Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหตุอย่างไร ผลอย่างนั้น
•
ติดตาม
3 ส.ค. 2024 เวลา 04:15 • กีฬา
ประเทศไทย
“ฉันรู้ว่าการเข้าร่วมโอลิมปิกของฉันมันอื้อฉาว”
ลอเรล ฮับบาร์ด (Laurel Hubbard) นักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศชาวนิวซีแลนด์ ผู้นี้ลงแข่งยกน้ำหนักหญิงโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ (+1) รุ่นน้ำหนักตัว 87 กก.ขึ้นไป เธอไม่สามารถผ่านท่าสแนตช์ ทำให้อดเข้าไปชิงเหรียญรางวัล และตกรอบไปก่อนใครเพื่อน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความน่าสนใจในตัวเธอลดลง เพราะเธอถูกยกให้เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับกีฬาโอลิมปิก
ลอเรล ฮับบาร์ด คือสตรีข้ามเพศคนแรกที่ได้ลงแข่งโอลิมปิกในกีฬาประเภทเดี่ยว ส่วนนักกีฬาข้ามเพศแบบเปิดเผยคนแรกที่ได้ลงสนามโอลิมปิกตัวจริง คือ ควินน์ (Quinn) นักฟุตบอลหญิงทีมชาติแคนาดาใน ‘โตเกียว 2020’ ผู้ใช้ชื่อ - นามสกุลรวมกันเป็นคำเดียว และประกาศเป็น non-binary หรือผู้ปฏิเสธความเชื่อว่าโลกนี้มีแค่ 2 เพศเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ ลอเรล ฮับบาร์ด ได้รับการจับตาจากสื่อมากกว่าควินน์ อาจเป็นเพราะกีฬาที่เธอเล่นนอกจากจะเป็นประเภทเดี่ยว มันยังเป็นกีฬาที่เน้นใช้พละกำลังร่างกายเพื่อเอาชนะกัน ดังนั้น การเป็นเพศชายมาก่อน จึงเป็นประเด็นอ่อนไหว และทำให้เกิดคำถามว่า มันเป็นกติกาที่ยุติธรรมหรือไม่?
ความจริงแล้วคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) องค์กรกำกับดูแลกีฬาโอลิมปิก เปิดโอกาสให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2004 แต่ยังไม่มีนักกีฬากลุ่มนี้คนใดได้เข้าร่วมอย่างเปิดเผยจนกระทั่ง ลอเรล ฮับบาร์ด ได้ลงแข่งใน ‘โตเกียว 2020’
ลอเรล หรือชื่อเดิม กาวิน (Gavin) ฮับบาร์ด เกิดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1978 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ พ่อของเธอเป็นถึงอดีตนายกเทศมนตรีนครโอ๊คแลนด์ และผู้ก่อตั้ง Hubbard Foods เจ้าของแบรนด์ซีเรียลชื่อดังของดินแดนที่ใช้ถ่ายทำหนัง ‘ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์’
ฮับบาร์ดเริ่มเข้าสู่วงการยกน้ำหนักตั้งแต่เด็กเพราะหวังว่ากีฬาชนิดนี้จะทำให้มีความเป็นชายชาตรีมากขึ้น ด้วยความทุ่มเทและเอาจริงเอาจัง เธอสามารถทำผลงานได้ดีถึงขั้นคว้าแชมป์เยาวชนชายระดับชาติในปี 1998 พร้อมทำลายสถิติของประเทศ สามารถยกน้ำหนักรวมได้ถึง 300 กก.
