10Z
อ้างอิง
Plastic free July: Vet warns of fatal harm to donkeys caused by plastic pollution https://shorturl.asia/jWkZM
Investigation launched into impact of plastic pollution on livestock and working animals https://shorturl.asia/5HwgD
Exploring the Nexus between Climate Hazards and Conflict in Lamu County: Implications for Community Adaptation Action Plans https://shorturl.asia/tVBl8
โฆษณา