หนุ่มน้อยฮับบาร์ดกลายเป็นนักยกน้ำหนักดาวรุ่งพุ่งแรงจนแฟนกีฬาชาวนิวซีแลนด์ต้องจับตา ทว่าในปี 2001 ขณะอายุเข้าสู่วัย 23 ปี จู่ ๆ เธอก็หมดไฟตัดสินใจเลิกเล่นกีฬาชนิดนี้ และหายหน้าไปจากวงการนานถึง 11 ปี
ฮับบาร์ดหวนกลับสู่เวทีแข่งขันอีกครั้งในปี 2012 พร้อมข่าวเซอร์ไพร์สแฟน ๆ ด้วยการประกาศว่าผ่าตัดแปลงเพศแล้ว และเลือกกลับลงแข่งในนามจอมพลังสาวภายใต้ชื่อใหม่ว่า ลอเรล
การหวนกลับสู่วงการยกน้ำหนักบนเส้นทางใหม่ในฐานะจอมพลังสาวถือว่าทำได้ดี ลอเรล ฮับบาร์ดคว้าเหรียญทองรายการนานาชาติได้ 7 รายการ ก่อนประสบปัญหาบาดเจ็บที่ข้อศอก ทำให้ชวดลงแข่งกีฬาเครือจักรภพปี 2018 แต่ก็หายทันลงแข่งขันแปซิฟิกเกมส์ปี 2019 และคว้าเหรียญทองรายการดังกล่าว ก่อนจบอันดับ 6 ในศึกชิงแชมป์โลก และได้ไปแข่งขันโอลิมปิกเป็นครั้งแรก
คณะกรรมการโอลิมปิกนิวซีแลนด์ กล่าวถึงการส่งฮับบาร์ดไปร่วมแข่ง ‘โตเกียว 2020’ แม้วัยจะล่วงเลยไปถึง 43 ปี และเป็นนักยกน้ำหนักอายุมากที่สุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์โอลิมปิก โดยให้เหตุผลว่า ฮับบาร์ด คือ แบบอย่างของนักกีฬาที่ดี เธอเป็นผู้กล้าเปิดประเด็นว่าด้วยเรื่องความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (inclusion) เป็นหนึ่งในหลักการที่ไอโอซียึดมั่นมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจัดการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ โดยโอลิมปิกครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ในปี 1896 แม้ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง บิดาผู้ก่อตั้งโอลิมปิกยุคใหม่ ยังคงอนุญาตให้เฉพาะนักกีฬาชายเท่านั้นที่เข้าร่วมการแข่งขันได้
แต่อีก 4 ปีต่อมาใน ‘ปารีส 1900’ ไอโอซีเริ่มตระหนักถึงบทบาทของสตรี และอนุญาตให้มีผู้หญิงลงแข่งขันเป็นครั้งแรก ถึงแม้ปีนั้นนักกีฬาหญิงที่เข้าร่วมจะมีเพียง 22 คนจากนักกีฬาทั้งหมด 997 คน โดยกระจายอยู่ใน 5 ชนิดกีฬา คือ เทนนิส เรือใบ โครเกต์ (กีฬาโบราณคล้ายกอล์ฟ) ขี่ม้า และกอล์ฟ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไอโอซียังคงเดินหน้าส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ จนกระทั่ง ‘โตเกียว 2020’ สัดส่วนของนักกีฬาหญิงมีจำนวนมากที่สุดจนเกือบเทียบเท่านักกีฬาชาย โดยนักกีฬาที่เข้าร่วมทั้งหมดเกือบ 11,000 คน คิดเป็นนักกีฬาหญิงเกือบ 49% เพิ่มขึ้นจาก ริโอ 2016 ซึ่งมีผู้หญิงเข้าร่วมเพียง 45.6%
ส่วนการเปิดโอกาสให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งขันโอลิมปิก แม้เพิ่งประสบความสำเร็จใน ‘โตเกียว 2020’ แต่ก่อนหน้านั้น ไอโอซีก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อกระตุ้นให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งขันมาตลอด โดยในปี 2015 ไอโอซีอนุญาตให้นักกีฬาที่เปลี่ยนสถานะจากชายเป็นหญิง สามารถลงแข่งกีฬาประเภทหญิงได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแปลงเพศ ขอแค่ประกาศเป็นหญิงอย่างเปิดเผยมาอย่างน้อย 4 ปี และมีฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสโทสเตอโรนต่ำกว่าระดับ 10 นาโนโมล/ลิตร เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือน
นอกจากนี้ ไอโอซียังเปิดโอกาสให้สหพันธ์กีฬาต่าง ๆ สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ของตนเองในการอนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งประเภทเดี่ยว โดยสหพันธ์กรีฑาโลกกำหนดมาตรฐานของเทสโทสเตอโรนของนักกีฬากลุ่มนี้ไว้ที่ระดับไม่เกิน 5 นาโนโมล/ลิตร เช่นเดียวกับสหพันธ์ยกน้ำหนักที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน
จากข้อมูลขององค์การสาธารณสุขอังกฤษระบุว่า ปกติผู้ชายจะมีระดับเทสโทสเตอโรนระหว่าง 10 - 30 นาโนโมล/ลิตร โดยแต่ละคนจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงอายุและช่วงเวลาของวัน ส่วนระดับเทสโทสเตอโรนของผู้หญิงจะอยู่แค่ 0.7 - 2.8 ดังนั้น นักกีฬาข้ามเพศที่ต้องการลงแข่งประเภทหญิง จึงต้องใช้ยาลดฮอร์โมนเพื่อกดระดับเทสโทสเตอโรนในร่างกายให้ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด
ส่วนนักกีฬาชายข้ามเพศที่เคยเป็นหญิงมาก่อนไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก เพราะร่างกายและสรีระเดิมที่ติดตัวมา ไม่น่าจะเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้นักกีฬาชายโดยกำเนิดทั่วไปรู้สึกวิตกกังวล
ความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม แม้ไอโอซีจะมีหลักเกณฑ์การวัดระดับฮอร์โมนเพศชายเพื่อคุมข้อได้เปรียบของนักกีฬาข้ามเพศที่เคยเป็นชายและมาลงแข่งในประเภทหญิงอย่างในรายของฮับบาร์ด แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้เสียงวิจารณ์เรื่องความเหมาะสม และความยุติธรรมเงียบลง
“ทำไมเราไม่จัดการแข่งขันให้คนกลุ่มนี้แยกไปเลยล่ะ” ซิฟา เตาโมเอโป เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกตองก้า เสนอทางออกให้กับนักกีฬาข้ามเพศ
“ปัญหาก็คือ มันมีความไม่เท่าเทียมกันเมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเริ่มทำงาน เบื้องต้นก็คือการสร้างคุณลักษณะของเพศชาย ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดในช่วงเข้าสู่วัยรุ่นวัยหนุ่มสาว” รอส ทัคเกอร์ ศาสตราจารย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และผู้จัดพอดแคสต์ Science of Sport กล่าวกับบีบีซี โดยยกผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า นักกีฬาข้ามเพศอย่างฮับบาร์ด มีความได้เปรียบนักกีฬาหญิงโดยกำเนิดทั่วไปจริง
“เรากำลังพูดถึงเรื่องกล้ามเนื้อ กระดูก ไขมันในร่างกายที่ลดลง และขนาดของปอดและหัวใจที่ใหญ่ขึ้น ทั้งหมดนี้มีผลต่อการเพิ่มข้อได้เปรียบด้านความแข็งแรงและสมรรถภาพร่างกาย
“ทันทีที่ร่างกายได้รับผลกระทบจากเทสโทสเตอโรน คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการแค่ลดระดับเทสโทสเตอโรนลง
“เรายังมีผลการศึกษาที่ยืนยันเรื่องนี้และสรุปว่า แม้จะมีการกดเทสโทสเตอโรนให้ลดลงตามกติกา แต่ข้อได้เปรียบตกค้างที่ยังเหลืออยู่อย่างมีนัยสำคัญ มันทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการข้ามเพศมาแข่งกีฬาประเภทหญิง”
ข้อถกเถียงนี้ดูเหมือนจะเป็นที่รับทราบของไอโอซี โดยไอโอซีเปิดเผยว่า หลังจบ ‘โตเกียว 2020’ จะมีการประเมินหลักเกณฑ์เรื่องนักกีฬาข้ามเพศอีกครั้งเพื่อพยายามหาจุดสมดุลระหว่าง 2 หลักการสำคัญของโอลิมปิก นั่นคือ หลักการว่าด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และการให้ความยุติธรรม (fairness) อย่างเท่าเทียมกัน
“ฉันขอชื่นชมไอโอซีที่ยึดมั่นในการทำให้เกมกีฬาสามารถเข้าถึงได้ และหลอมรวมทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ... “ฉันคิดว่าสหพันธ์ยกน้ำหนักโลกก็เช่นกันที่แสดงให้เห็นว่า กีฬายกน้ำหนักเป็นกิจกรรมที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้”
ลอเรล ฮับบาร์ด กล่าวขอบคุณผู้เกี่ยวข้องเพียงสั้น ๆ หลังเดินออกจากการแข่งขันโอลิมปิกโดยไม่มีเหรียญรางวัลติดมือและเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายในชีวิตของนักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศวัย 43 ปี ผู้เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้โอลิมปิก โดยเป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ทำการลงแข่งขันโอลิมปิกในกีฬาประเภทเดี่ยว
🌿 🌿 ขอบคุณ เนื้อหาข้อมูล : The People
https://www.thepeople.co/read/sports/36422
🙏🙏🙏 👉🏻👉🏻👉🏻 ฝากติดตามสื่อโซเชียลกัลยาณมิตร ที่นำเสนอเรื่องราวแรงบันดาลใจ ให้ข้อคิดดีดีในแง่มุมต่างๆ กดถูกใจเพจและกดติดตามเป็นกำลังใจให้เราได้ที่ Facebook :
https://www.facebook.com/Makessense88
blockdit :
www.blockdit.com/pages/620b43c279667e1439b8cef4
🙏❤🤟😘😘😘 “Grateful for your support” ขอบคุณครับ 😘😘😘
ความรู้รอบตัว
ประวัติศาสตร์
ข้อคิด
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย